มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก หากใครมีประสบการณ์ที่คนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือตนเองเป็นโรคมะเร็งย่อมทราบดีถึงความทุกข์ทรมานในการรักษา โดยเฉพาะเมื่อถึงระยะสุดท้ายที่เป็นระยะลุกลามจนการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายแสงไม่ได้ผลอีกต่อไป แต่ก็จำเป็นต้องเยียวยาเพื่อยื้อชีวิตต่อไปให้นานที่สุด การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยบรรเทาอาการและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวาระสุดท้ายของชีวิต
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คืออะไร
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเผยถึงแนวคิดและหลักการของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care) ว่าเป็นแนวทางในการดูแลที่ให้ความสำคัญเพื่อการบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ครอบคลุมทั้งการดูแลจิตใจทั้งของผู้ป่วยและญาติ ให้สามารถเผชิญหน้ากับเสี้ยววินาทีสุดท้ายของชีวิตอย่างปราศจากความกลัวและกังวลอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญ เป็นการคืนสิทธิการเลือกตายโดยผู้ป่วยเอง ซึ่งรายละเอียดในการทำความเข้าใจมีดังต่อไปนี้
ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
หมายถึง ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาพการป่วยไข้เป็นระยะลุกลามเรื้อรัง หรือเข้าสู่ระยะท้ายๆ ของโรค ซึ่งไม่มีวันรักษาให้หายได้ โดยมากจะมีชีวิตอยู่น้อยกว่า 1 ปี
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)
หมายถึงการดูแลทางการแพทย์การพยาบาลทุกชนิด รวมถึงการดูแลทางด้านจิตใจ สังคม ตามความต้องการของผู้ป่วยตลอดจนการดูแลครอบครัวผู้ป่วยจากความโศกเศร้าเนื่องจากต้องสูญเสียผู้ป่วยไป

...
เป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีความสุขสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถจากไปอย่างสงบสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
อาการสำคัญที่จำเป็นสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง มีดังนี้
- อาการปวด
- อาการหายใจลำบาก
- อาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด
- อาการอ่อนเพลีย
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาการผิดปกติในการนอน
- อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
- อาการสับสน
ในอดีต อาจจะเคยได้ยินว่า เมื่อโรคลุกลามมากรักษาไม่หายขาด ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้อีก จึงสมควรหยุดการรักษาทุกอย่าง แต่ในปัจจุบัน แนวคิดนี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะการรักษาหลายวิธี เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด และอื่นๆ สามารถช่วยบรรเทาอาการไม่สุขสบายทั้งหลาย เช่น อาการปวด อาการไม่สบายท้อง อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการหายใจลำบาก ต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานลดน้อยลง
การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning)
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง คือถ้าผู้ป่วยไม่ทราบอาการของตนเองเพราะญาติปิดบังผู้ป่วยจะไม่สามารถตัดสินใจเลือกวิธีการดูแลได้เอง ขณะเดียวกันญาติก็ไม่กล้าตัดสินใจหรือกรณีที่ผู้ป่วยมีญาติหลายคน ความเห็นของญาติอาจไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งอาจให้ดูแลเต็มที่แต่อีกฝ่ายไม่ต้องการให้ยื้อชีวิต เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะสร้างความลำบากใจแก่ทุกฝ่าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ป่วยที่มาถึงระยะสุดท้ายจึงมักถูกยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็นทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดและทรมานจากเครื่องมือกู้ชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องปั๊มหัวใจ การต่อสายให้อาหาร ฯลฯ มีผลให้จากไปอย่างไม่สงบ และยังเกิดค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ใจทั้งแก่ผู้ป่วย ญาติ และทีมผู้ดูแล
การทำความตกลงเรื่องแผนการดูแลล่วงหน้า จึงเป็นกระบวนการของการปรึกษาหารือระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมผู้ดูแล โดยมีเป้าหมายให้การดูแลที่จะเกิดขึ้นตรงกับความต้องการของผู้ป่วยให้มากที่สุด
ความปรารถนาครั้งสุดท้าย
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง คือ การช่วยให้ผู้ป่วยได้ทำสิ่งที่ต้องการหรือค้างคาใจ รวมถึงความใฝ่ฝันในชีวิตให้สำเร็จ ความปรารถนาหรือความใฝ่ฝันที่ค้างคาใจเหล่านี้จะมีผลให้เกิดความกระวนกระวายใจ เมื่อมากเข้าอาจทำให้ผู้ป่วยจมอยู่ในความทุกข์และไม่สงบ แม้บางครั้งผู้ป่วยจะไม่ได้บอกมาตรงๆ เพราะอายหรือไม่กล้าเปิดเผยดังนั้นญาติจึงต้องเอาใจใส่ สังเกตว่าผู้ป่วยเคยพูดถึงเรื่องใดบ่อยๆ แล้วค่อยๆ สอบถามเพิ่มเติม และหาหนทางช่วยให้สำเร็จ

...
ในสหรัฐอเมริกา มีการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งชอบด้วยกฎหมายที่เรียกว่า ความปรารถนา 5 ประการ (Five Wishes) ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถแสดงความประสงค์ตามความปรารถนาดังนี้
- ความปรารถนาที่ 1 : ปรารถนาเลือกบุคคลที่จะมาตัดสินแทนได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้
- ความปรารถนาที่ 2 : ปรารถนาวิธีการดูแลตามที่ผู้ป่วยต้องการ และปฏิเสธการดูแลที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ
- ความปรารถนาที่ 3 : ปรารถนาที่จะใช้วิธีการดูแลที่จะก่อให้เกิดความสบายกาย สบายใจ ตามที่ผู้ป่วยต้องการ
- ความปรารถนาที่ 4 : ปรารถนาที่จะเลือกผู้มาปฏิบัติดูแลหรือการกลับไปดูแลที่บ้าน
- ความปรารถนาที่ 5 : ปรารถนาที่จะพบคนที่ต้องการเพื่อกล่าวลาครั้งสุดท้ายหรือเพื่อขอโทษในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน ฯลฯ รวมถึงการจัดงานศพของตนเอง
ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิต่างๆ มากขึ้น นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ระบุถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งได้รวมสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองไว้ด้วย โดยประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่คุ้มครองการทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาด้วยตนเอง ภายใต้การให้คำปรึกษาของแพทย์เกี่ยวกับอาการของโรคและวิธีการรักษา และเมื่อผู้ป่วยต้องการทำหนังสือแสดงเจตนาสามารถปรึกษาผู้ดูแลหรือสามารถดูแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วยได้ที่ www.thailivingwill.in.th
ข้อมูลอ้างอิง : สำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), โรงพยาบาลพญาไท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง