ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ "สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์" ขณะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า คนไทยวัยเกษียณส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตหลังเกษียณได้อย่างเพียงพอ ต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากลูกหลาน และอาศัยเงินจากรัฐสวัสดิการ นอกจากไม่มีเงินออมหรือออมต่ำแล้ว ยังไม่นำเงินออมมาลงทุน เพื่อหาผลตอบแทนต่อยอดเงินออมให้งอกเงย เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่ง สู่เป้าหมายการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในยามเกษียณ
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นตลาดทุนขนาดใหญ่ของประเทศ เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทยที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการระดมเงินทุน เพื่อนำมาขยายกิจการให้เติบโต ก็จำเป็นต้องการเงินทุนระยะยาว เพื่อสร้างสมดุลและเสถียรภาพในตลาดทุน ท่ามกลางความท้าทายของระบบการเงินการลงทุนโลก ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความผันผวน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน ได้ให้นโยบายและสนับสนุนให้ฝ่ายบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินโครงการมากมาย เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพตลาดหุ้นไทยในทุกมิติ
โดยหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือ โครงการบัญชีเพื่อการออมและการลงทุนในหุ้นระยะยาวสำหรับคนไทย (Thailand’s Individual Savings Account) หรือ TISA เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะ "คนรุ่นใหม่" ที่เริ่มมีรายได้ ได้เริ่มต้นเข้าสู่การ "ออม" และการลงทุนในตลาดทุนระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นตัวจูงใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด ร่วมกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน หรือ CMDF
โดยนายกิติพงศ์ กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับแรงบันดาลใจและนำโมเดลหรือรูปแบบจากญี่ปุ่น ที่มีโครงการ NISA (Nippon Individual Savings Account) ในปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีโครงการ NISA ด้วยการเปิดให้ประชาชนเปิดบัญชีการลงทุนส่วนบุคคล และกำหนดกรอบการลงทุนต่อปีไว้ ซึ่งสามารถลงทุนได้ทั้งในหุ้น กองทุน และสินทรัพย์การลงทุนที่ถูกกำหนด สูงสุดไม่เกิน 6 ล้านเยนต่อปี และนำยอดเงินลงทุนไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าว ญี่ปุ่นต้องการสร้างนิสัยการออมและการลงทุนสม่ำเสมอให้กับประชาชน ขณะเดียวกันยังได้ช่วยพลิกฟื้นตลาดหุ้นโตเกียวให้กลับมาสดใสคึกคักอีกครั้งได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาโครงการ เบื้องต้นได้มีการแบ่งบัญชีการออมส่วนบุคคลออกเป็น 4 แบบให้เลือกตามเป้าหมายชีวิต ที่น่าสนใจ ดังนี้ 1. TISA-Saving คือการออมเงินระยะสั้นถึงกลาง ปลอดภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 2. TISA-Investment การออมเงินเพื่อมาลงทุนหุ้น-กองทุน-พันธบัตร ปลอดภาษีจากการลงทุน 3. TISA-Retirement – การออมระยะยาวเพื่อเกษียณอายุ ได้รับการลดหย่อนภาษี และอาจมีการสมทบเงินให้จากภาครัฐ 4. TISA-Junior คือการเริ่มออมให้ลูกหลานตั้งแต่เด็ก เพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง
และเพื่อให้โครงการ TISA สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ควรจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะทาง พัฒนาระบบ Central Registrar เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับตรวจสอบและติดตามบัญชี TISA รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้จะช่วยให้บัญชี TISA สามารถรักษาวัตถุประสงค์ของการออมและการลงทุนระยะยาวได้อย่างแท้จริง รวมทั้งควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการเข้าถึงบัญชี TISA ได้อย่างสะดวกและทั่วถึง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ส่งเสริมให้บัญชี TISA สามารถลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล และกองทุนรวมที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดทุนของนักลงทุนรายย่อย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ในเบื้องต้น TISA จะเป็นบัญชีการออมที่ลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรง ในหุ้นที่กำหนดไว้ และมีระยะเวลาถือครองตามที่กำหนด หรือถือหุ้นระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ โดยสามารถนำยอดเงินที่ลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ โดยเงินออมที่ใส่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นนั้น จะเป็นเม็ดเงินใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในตลาด โดยอาจกำหนดวงเงินในแต่ละปี เช่นลงทุนไม่เกินปีละ 1-5 แสนบาท ที่จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี

มั่นใจว่า TISA จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นไทย ขณะเดียวกันยังได้สร้างวินัยการออมให้กับประชาชนในระยะยาวด้วย หากผู้เกษียณอายุมีเงินออมที่เพียงพอใช้จ่ายในยามเกษียณ ระยะยาวก็จะช่วยลดภาระการคลังของรัฐบาล
“นโยบายโครงการ TISA นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ร่วมหารือกับ สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินปันผล 10% ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง จะต้องมีการแก้ไขประมวลรัษฎากร และนำเข้าสู่การขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการทำงานใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดของทุกคน ตามแนวคิด To Make the Capital Market "Work" for Everyone” ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าว