เดือนเมษายนในประเทศไทย ถือเป็นเดือนที่อุณหภูมิพุ่งสูงสุดของปี หลายพื้นที่อากาศร้อนสูงถึง 40 องศาเซลเซียส โดยส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยง่าย เหงื่อออกเยอะ ถึงแม้ว่าเราจะพยายามปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่ร้อนระอุเช่นนี้ แต่ “ร่างกาย” โดยเฉพาะ “หัวใจ” ก็ยังต้องทำงานหนักมากกว่าปกติเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพราะร่างกายจะพยายามลดอุณหภูมิภายในโดยการระบายความร้อนออกผ่านเหงื่อ และการไหลเวียนเลือด หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดไปยังผิวหนังมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หากอยู่ในที่อากาศร้อนนานๆ โดยไม่ได้พักผ่อนหรือดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ระบบไหลเวียนเลือดจะทำงานหนัก จนเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือฮีทสโตรกได้
รู้หรือไม่? ฮีทสโตรกคืออะไร
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือที่เรียกกันว่า “โรคลมแดด” คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามปกติ ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และเริ่มส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ไต ปอด และตับ โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Exertional Heat Stroke
เกิดกับคนที่ออกแรงหรือออกกำลังกายกลางแจ้งโดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน เช่น นักวิ่ง พนักงานก่อสร้าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อาการมีความคล้ายกับฮีทสโตรกแบบทั่วไป แต่ต่างกันที่ผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งฮีทสโตรกประเภทนี้ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวายเฉียบพลัน รวมถึงอาการอื่น ๆ และความรุนแรงอาจถึงขั้นชัก หรือหมดสติได้

...
2. Classic Heat Stroke
เป็นฮีทสโตรกประเภทที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศร้อนจัด มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมปิด ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น ในบ้านที่ไม่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ อาการที่พบ ได้แก่ ผิวร้อนจัด หายใจเร็ว ตาลอย ใจเต้นแรง หรืออาเจียน บางรายอาจมีอาการมึนงง และหมดสติ หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะรุนแรง เช่น สมองบวม ไตวาย หรือหัวใจล้มเหลวได้ทันที
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าโรคนี้เกิดกับเด็กหรือผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ทุกคนมีความเสี่ยงเป็นฮีทสโตรกได้ หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง คุณแม่ตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ตลอดจนผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงเป็นฮีทสโตรก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ แม้ไม่รู้สึกกระหาย เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00–16.00 น. หากเลี่ยงไม่ได้ให้
- ป้องกันความร้อนด้วยการทาครีมกันแดด ใส่หมวกปีกกว้าง สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน หรือใส่เสื้อที่สามารถกัน UV ได้
- อยู่ในพื้นที่ร่ม หรือที่ที่มีการระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในรถยนต์ที่จอดกลางแจ้งหรือห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ระมัดระวังการใช้ยาบางชนิด ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการระบายความร้อนของร่างกาย หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์

หากพบคนที่มีอาการคล้ายฮีทสโตรก ควรรีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทคลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบตามตัว ยกขาให้สูง และหากยังรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเย็น แต่ถ้ามีอาการซึมหรือไม่รู้สึกตัว ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ในหน้าร้อนแบบนี้ อย่าลืมว่า “หัวใจของเรา” ต้องทำงานหนักกว่าทุกฤดู ยิ่งอากาศร้อนจัด ร่างกายยิ่งต้องการการดูแลอย่างพิเศษ การป้องกันตัวเองจากฮีทสโตรกจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการเลี่ยงแดด แต่คือการรู้จักฟังสัญญาณร่างกาย ใส่ใจดูแลหัวใจ และไม่ปล่อยให้ความร้อนกลายเป็นภัยเงียบที่มองไม่เห็น
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม