เปิดกลโกงสร้างตึกราชการ ลดสเปกกินหัวคิวกระหน่ำ “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” แฉไล่ตั้งแต่คนออกแบบไปจนถึงคนคุมงาน ส่งต่อหัวคิวกลายเป็นเรื่องปกติ อาจโยงตึก สตง.ถล่ม พร้อมตั้งข้อสังเกต “แบบก่อสร้างจริง” ตึก สตง. ไม่เคยมีใครเห็น

อาทิตย์ที่ผ่านมา นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกรณี ตึก สตง.ถล่ม เมื่อ 28 มี.ค.68 หลังเกิดแผ่นดินไหวศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ส่งแรงสั่นสะเทือนทำให้ตึกกว่า 30 ชั้นพังถล่มเพียงแห่งเดียวในพื้นที่กรุงเทพ โดยนายกฯ เร่งตรวจสอบบริษัทผู้รับงานชาวจีน และหาคนผิดมาลงโทษโดยเร็ว จนล่าสุดเมื่อวาน 19 เม.ย.68 มีการควบคุมตัวชาวจีน ที่เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว 1 ราย

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลโกงในอุตสาหกรรมก่อสร้างของภาครัฐมีมูลค่าต่อปี 7 แสนล้านบาท ถ้ามีการจ่ายสินบนใต้โต๊ะประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ จะสูญเสียเงินจากภาษีประชาชนไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าแจกแจงกระบวนการคอร์รัปชันสามารถแบ่งได้ดังนี้

...

1.คนออกแบบ จะได้เงินค่าจ้างในการออกแบบ แต่จะมีรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นมาจากการวางสเปกสินค้าวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีเงินจำนวนมาก เช่น ตึก สตง. บริเวณผนังกระจก มีมูลค่ามากกว่าร้อยล้านบาท รวมถึงสเปกส่วนอื่นอย่าง โต๊ะ เก้าอี้ จอแอลอีดีในห้องประชุมที่เป็นระบบเธียเตอร์ ถ้ามีการดีลกันจะได้เงินส่วนต่างนี้

แต่บริษัทผู้ออกแบบ ส่วนใหญ่ไม่ได้ประมูลงานราชการเอง แต่เป็นการประกวดแบบ หากมีการช่วยเหลือในการล็อกบริษัทผู้รับออกแบบ ก็ต้องมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะอีกทอด หรืออาจต้องมีการรับปากเป็นพิเศษ เช่น ที่มีการทำกันมากในวงการ ด้วยการวางสเปกของบางอย่างที่คนมีอำนาจต้องการ โดยต้องใส่ราคาให้แพงกว่าความเป็นจริง หรือต้องไปทำราคากลางก่อสร้างสูงให้ได้ตามเป้าหมาย เช่น ถ้าเป็นบริษัทเอกชนจ้างสร้างตึกจะอยู่ที่ร้อยล้านบาท แต่ถ้าเป็นของราชการต้องไปทำสเปกมายังไงก็ได้ให้ถึงราคากลางที่ร้อยห้าสิบล้านบาท

2.ผู้ควบคุมงาน เป็นกระบวนการขั้นตอนต่อไป จะมีรายได้พิเศษจากโอทีค่าแรงที่ผู้รับเหมาในโครงการต้องจ่ายให้คนคุมงาน หากมีการทำงานเกินเวลาทำงาน และอีกกลโกงที่จะได้ส่วนแบ่ง หากมีการลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานจริงจากที่กำหนดไว้ในสัญญา เช่น มีลงชื่อทำงานสร้างตึกนี้ 40 คน แต่ถึงเวลาจริงเอามาแค่ 20 คน ส่วนที่เหลือก็เอาไปกระจายทำงานในไซต์ก่อสร้างอื่น โดยการลดจำนวนคนทำให้ประสิทธิภาพของผลงานลดลง แต่ผู้ว่าจ้างได้กำไรมากขึ้น

บางกรณี ถ้าคนคุมงานใจกล้า ก็อาจจะได้รับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมา เพราะเมื่อมีการทุจริตสเปกของสิ่งก่อสร้างในการทำงาน เช่นเดียวกับผู้รับเหมาก่อสร้าง อาจมีการหากำไรพิเศษจากการลดสเปกสิ่งก่อสร้าง

สำหรับการทำงานในตึก สตง.ที่ถล่ม ยังไม่อาจระบุได้ว่ามีการคอร์รัปชันในส่วนไหน เพราะตอนนี้ยังสงสัยเลยว่ามีใครเห็นแบบก่อสร้างตึก สตง.บ้าง แต่มีคนนอกเห็นแบบเหล่านี้ไหม

แบบก่อสร้างจริง ตึก สตง. ยังไม่มีใครเห็น

ดร.มานะ วิเคราะห์ว่า แบบการก่อสร้างตึก สตง.อีกตัว ที่ยังไม่มีใครเห็นเลยคือ แบบก่อสร้างจริง หรือ Shop Drawing ตัวนี้ยังไม่มีใครได้เห็น ซึ่งแบบตัวนี้ถ้ามีการขยับตำแหน่ง ลดผนัง เพิ่มผนัง เพิ่มความสูง จะต้องปรากฏในแบบนี้

...

โดยขั้นตอนถ้ามีการแก้แบบหรือลดสเปกงาน ต้องมีการพิจารณาว่าด้วยเหตุผลอะไร แล้วจะต้องไปเริ่มต้นที่ผู้ออกแบบเพราะเป็นคนที่ทำมาตั้งแต่ต้นในการแก้แบบ แล้วต้องส่งไปให้กับผู้ควบคุมงานดูว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้จ้างงาน เสร็จแล้วจึงให้เจ้าของงาน หรือเจ้าของตึกเป็นคนเซ็นอนุมัติ แต่การแก้แบบจะปรากฏในแบบก่อสร้างจริงต่อเมื่อมีการแก้แบบอย่างถูกต้อง

แต่ถ้าเป็นการแก้แบบลักษณะลักสเปกกันเอง ก็จะไม่ปรากฏการแก้ในแบบก่อสร้างจริง ซึ่งถ้ามีการเปิดแบบก่อสร้างจริงให้เห็น จะสามารถหาได้ว่าเป็นการแก้แบบอย่างถูกต้อง หรือเป็นการแอบทำ เพื่อหาคนผิดมาลงโทษได้