วันฮาโลวีน 2566 ตรงกับวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2566 ถือเป็นช่วงเทศกาลที่เรามักเห็นการตกแต่งสถานที่ต่างๆ ด้วยบรรยากาศหลอนๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวเป็นภูตผี วางฟักทองแกะสลักหน้าผีไว้ตามจุดต่างๆ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับเทศกาลวันฮาโลวัน พร้อมประวัติความเป็นมา ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
วันฮาโลวีน คือวันอะไร?
วันฮาโลวีน (Halloween) คือ เทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีในวัฒนธรรมของตะวันตก โดยจะจัดขึ้นก่อนถึงวันสมโภชนักบุญทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก แต่ในปัจจุบันฮาโลวีนกลายเป็นเทศกาลที่นิยมจัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
คำว่า Halloween ในภาษาอังกฤษ มาจากคำ "All Hallows Eves" หมายถึง "วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย" (Hallow แปลว่า ศักดิ์สิทธิ์) โดยในเวลาต่อมา วันฮาโลวีนไม่ได้มีบทบาทแค่เป็นวันที่มีพิธีกรรมเฉลิมฉลองนักบุญเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานที่สร้างสีสันประจำปี
ประวัติวันฮาโลวีน 2566 จุดเริ่มต้นเทศกาลวันปล่อยผี
เชื่อว่าประวัติวันฮาโลวีน เริ่มต้นมาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลท์ (Celt) ชนพื้นเมืองในไอร์แลนด์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อเฉลิมฉลองเทพเจ้าแห่งความตาย (Samhain) โดยก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน ซึ่งตรงกับ วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ชาวเซลท์เชื่อว่าเป็นวันที่วิญญาณของคนตายได้กลับมายังโลกมนุษย์ และวิญญาณภูตผีเหล่านี้จะพยายามสิงร่างของคนที่ยังมีชีวิตอยู่
ชาวเซลท์จึงพยายามทำทุกทางเพื่อป้องกันผีร้าย ไม่ว่าจะเป็นการดับไฟ ไม่ก่อกองเพลิง ทำให้บ้านมืดสนิท เพื่อให้อากาศหนาวเย็น รวมถึงไอเดียในการแต่งตัว และแต่งหน้าปลอมเป็นผีเดินตามท้องถนน สังสรรค์เสียงดัง เพื่อไม่ให้ผีเข้าใกล้ และตกใจกลัวจนหนีไป ทำให้ทุกคืนวันที่ 31 ตุลาคม กลายเป็นธรรมเนียมที่ชาวเซลท์จะแต่งตัวออกมาหลอกผี เพื่อไม่ให้ภูตผีและปิศาจมาทำร้าย ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ และกลายเป็นวันฮาโลวีนเช่นในปัจจุบัน
...
"ตำนานผีฟักทอง" สัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน
ฟักทองที่แกะสลักให้เป็นหน้าผี คือสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีนที่หลายคนคุ้นเคย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากตำนานพื้นบ้านไอร์แลนด์ เรื่องของ "แจ็ค โอแลนเทิร์น" (Jack O'Lanterns) ชายขี้เมาที่ใช้เล่ห์กลหลอกให้ปิศาจอยู่บนต้นไม้ แล้วเขาทำเครื่องหมายกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ปิศาจจึงลงมาไม่ได้
แจ็ค โอแลนเทิร์น ได้โอกาสจึงทำข้อตกลงห้ามไม่ให้ปิศาจมาหลอก หรือนำสิ่งไม่ดีมาสู่ตัวเขา ปิศาจตอบตกลง โดยหลังจากที่แจ็คเสียชีวิต เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์และลงนรก ปิศาจจึงมอบถ่านร้อนๆ ที่กำลังคุไฟให้ เพื่อให้เขาใช้เป็นแสงสว่างและสร้างความอบอุ่นในค่ำคืนที่หนาวเย็น
แจ็คได้เจาะหัวผักกาดให้กลวง และนำถ่านไปใส่ไว้ ต่อมาชาวบ้านได้เลียนแบบด้วยการนำฟักทองมาคว้านไส้ออก เพื่อทำให้กลวงจะได้วางถ่าน หรือจุดไฟภายในผลฟักทองได้ จึงกลายเป็นฟักทองหน้าผีอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการปัดเป่าผี ปิศาจ ความชั่วร้าย ไม่ให้เข้าใกล้ โดยในทุกวันฮาโลวีน จึงนิยมนำฟักทองวางไว้บริเวณหน้าบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมาทำร้ายนั่นเอง
ความสำคัญและกิจกรรมวันฮาโลวีน 2566 มีอะไรบ้าง?
ความสำคัญของวันฮาโลวีน 2566 นอกจากเรื่องความเชื่อต่างๆ ที่เล่าสืบต่อกันมา ยังมีกิจกรรมจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองด้วยการตกแต่งบ้านและสร้างบรรยากาศโดยรอบให้หลอนๆ แกะสลักฟักทองหน้าผีมาประดับตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการแต่งหน้าและแต่งตัวเป็นผี
ส่วนเด็กๆ จะนิยมเล่น Trick-or-Treating ซึ่งหมายถึงการแต่งกายด้วยชุดแฟนตาซีแบบผีๆ เดินออกไปตามท้องถนนเพื่อเคาะประตูบ้านต่างๆ พร้อมถามว่า "Trick-or-Treating" เพื่อให้เลือกว่าจะให้เล่นหลอกผี หรือจะให้ขนมและลูกกวาดนั่นเอง
...
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมวันฮาโลวีนอีกมากมาย เช่น การเล่นบ้านผีสิง การจับกลุ่มกันเล่าเรื่องผี การรับชมหนังผี หรือหนังสยองขวัญเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เข้ากับความหลอนนั่นเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง