หนึ่งในผู้บริหารหนุ่มที่แข็งขันของกรุงเทพมหานคร พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานครคนแรก ที่นำประสบการณ์ในการทำงานองค์กรระดับโลกมาใช้ในการทำงานในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของชุมชนเมืองที่มีปัญหารายล้อม

พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ หรือ “คุณพรหม” มีเส้นทางการทำงานเคยทำงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ทำเรื่องขยะ เรื่องพลังงานทดแทน และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์สอนเรื่องวิชาทางด้านความยั่งยืน ก่อนมาทำงานที่กรุงเทพมหานคร
“ผมมีความสนใจทางด้านการเมืองมานานแล้ว ส่วนที่มาทำงานทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะคิดว่ามันเป็นโจทย์ที่ท้าทายนะครับ ปกติเราเน้นเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง เพราะว่าถ้าเรามีโรงงานมากขึ้น คนรวยขึ้นก็ปล่อยมลพิษมากขึ้น โจทย์ในอนาคต คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโตเหมือนที่เราคาด แต่ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจโตอย่างเดียวแล้วมีมลพิษเยอะ น้ำเสีย อากาศเสีย ก็ทำให้เมืองไม่น่าอยู่ นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เลยอยากจะพยายามมาช่วยแก้ตรงนี้ครับ” ผู้บริหารไฟแรงคนนี้บอกถึงเจตนารมณ์การทำงาน

ด้วยความตั้งใจจริงในการทำงาน คุณพรหม จึงเป็นที่ปรึกษาที่ลุยทำงานเห็นปัญหาจริง โดยเล่าว่า “ผมพยายามลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุดนะครับ อย่างผมดูแลเรื่องขยะ มีเจ้าหน้าที่ พนักงานเก็บขนขยะ พนักงานกวาด เต็มไปหมดเลย คือเราจะออกนโยบายอะไร เราก็ต้องพยายามเข้าใจว่านโยบายที่ออกไปเนี่ย มันกระทบเขาขนาดไหน หรือว่าที่เราทำได้มันเป็นแค่เฉพาะตามทฤษฎี แต่พอทำจริงเขาทำกันไม่ไหว หน้างานทำไม่ได้ จึงพยายามจะลงพื้นที่นะครับ แล้วก็การรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์ครับ แล้วอย่างเราจะปลูกฝังในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามองว่าจะต้องมีการปลูกฝังอย่างไร หรือการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไรดีครับ ซึ่งจากที่ทำงานมา ผมคิดว่าคนกรุงมีความตื่นตัวค่อนข้างมากนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงโซเชียล มีเดีย ก็รู้สึกว่าคนให้ความสำคัญเรื่องนี้เยอะนะครับ”

และจากประสบการณ์การทำงาน คุณพรหม ได้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานเป็นแบบสองขั้ว อันหนึ่งเป็นนานาชาติ อีกอันเป็นท้องถิ่น ซึ่งการทำงานที่องค์กรยูเอ็น และการเป็นนักวิชาการ ทำให้ตนทำงานในการที่แบบลงลึก ทำเป็นข้อมูลในเชิงวิชาการ มีข้อมูลที่มีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่า การทำงานของ กทม. มีความยาก ไม่ใช่อยู่ในเรื่องนโยบายไม่ดี แต่ความยากคือ ทำยังไงให้ถูกเอาไปใช้ เพราะ กทม.มี 50 เขต แต่ละเขตมีปัจจัยต่างกัน

“แนวทางการทำงานหนึ่งที่ ท่านผู้ว่า กทม.ก็ให้เป็นไกด์ ซึ่งผมก็เอามาใช้ในการทำงานก็คือ การทำงานแบบ Tight Loose Tight นะครับ Tight แรกก็คือว่าเราต้องมีโจทย์ที่ชัดเจนว่า เราอยากจะให้เขาทำอะไรเรามีนโยบายแบบนี้ ส่วน Loose ก็คือให้หน่วยงานเขาไปคิดเอาเอง เพราะเขาอยู่ในพื้นที่เขาเข้าใจบริบทของเขา ทำอย่างไรจะทำตามเป้าหมายได้ ส่วน Tight คือการติดตามผล ครับ ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ผมมองว่าเราต้องมีความไว้วางใจจากประชาชน เพราะงานบางอย่างภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องเอาด้วยครับ”...แนวคิดในการทำงานของผู้บริหารคนเก่งคนนี้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่