วิกฤต LVMH ? สูญมูลค่า 2.2 แสนล้านยูโร จีนแผ่ว-สหรัฐฯ กดดัน ปัญหาทายาท สั่นคลอนอาณาจักรแบรนด์หรู

Business & Marketing

Corporates & Leadership

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤต LVMH ? สูญมูลค่า 2.2 แสนล้านยูโร จีนแผ่ว-สหรัฐฯ กดดัน ปัญหาทายาท สั่นคลอนอาณาจักรแบรนด์หรู

Date Time: 19 มิ.ย. 2568 14:07 น.

Video

ฟ้า ญาดา จากนักกฎหมาย สู่นักวางแผนการเงินอิสระ I Money Secret EP.2

Summary

  • ฟองสบู่ลักชัวรีแตกจริงหรือ? LVMH อาณาจักรแบรนด์หรูระดับโลกสูญเสียมูลค่าตลาดกว่า 220,000 ล้านยูโร เผชิญแรงเสียดทานรอบด้าน ทั้งยอดขายที่ลดฮวบทั้งจีนและสหรัฐฯ ปัญหาภายในองค์กรกับคำถามเรื่องทายาท โครงสร้างธุรกิจที่ซับซ้อน พอร์ตหลากหลายที่กลายเป็นภาระถ่วงองค์กรจนเริ่มสั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

Latest


LVMH อาณาจักรลักชัวรีระดับโลกกำลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ยอดขายที่ดิ่งลงในตลาดหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีสัญญาณเตือนจากภายในองค์กร ทั้งปัญหาด้านการบริหารแบรนด์จำนวนมาก การจัดพอร์ตธุรกิจที่ไร้ทิศทาง และที่สำคัญที่สุด คำถามเรื่องผู้สืบทอดของ Bernard Arnault ผู้ก่อตั้งประธานและซีอีโอของ LVMH ที่ยิ่งทวีความเข้มข้นในหมู่นักลงทุนและตลาดทุน

หลังจากหลายปีที่ LVMH ครองบัลลังก์แห่งอุตสาหกรรมลักชัวรี พร้อมพา Bernard Arnault ขึ้นสู่ตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ทว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ ได้กดดันจนราคาหุ้นที่ร่วงหนักกว่าครึ่งหนึ่ง และฉายภาพชัดเจนถึงรอยร้าวที่สั่งสมมานาน

นี่คือช่วงเวลาที่โลกกำลังจับตามองว่า LVMH จะพลิกเกมกลับมาได้อย่างไร? ใครคือตัวจริงที่จะขึ้นมาแบกรับอาณาจักรลักชัวรีนี้ต่อ? และแบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนิยามของความหรูหราจะยืนหยัดในยุคที่ผู้บริโภคเริ่มตั้งคำถามกับคำว่า "ลักชัวรี" ได้อีกนานแค่ไหน?

ทำไม LVMH ไม่ขลังอีกต่อไปในสายตานักลงทุนยุคใหม่

ในอดีต LVMH เคยเป็นชื่อที่การันตีความแข็งแกร่งและการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยพลังแบรนด์ในตลาดจีน-สหรัฐฯ และความสามารถของอาร์โนลต์ในการซื้อกิจการและปั้นแบรนด์ให้ดัง แต่ในยุคที่โลกเปลี่ยน เทรนด์ใหม่ที่ผู้คนพร้อมหันหลังให้สินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มผู้บริโภคให้คุณค่ากับสิ่งที่มากกว่าความหรูหรา ซ้ำเติมด้วยความตกต่ำของความต้องการสินค้าลักชัวรีในจีน และภัยคุกคามจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จาก

บทความ “Billionaire Arnault Grapples With Biggest Slump in LVMH History” โดย Angelina Rascouet และ Tara Patel ได้เปิดประเด็นถึงช่วงเวลาที่ดูเหมือนจะยากลำบากที่สุดของอาณาจักรลักชัวรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง LVMH เมื่ออุตสาหกรรมสินค้าลักชัวรีมูลค่า 364,000 ล้านยูโรกำลังซบเซาหนักและคำถามเรื่อง "ทายาท" กลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตา

ในขณะที่อุตสาหกรรมลักชัวรีทั่วโลกกำลังชะลอตัว คู่แข่งอย่าง Hermès และ Richemont กลับแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่เหนือกว่า ทำให้จุดอ่อนของ LVMH โผล่ชัดขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในแบรนด์แฟชั่น Dior ธุรกิจเครื่องดื่ม Moët Hennessy หรือแม้แต่แบรนด์แม่อย่าง Louis Vuitton ก็เริ่มมีเสียงกระซิบถึงความเปราะบาง

ราคาหุ้นของ LVMH ร่วงลงหนักจนส่งผลให้ Bernard Arnault มหาเศรษฐีวัย 76 ปี ผู้กุมธุรกิจหรูร่วงจากอันดับหนึ่งไปอยู่อันดับ 10 ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก ขณะที่อาณาจักรมูลค่า 85,000 ล้านยูโรของเขากำลังเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 36 ปี นับตั้งแต่เขาเริ่มกุมบังเหียน LVMH

ฟองสบู่ลักชัวรีแตก แม้ยังแข็งแกร่งในพื้นฐาน แต่ภาพลักษณ์เริ่มสั่นคลอน

ในช่วงเดือนเมษายน 2023 หุ้น LVMH ร่วงเกือบครึ่งจากจุดสูงสุด ส่งผลให้มูลค่าตลาดลดลงไปกว่า 221,000 ล้านยูโร ซึ่งถือเป็นการสูญเสียมูลค่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัท ขณะที่ Hermès ซึ่งอาร์โนลต์เคยพยายามฮุบกิจการ กลับแซงขึ้นเป็นบริษัทมูลค่าสูงสุดในฝรั่งเศส

กระทั่งปีที่ผ่านมา Arnault เคยครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ด้วยทรัพย์สิน 231,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสูงกว่า Elon Musk และ Jeff Bezos แต่หลังหุ้น LVMH ทรุดหนัก ความมั่งคั่งของเขาหดเหลือประมาณ 149,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าตัวเลขธุรกิจยังสะท้อนว่าสถานะการเงินของ LVMH ยังดำเนินการต่อไปอย่างมั่นคง โดยอัตราหนี้ต่อทุนลดลงจาก 20% เหลือ 13% และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงถึง 10,500 ล้านยูโรในปี 2024 ขณะที่ครอบครัวอาร์โนลต์ถือหุ้น 49% และสิทธิ์โหวต 65% ยังคงซื้อหุ้นเพิ่มกว่า 1,100 ล้านยูโรในช่วงราคาหุ้นตก

อย่างไรก็ตามวิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากอดีตที่อุตสาหกรรมลักชัวรีพึ่งพาการเติบโตของจีนได้เสมอ แต่กลับกันสภาวะเศรษฐกิจในช่วงสามปีมานี้ จีนกลับมาคุมเข้มพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ส่วนในสหรัฐฯ ก็เผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีของทรัมป์ แม้ว่า Arnault จะมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขาก็ตาม

Pierre-Olivier Essig จาก AIR Capital กล่าวว่า “วิกฤตการเงินในปี 2008 หรือโควิดยังไม่น่ากลัวเท่านี้ เพราะขนาดของ LVMH วันนี้ใหญ่กว่ามาก ทำให้มูลค่าที่หายไปถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตลอด 20 ปีที่เราติดตาม LVMH ไม่เคยเห็นสัญญาณเตือนมากขนาดนี้”

จากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร นักลงทุน และบุคคลใกล้ชิดกว่า 12 ราย พบว่า LVMH กำลังเจอผลกระทบจากกลยุทธ์ที่ตนสร้างไว้เอง โดยเฉพาะการซื้อกิจการแบบกวาดเรียบจนบริษัทมีแบรนด์มากกว่า 75 แบรนด์ที่บริหารจัดการได้ยาก อีกทั้งยังไม่มีแผนส่งต่อทายาทที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนวิตกหนักขึ้น

จากพอร์ตหลากหลาย สู่ภาระที่ถ่วงองค์กร

การเติบโตของ LVMH ในอดีตเกิดจากการซื้อกิจการแบบ “ไล่ล่า” ทุกแบรนด์ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, เครื่องสำอาง, โรงแรม, ร้านอาหาร ไปจนถึงแอลกอฮอล์ แต่ในวันที่กระแสลักชัวรีเริ่มแผ่ว กลยุทธ์ถือทั้งหมดแบบนี้กลับกลายเป็นภาระ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า LVMH ที่ถือครองแบรนด์อยู่มากกว่า 75 แบรนด์ ซึ่งหลายแบรนด์แม้จะทำกำไรแต่เติบโตช้าและไม่มีบทบาทเชิงกลยุทธ์ชัดเจน ซึ่งตรงกันข้ามกับคู่แข่งอย่าง Hermès ที่โฟกัสแบรนด์เดียวแบบ “หรูแต่ชัด” กลับได้ราคาหุ้นสูงกว่าถึง 2 เท่าในเชิง valuation (50 เท่า vs 20 เท่าของ LVMH)

อาณาจักรที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทำให้ LVMH ถูกประเมินมูลค่าต่ำลงจนนักลงทุนเริ่มเรียกร้องให้ขายแบรนด์ที่ไม่จำเป็นออก โดยที่ผ่านมา LVMH ได้ขาย Off-White และ Stella McCartney และกำลังพิจารณาแผนแยก Sephora ออก IPO รวมถึง Moët Hennessy ซึ่ง Diageo ถือหุ้น 34% ก็เคยเสนอให้จดทะเบียนแยกเมื่อปี 2023 แต่สุดท้ายถูก Arnault ปัดตกไป

อาณาจักรลักชัวรีจะถูกส่งต่ออย่างไร?

แม้ Bernard Arnault จะยังนั่งเก้าอี้ซีอีโอได้ต่อจนถึงอายุ 85 ปี ต่อเนื่องจากที่เพิ่งขออนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นแก้ข้อบังคับบริษัทในการขยายเวลานั่งเก้าอี้บริหาร แต่ในสายตานักลงทุน นี่ไม่ใช่สัญญาณความมั่นคง แต่กลับเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงปัญหาของการ "ไม่มีแผนสืบทอดที่ชัดเจน"

ลูกทั้ง 5 คนของเขายังคงมีบทบาทในบริษัท พร้อมกับวางตำแหน่งสำคัญให้กับลูกไว้ทั่วอาณาจักร ทั้ง Delphine ที่ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้า Dior เมื่อปี 2023 แต่ผลงานกลับแผ่วลง หลายฝ่ายชี้ว่าขึ้นราคาสินค้าแรงเกินไป อีกทั้งยังเจอข่าวฉาวเรื่องจ้างแรงงานผิดกฎหมายในอิตาลี แต่ล่าสุดเพื่อกู้ภาพลักษณ์ เธอได้แต่งตั้ง Jonathan Anderson เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ และเตรียมเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ที่ Paris Fashion Week ช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้

ด้าน Alexandre ลูกชายวัย 33 ปี เพิ่งกลับจากดูแล Tiffany ในอเมริกา ก็ต้องเผชิญปัญหายอดขาย Moët Hennessy ดิ่ง และจำเป็นต้องประกาศปลดพนักงานกว่า 1,200 คน ขณะที่ Frédéric ที่เริ่มสร้างภาพจำสดใหม่ให้กับ TAG Heuer แต่ไม่มีใครโดดเด่นพอจะขึ้นเป็นผู้นำเดี่ยวได้ในตอนนี้

การปล่อยให้ลูกๆ พิสูจน์ตัวเองบนสนามจริง ถูกมองว่าเป็นการเดินเกมที่เสี่ยงในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้าน นำไปสู่บริบทที่ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าอาณาจักร LVMH จะเป็นอย่างไรต่อไป

วิกฤติที่กำลังจะใหญ่ของ LVMH

หลายฝ่ายมองว่าจุดอ่อนของ LVMH คือ การยึดติดกับโมเดลความสำเร็จแบบเดิม ใช้ชื่อเสียงแบรนด์เดิมเพื่อดันยอดขาย โดยไม่เข้าใจบริบทผู้บริโภคใหม่ และจุดแข็งในอดีตที่ยังเน้น “อาณาจักรครอบครัว” มากกว่าการปฏิรูปเชิงระบบ ทำให้อาณาจักรธุรกิจเทอะทะ ขาดความคล่องตัวและปรับตัวช้า

นักลงทุนจึงเริ่มพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า "Governance Discount" การประเมินมูลค่าบริษัทต่ำลง เพราะความไม่แน่นอนในการบริหารหลังยุคผู้ก่อตั้ง โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งอย่าง Hermès ยังมีโครงสร้างการสืบทอดที่มั่นคง และ Kering ก็เร่งปรับตัวด้วยการแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่จากสาย turnaround โดยตรงอย่าง Luca de Meo ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารที่เคยพลิกฟื้นแบรนด์รถยนต์ Renault สำเร็จมาก่อนหน้านี้

แม้ LVMH จะยังเป็นยักษ์ใหญ่ในโลกของลักชัวรี แต่วิกฤตครั้งนี้กำลังท้าทายไม่ใช่แค่โมเดลธุรกิจ แต่รวมถึงสายเลือดผู้นำยุคใหม่ของตระกูล และโครงสร้างองค์กรที่กำลังถูกตั้งคำถามจากนักลงทุนทั่วโลก สิ่งที่ทุกคนกำลังจับตา คือ LVMH จะเลือกปรับตัวตามยุค หรือยังยึดมั่นกับสูตรเดิมที่เคยทำให้ยิ่งใหญ่และมากไปกว่านั้น…ใครกันแน่ที่จะเป็นผู้รับไม้ต่อในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกแฟชั่น? เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามต่อไปหลังจากนี้

อ่านเพิ่มเติม 

อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg Financial Times Fortunes 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ