บันได 5 ขั้น ยกระดับโครงสร้างทะเบียนแรงงานไทย
ไทยรัฐฉบับพิมพ์
14 พ.ค. 2565 06:16 น.
ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องพุ่งสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและค่าครองชีพ แม้ทิศทางการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งภายในและระหว่างประเทศจะเป็นไปในเชิงผ่อนคลายเอื้อให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปตามปกติแล้ว การดำเนินมาตรการในระยะต่อไปจึงไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูแต่ต้องวางรากฐานการพัฒนาด้วย ในวันนี้ขอเชิญทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศในระยะต่อไป คือ โครงสร้างทะเบียนแรงงาน
โครงสร้างทะเบียนแรงงานเอื้อให้ภาครัฐติดตามผลลัพธ์ของการดำเนินมาตรการ ช่วยให้แรงงานเข้าถึงการสนับสนุนที่ตรงจุด ขณะที่ผู้ประกอบการ นายจ้าง สถานศึกษา และผู้ให้บริการพัฒนาทักษะสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลของตลาดแรงงานในการปรับแผนการทำงานให้เหมาะสม โดยการศึกษาของ McKinsey เรื่อง Government Data Management for the Digital Age ระบุว่าคุณสมบัติสำคัญของฐานข้อมูลภาครัฐ คือ ดำเนินการร่วมกันได้ หรือ interoperable และมีความเชื่อมโยง หรือ connected
ตัวอย่างการสร้างฐานข้อมูลที่ดำเนินการร่วมกันได้และมีความเชื่อมโยงกัน ได้แก่ เอสโตเนียที่เป็นประเทศแรกๆในโลกที่ประกาศหลักการ “ครั้งเดียวอยู่” หรือ “once only” โดยผ่านกฎหมายในปี 2000 ห้ามไม่ให้ สร้างฐานข้อมูลแยกกันเพื่อเก็บข้อมูลเดียวกัน ขณะที่เดนมาร์กขับเคลื่อนโครงการ “grunddata” เพื่อเปิดให้ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนภาคธุรกิจและอาคารต่างๆ รวมถึงข้อมูลภูมิประเทศและภูมิศาสตร์เผยแพร่ต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย หรือกรณีของ เนเธอร์แลนด์ ที่รวม 12 ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งระบบ “Stelsel van Basisregistratie” ในปี 2003 ทำให้การเข้าถึงข้อมูลและการยื่นแบบภาษีของประชาชนทำได้ง่ายขึ้นมาก
ไทยสามารถยกระดับโครงสร้างทะเบียนแรงงานให้มีคุณสมบัติดังกล่าว ด้วยบันได 5 ขั้นของ McKinsey ได้แก่ 1.สร้างวิสัยทัศน์ด้านข้อมูลที่ชัดเจนร่วมกัน ผ่านกรณีศึกษาที่ปฏิบัติได้จริง โดยคำนึงถึงเป้าหมายเป็นหลักไม่ใช่หน้าที่ 2.ทำความเข้าใจภูมิทัศน์ข้อมูลทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงเนื้อข้อมูลแบบแยกส่วนตามรายโครงการ หรือหน่วยงานเจ้าภาพ 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางทั้งด้านเทคนิคและธรรมาภิบาล ซึ่งยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้งานและเจ้าของข้อมูล 4.นำผลลัพธ์จากการทำงานในวงจำกัด อาทิ data labs มาใช้ตอบโจทย์จริงภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม 5.จัดตั้งหน่วยงานกลางที่ดำเนินการด้านข้อมูลแบบรวมศูนย์ ซึ่งในไทยกระจายตัวอยู่หลายสังกัดและทำงานแยกส่วน
น่าสังเกตว่าการทำงานด้านข้อมูลของประเทศไทยจะมุ่งเป้าไปที่ประเด็นด้านเทคนิคก่อน ซึ่งแท้จริงแล้วควรเป็นลำดับหลังๆ โดยกระโดดข้ามพื้นฐาน คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน และการเข้าใจภูมิทัศน์ข้อมูลในภาพรวม ทำให้การทำงานด้านข้อมูลของไทยยังขาดกลไกความร่วมมือเท่าที่ควร ในการนี้ โครงสร้างทะเบียนแรงงานไม่เพียงจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานต่อยอดจากการเยียวยาในช่วงโควิด-19 แต่จะเป็นตัวอย่างของการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นตัวเปลี่ยนเกม หรือ game changer ในการเดินหน้าพัฒนาประเทศ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ได้กับแทบทุกวงการ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การท่องเที่ยว สาธารณสุข หรือสิ่งแวดล้อม.