จากเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้บริการร้านอาหารชื่อดังรายหนึ่งแล้วเกิดอาการแพ้กุ้งที่มีอยู่ในส่วนผสมของเมนูหนึ่งจนเกิดเป็นกระแสโต้เถียงกันในโลกโซเชียลวันนี้ (18 มิ.ย. 2568) ว่าผู้บริโภคที่มีอาการแพ้กุ้งไม่ควรรับประทานอาหารนอกบ้านหรือร้านอาหารควรรับผิดชอบมากกว่า นอกจากนี้อาการแพ้กุ้งจะมีลักษณะอย่างไร แล้วมีวิธีรักษาเบื้องต้นหรือไม่
อาการแพ้กุ้ง เกิดจากอะไร
ข้อมูลจากโรงพยาบาลบีเอ็นเอชเผยว่า อาการแพ้กุ้งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การปนเปื้อนสารเจือปนหรือสารเคมีที่ต่างกันในการประกอบอาหาร รวมถึงอาจเกิดจากพฤติกรรมร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลังการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น
กุ้งมีส่วนประกอบหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในกุ้ง ได้แก่
- โทรโปไมโอซิน (Tropomyosin) คือโปรตีนที่พบในเนื้อกุ้งและเป็นสารก่อภูมิแพ้หลักที่ทำให้เกิดอาการแพ้กุ้ง
- ฮีโมไซยานิน (Hemocyanin) คือสารโปรตีนที่พบในหัวกุ้ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน
- สารเจือปนอื่นๆ บางครั้งผู้ป่วยไม่ได้แพ้กุ้งจริงๆ แต่เกิดการแพ้จากสารเคมีหรือพยาธิที่ปนเปื้อน เช่น พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis)
- ความแตกต่างของสายพันธุ์กุ้ง ผู้ที่แพ้กุ้งบางคนอาจแพ้เฉพาะบางสายพันธุ์ เช่น กุ้งน้ำจืด (กุ้งก้ามกราม) หรือกุ้งน้ำเค็ม เช่น กุ้งกุลาดำและกุ้งแชบ๊วย
นอกจากแพ้กุ้งแล้ว ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราชพบว่ายังมีอาหารอีกหลายชนิดที่เป็นสาเหตุให้คนแพ้ เช่น อาหารทะเล (เช่น กุ้ง ปู หอย), ข้าวสาลี, ผลไม้และผักบางชนิด, ถั่วลิสง, ถั่วเหลือง, ปลาทะเล, นมวัว และเนื้อหมู
อาการแพ้กุ้ง มีแบบไหนบ้าง
...
ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่าอาการแพ้กุ้งหรืออาการแพ้อาหารอื่นๆ มักแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
1. ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non – IgE – Mediated Food Allergy)
เป็นกลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า มักค่อยๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือเป็นวันหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรัง โดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลวรุนแรง
2. ชนิดเฉียบพลัน (IgE – Mediated Food Allergy)
มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที - 1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้

3. ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis)
เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย
วิธีรักษาอาการแพ้กุ้ง
ในกรณีที่บังเอิญรับประทานกุ้งเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมา โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์แนะนำวิธีรักษาหรือปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นไว้ดังนี้
- หากเกิดอาการเวียนศีรษะหรือหน้ามืดให้นอนราบลง ห้ามลุกยืนเร็วๆ
- ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือหรือรีบบอกคนที่อยู่รอบข้าง
- ถ้าหายใจไม่สะดวกให้นั่งเอนตั้งศีรษะสูง
- หญิงตั้งครรภ์ควรนอนตะแคงลงทางด้านซ้ายหนุนขาสูง
- หากมียาแก้แพ้อยู่กับตัวสามารถกินยาแก้แพ้ได้ แต่ยาแก้แพ้ชนิดรับประทานจะไม่สามารถแก้อาการแพ้รุนแรงได้
- ผู้ที่มียาฉีดอะดรีนาลินหรือ Epipen สามารถฉีดยาให้กับตนเองได้ แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้รุนแรงเพราะอาการอาจแย่ลงได้อีกอย่างรวดเร็วหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นเกิดขึ้น
สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้กุ้งหรือแพ้อาหารรุนแรงจนต้องรีบไปพบแพทย์ หลังจากทำการประเมินผู้ป่วยแล้วแพทย์จะฉีดยารักษาการแพ้รุนแรง คือ อะดรีนาลิน (Adrenaline) เข้ากล้ามเนื้อต้นขา และอาจต้องฉีดยาอื่นๆ เข้าทางหลอดเลือด หากมีอาการหอบเหนื่อยจะได้รับการพ่นยาขยายหลอดลม
ในรายที่ความดันเลือดต่ำจำเป็นต้องให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือด หากอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจต้องฉีดอะดรีนาลินซ้ำอีกหลายครั้ง หรือให้การรักษาอื่นๆ ตามความเหมาะสม
ภายหลังการฉีดอะดรีนาลินผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อที่ถูกฉีดยา อาจมีอาการตัวสั่นรุนแรงทั้งตัว หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วและแรง ซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของอะดรีนาลินและอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไป
หลังจากผ่านเหตุการณ์ฉุกเฉินเมื่อเกิดการแพ้รุนแรงไปแล้ว ผู้ป่วยอาจถูกส่งตัวมาปรึกษาต่อกับหมอภูมิแพ้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ หาสาเหตุของการแพ้ และหาแนวทางในการป้องกันการเกิดซ้ำ ตลอดจนวางแผนรับมือช่วยเหลือดูแลตนเองหากเกิดอาการซ้ำในครั้งถัดไป
...
วิธีป้องกันอาการแพ้กุ้ง
หากมีประวัติแพ้กุ้งหรือแพ้อาหารอื่นๆ ควรมีวิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจมีส่วนประกอบอาหารที่เราแพ้ปนเปื้อนมาได้จากการรับประทานอาหารนอกบ้าน เช่น

- แจ้งร้านอาหารหรือผู้ทำหน้าที่ปรุงอาหารทุกครั้งว่าเราแพ้กุ้งหรือแพ้อาหารชนิดใดบ้าง
- พยายามหลีกเลี่ยงเมนูที่อาจมีส่วนผสมของกุ้งหรืออาหารชนิดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้
- พกยาแก้แพ้ติดตัวและทราบที่ตั้งของโรงพยาบาลใกล้เคียง
- หากเกิดอาการแพ้เล็กน้อย เช่น ผื่นหรือคัน สามารถทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการได้
- หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบากหรือคอบวม ควรรีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลบีเอ็นเอช, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์