2 เงื่อนไขศาลโลก รับปมพื้นที่พิพาท 4 จุด ไทย-กัมพูชา เกมชิงความชอบธรรมในสายตานานาชาติ “นักวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศ” ประเมินจุดเสี่ยง ถ้าปะทะอีกครั้งอาจเข้าทางกัมพูชา ขอคุ้มครองชั่วคราว ชี้ไทยเซ็นข้อตกลง JBC เป็นผลดีถึงการแก้ปัญหา ไม่ต้องพึ่งศาลโลก

ดร.ภัทรพงษ์ แสงไกร อาจารย์ศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากกัมพูชา ยื่นหนังสือไปยังศาลโลกเพื่อให้พิจารณาปมพิพาท 4 พื้นที่ริมชายแดนระหว่างไทย คาดการณ์ว่า scenario ต่อจากนี้ตามสถานการณ์ที่ศาลโลกจะรับการพิจารณาได้ดังนี้

1.กัมพูชา รุกไทยได้ไม่หนัก โดยกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลกไป ทั้งที่รู้ว่าไทยไม่ได้ให้ความยินยอม เมื่อนายทะเบียนศาลโลกได้รับหนังสือจากกัมพูชา สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ส่งหนังสือดังกล่าวมาให้ไทย ผ่านสถานทูตไทยในเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ศาลทำอะไรไม่ได้ หมายความว่าจะเอาเรื่องลงในสาระบบทางคดีไม่ได้ และไม่มีเลขหมายคดี นั่นหมายความว่าจะไม่เกิดคดีขึ้นในศาลโลก เหมือนกับส่งโปสต์การ์ดให้กับศาลโลก โดยไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก แค่ส่งหนังสือกลับไปยังศาลโลกว่าไม่ยอมรับอำนาจ คาดว่าจะรู้ผลช้าสุด วันที่ 17 มิ.ย.68

...

2.กัมพูชา รุกไทยหนักเชิงกฎหมาย นอกจากจะเชื้อเชิญไทยแล้ว กัมพูชา อาจอ้างว่ามีสนธิสัญญาบางฉบับหรือมีหลักฐานบางอย่าง ที่ไทยผูกพันภายใต้เขตอำนาจศาลโลก และให้ความยินยอมไปแล้ว หรือคล้ายกับคดีที่ตีความว่าท้ายที่สุดแล้วยังมีปัญหาในการตีความคำพิพากษาอยู่ ถ้าเป็นกรณีนี้จะเกินขอบเขตอำนาจการตัดสินใจของนายทะเบียนศาล โดยผู้พิพากษาต้องมาพิจารณาว่า สิ่งที่กัมพูชายื่นมามีน้ำหนักพอหรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ข้อนี้ศาลโลกจะเรียกทั้งสองฝ่ายมาเพื่อตกลงกรอบเวลาในการส่งเอกสารเพิ่มเติม โดยปกติต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ถ้ามีเหตุเร่งด่วน ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ศาลจะต้องเร่งพิจารณาการคุ้มครองชั่วคราวก่อน

น่าสังเกตว่า ถ้าเข้าเกณฑ์ข้อที่ 2 เข้าข่ายการเป็นคดีความบนศาลโลก เรื่องจะเข้าสู่ระบบ มีชื่อและหมายเลขคดี ซึ่งถ้าศาลโลกรับฟ้องในกรณีที่ 2 ไทยอาจจะจำเป็นต้องขึ้นศาลโลก แต่ขึ้นศาลเพื่อไปโต้ว่า ข้อกล่าวหาที่กัมพูชาอ้าง ไทยยอมรับอำนาจศาลโลก ไม่เป็นความจริง โดยไทยจะต้องไปโต้แย้งว่าศาลโลกไม่มีเขตอำนาจ แต่ยังไม่ไปถึงประเด็นพื้นที่พิพาท

ถ้าศาลโลกพิจารณาตาม scenario ที่ 2 จะเกี่ยวโยงกับคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ถ้ามีเหตุที่เร่งด่วน ไทยหรือกัมพูชา อาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อผูกพันระหว่างคดีอยู่ระหว่างพิจารณา สิ่งนี้น่าสนใจว่า ถ้ากัมพูชาอยากจะรุกไทยหนักอาจจะใช้ช่องทางนี้ ให้ไปสู่ scenario ที่ 2 เพื่อให้เกิดคดีขึ้นให้ได้ และถ้ามีเหตุปะทะกัน กัมพูชาก็จะร้องขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อมาผูกพันไทย ถ้าศาลโลกไปสู่ scenario ที่ 2 จากข้อมูลที่เรามี ณ วันนี้มีแนวโน้มว่าศาลจะตัดสินว่าไม่มีเขตอำนาจ

ข้อตกลงโต๊ะเจรจา JBC มีผลผูกมัดไปถึงศาลโลกหรือไม่

สำหรับประชาชนที่มีข้อกังวล หลังจากตัวแทนรัฐบาลไทย ไปประชุมเจรจา JBC ที่กัมพูชา แล้วมีการเซ็นในข้อตกลงร่วมกัน จะมีผลมาสู่การยื่นเรื่องไปยังศาลโลกหรือไม่ ดร.ภัทรพงษ์ มองว่า จะมีผลในแง่ที่ว่า ฝ่ายไทยพยายามทำให้ภาพการเจรจา JBC ยังสามารถทำงานได้อยู่ มีความก้าวหน้า และข้อตกลงว่าจะไปทำอะไรต่อ

นอกจากนี้ การประชุมครั้งหน้าที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน ก.ย.นี้ ดังนั้น ภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงกลไกที่ยังใช้งานได้ในระดับทวิภาคีที่ทั้งสองประเทศมีอยู่แล้ว ก็อาจจะมีผลว่าการไปศาลโลก ก็อาจไม่จำเป็น

ด้านแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เป็นแผนที่ที่กัมพูชา อยากนำมาผูกมัดไทยตั้งแต่สมัยคดีเขาพระวิหาร ครั้งแรก แต่ฝ่ายไทยไม่ยึดตามนั้น เลยกลายเป็นข้อพิพาทว่าจะใช้แผนที่ส่วนไหน โดยไทยพยายามบอกว่า ริมชายแดนฝั่งอีสานใต้ ให้ยึดจากสันปันน้ำ ต่อให้ใช้แผนที่อะไร แต่ต้องเป็นไปตามสันปันน้ำ

ท่าทีของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในการแถลงข่าววันที่ 16 มิ.ย.68 ทำให้ประชาชนอุ่นใจขึ้น โดยประชาชนรู้สึกคลายกังวลมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาหลายคนมองไทยตั้งรับมากเกินไป แต่เมื่อเอาข้อมูลหลายๆ ส่วนมารวมกัน จะเห็นภาพว่าฝั่งไทยทำงานหนักพอสมควร แต่การสื่อสารไม่ว่องไวเท่าที่ควร

...

เกมต่อไปที่กัมพูชาจะเล่น คือการชิงความชอบธรรมในเวทีโลก ไม่ว่าฝั่งไหนถือข้อกฎหมายที่มีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งหลังจากนี้เป็นการชี้แจง ว่าฝ่ายไหนชี้ทำให้สังคมโลกหรือนานาชาติ ได้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าไทยจะชี้แจงชาวโลกอย่างไร