• Future Perfect
  • Articles
  • “ภูเก็ต” ยกระดับการท่องเที่ยวยั่งยืน เตรียมความพร้อมเจ้าภาพจัดงาน GSTC 2026

“ภูเก็ต” ยกระดับการท่องเที่ยวยั่งยืน เตรียมความพร้อมเจ้าภาพจัดงาน GSTC 2026

Sustainability

ความยั่งยืน28 พ.ย. 2567 07:22 น.

“ภูเก็ต” ยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เตรียมพร้อมประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก GSTC 2026 Global Sustainable Tourism Conference ในเดือน เม.ย.2569 ผลักดันย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี 2573 พร้อมสร้างแบบอย่างด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้ร่วมมือกันจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเห็นว่าแนวโน้มการท่องเที่ยวของโลกเป็นไปในแนวของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะตลาดหลักของภูเก็ต คือ ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปที่ใส่ใจเรื่องนี้มาก ถ้าหากภูเก็ตยังไม่เข้าสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คนรุ่นหลังของภูเก็ตก็จะหากินจากการท่องเที่ยวต่อไปไม่ได้

ทางมูลนิธิจึงเห็นว่าการเป็นสมาชิกของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council : GSTC) ซึ่งเป็นองค์กรให้การรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ของจ.ภูเก็ตและประเทศไทย พร้อมกับมีแนวคิดการเสนอตัวให้ จ.ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมงานระดับโลก Global Sustainable Tourism Conference เพื่อสร้างหมุดหมายสำคัญให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศ ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ภูเก็ตพร้อมเป็นเจ้าภาพ GSTC 2026

“ได้นำแนวคิดนี้ไปหารือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการหรือทีเส็บ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศในการเสนอตัวหรือการประมูลเพื่อแข่งการเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก ทางทีเส็บก็เห็นด้วย และดำเนินการยื่นเอกสารการประมูลเข้าไป และประกาศผลที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนเมื่อเดือน เม.ย.2567 ให้ จ.ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก Global Sustainable Tourism Conference 2026 หรือ GSTC 2026 ในเดือน เม.ย.2569”

นายภูมิกิตติ์กล่าวต่อว่า ทางมูลนิธิมองว่า ทีเส็บเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะทีเส็บมีบทบาทหน้าที่ทำเอกสารการประมูลและมีความเชี่ยวชาญที่จะรู้ว่าองค์กรแบบนี้จะต้องยื่นข้อเสนอแบบไหน และก็ไปร่วมกันประมูลกับทีเส็บในงานนี้ไม่ยากเหมือนตอนชิงการเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โป 2028 เพียงแต่ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อน และต้องเสนอแนวคิดเข้าไป จะเห็นว่าที่ผ่านๆมาที่มีการจัดในหลายประเทศล้วนเป็นหน่วยงานของภาครัฐเข้าไปประมูล มีครั้งนี้ที่เป็นหน่วยงานเอกชนอย่างมูลนิธิที่เข้าไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และได้รับการสนับสนุนที่ดีมากจากทีเส็บ และการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.)

การจัดงาน Global Sustainable Tourism Conference 2026 หรือ GSTC 2026 ที่จะเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.2569 ภายใต้แนวคิด “Regenerative Tourism” เป็นการประชุมและสัมมนาเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวระดับโลกและในท้องถิ่น มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ โรงแรม บริษัททัวร์ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชนและผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายเข้าร่วมงาน จะมีการหารือกันหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ประชาชน ไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนให้ได้

“เมืองเก่าภูเก็ต” ต้นแบบสีเขียว–เที่ยวยั่งยืน

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นความพร้อมของภูเก็ต ทางมูลนิธิได้เตรียมจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวในไทยที่สามารถให้รางวัลตราสัญลักษณ์ Green Hotel Plus ยกระดับโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับ สากล เพื่อผลักดันให้โรงแรมในภูเก็ต 60% ต้องพัฒนาให้ได้รับตราสัญลักษณ์ เพื่อสอดรับกับกฎหมายของสหภาพยุโรป Green claims directive ที่กำหนดให้โรงแรมที่มีความยั่งยืนต้องมีการแสดงตราสัญลักษณ์รับรอง และสอดรับในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ภูเก็ตจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GSTC 2026 พอดี

นอกจากนี้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานาย สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้มาเป็นประธานเปิดตัวโครงการ phuket old town carbon neutrality 2030 ยกระดับย่านเมืองเก่าสู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล พร้อมประกาศสนับสนุนภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการประชุมท่องเที่ยวยั่งยืนโลกในปี 2569

สำหรับโครงการ phuket old town carbon neutrality 2030 มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยมียุวทูตสิ่งแวดล้อม 60 คน เป็นกลุ่มแรกที่จะดูเรื่องการแยกขยะ
จะมีการกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ เมืองเก่าเคลมว่า ขยะอินทรีย์ทั้งหมดจะไม่ออกไปจากเมืองเก่าเลย รวมทั้งมีการพัฒนาระบบขนส่งคาร์บอนต่ำ สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ในพื้นที่เพื่อการปรับลดให้ได้ตามเป้าหมาย

โดยเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่มีการวางแนวทางในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์เพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 โดยได้รวบรวมวิธีดำเนินการให้พื้นที่อื่นนำไปปรับใช้ได้ด้วย

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

SHARE

Follow us

  • |