F1 ยุคใหม่ = นวัตกรรม+ESG ไทยลุ้นเจ้าภาพ ดันท่องเที่ยวโต 7 พันล้าน โชว์พลังเศรษฐกิจสีเขียวเวทีโลก

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

F1 ยุคใหม่ = นวัตกรรม+ESG ไทยลุ้นเจ้าภาพ ดันท่องเที่ยวโต 7 พันล้าน โชว์พลังเศรษฐกิจสีเขียวเวทีโลก

Date Time: 20 เม.ย. 2568 07:00 น.

Video

เกิดอะไรขึ้นกับ Clubhouse เคยมีทั้งเงินทุน ทั้งกระแส แต่ทำไมไปไม่ถึงไหน ? | Digital Frontiers EP.37

Summary

  • Formula 1 กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนอย่างจริงจังสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon ภายในปี 2030 โดยยึดหลักสิ่งแวดล้อม (ESG) เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลก ซึ่งนั่นก็รวมถึง “ประเทศไทย” ที่กำลังพิจารณาเข้าร่วมจัดการแข่งขันนี้ด้วย

Latest


ปัจจุบัน กีฬาแข่งรถสูตรหนึ่ง หรือ “Formula 1” (F1) กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็วหรือเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่คือการขับเคลื่อนอย่างจริงจังสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon ภายในปี 2030 โดยยึดหลักสิ่งแวดล้อม (ESG) เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลก ซึ่งนั่นก็รวมถึง “ประเทศไทย” ที่กำลังพิจารณาเข้าร่วมจัดการแข่งขันนี้ด้วย

F1 กับเป้าหมายความยั่งยืน: Net Zero Carbon 2030

F1 ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 ผ่านมาตรการทั้งระบบ ตั้งแต่พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในสนาม ไปจนถึงการจัดการขนส่งและระบบจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม

แม้ภาพจำของหลายคนคือรถแข่งที่กินน้ำมันมหาศาล แต่ในความจริง รถแข่ง F1 ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 1% ของทั้งหมด โดยการปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่กลับมาจาก “การขนส่ง” (49%) “การเดินทางเพื่อธุรกิจ” (29%) และ “การจัดอีเว้นท์” (12%)

นวัตกรรมจากสนามแข่งสู่ถนนจริง

ปัจจุบัน หลายฝ่ายยกให้ F1 เป็นมากกว่ากีฬา เพราะทุกเทคโนโลยีในสนามแข่งสามารถนำมาต่อยอดกับรถยนต์ทั่วไปได้จริง ไม่ว่าจะเป็น

  • เครื่องยนต์ไฮบริดเทอร์โบ V6 ที่เริ่มใช้ใน F1 ปี 2014 ถูกนำไปพัฒนาในรถยนต์ทั่วไปอย่าง Toyota Prius และ Ferrari SF90

  • วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ช่วยลดน้ำหนักรถยนต์และเพิ่มความเร็ว เริ่มใช้ใน F1 ก่อนขยายสู่รถสปอร์ตแบรนด์ดัง

นอกจากนี้ ภายในปี 2026 ทาง F1 เตรียมเปิดตัวแบตเตอรี่ที่สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นถึง 3 เท่า (จาก 120kW เป็น 350kW) พร้อมเร่งพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเชื้อเพลิงยั่งยืนแบบ 100%

ทั้งนี้ แผนลดคาร์บอนแบบครบวงจรของ F1 จะมีการปรับเปลี่ยนดังนี้

  • ใช้พลังงานสะอาด 100% กับรถแข่ง โดยไม่ลดสมรรถนะ
  • ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นใหม่ (HVO, biofuel) แทนพลังงานฟอสซิลในการขนส่ง
  • ผลิตไฟฟ้าในสนามแข่งจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์
  • จัดการขยะครบวงจร – รีไซเคิล ปุ๋ยหมัก และลด Single-use plastic
  • สนับสนุนการเดินทางสะอาด – EV charging, จักรยานฟรี, อีเวนต์ออนไลน์

ไทยควรคว้าโอกาส ร่วมผลักดันเรื่องพลังงานสีเขียว

การที่ไทยยื่นข้อเสนอเป็นเจ้าภาพจัดแข่ง F1 ถือเป็นโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยการจัด F1 สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะช่วยส่งเสริมประเทศ ดังนี้

  • คาดดึงดูดผู้ชม 200,000 - 300,000 คนต่อปี
  • สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 7 พันล้านบาท/ปี
  • กระตุ้น GDP ได้ราว 0.04% ต่อปี
  • คาดคืนทุนได้ภายใน 3 - 4 ปี หากบริหารต้นทุนดีแบบสิงคโปร์

จากกรณีศึกษาของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ F1 มาตั้งแต่ปี 2008 พบว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวเพิ่มกว่า 3,600 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รัฐบาลร่วมอุดหนุน 60% ของต้นทุนรวมกว่า 3,800 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะรอด แม้ F1 จะสร้างภาพลักษณ์ระดับโลก แต่ถ้าบริหารไม่ดี ก็เสี่ยงขาดทุนได้เช่นกัน โดยเกาหลีเคยขาดทุนกว่า 1,200 ล้านบาทในปี 2012 ด้านอินเดียก็ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาทในปี 2013 ส่วนมาเลเซียที่ได้เลิกจัดแข่งตั้งแต่ปี 2018 จากต้นทุนสูงและผู้ชมน้อยลง

ไม่ได้จัดแข่ง ก็ยังได้อานิสงส์

ถึงแม้ไทยจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพ การเปลี่ยนผ่านของ F1 ไปสู่ ESG ก็ยังส่งผลดีต่อธุรกิจไทย โดยคาดว่าจะสามารถช่วยโปรโมตภาพลักษณ์ประเทศ ผ่านการเป็นสปอนเซอร์ทีมแข่งหรือแบรนด์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกระตุ้นธุรกิจพลังงานสะอาด, EV, สถานีชาร์จ, บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้, การจัดการขยะ ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการกักเก็บและจ่ายพลังงานในช่วงอีเวนต์ใหญ่ได้

ทั้งนี้ F1 ในยุคใหม่คือแรงผลักดันของนวัตกรรมยานยนต์ เทคโนโลยีสีเขียว และเศรษฐกิจยั่งยืน ใครที่เห็นก่อน ปรับตัวก่อน ย่อมได้เปรียบ และถ้าไทยสามารถใช้ F1 เป็นเวทีโชว์ศักยภาพได้จริง ไม่เพียงแค่ความเร็วที่โลกรู้จัก แต่จะเป็น “ประเทศไทยสีเขียว” ที่โลกยอมรับ

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ