การโกหกอาจไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป และในชีวิตของคนทั่วไปคงต้องเคยผ่านการโกหกมาบ้างอย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์อะไรบางอย่าง แต่ถ้าหากต้องโกหกทุกวันทุกเวลาจนเป็นนิสัยที่นำพาให้ชีวิตตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อนเพราะคำโกหกของเรา อาจสะท้อนถึงปัญหาหรือความกดดันภายในจิตใจเบื้องลึกก็เป็นได้
สาเหตุที่ทำให้เราต้องโกหก
ทีมจิตแพทย์โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (BMHH) เผยว่าการโกหกเป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปในสังคม เรามักใช้การโกหกเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เช่น หลีกเลี่ยงการโดนดุ เพื่อความสบายใจ เพื่อให้ได้รับสิ่งที่มีค่าบางอย่างกลับคืนมา การโกหกนั้นเป็นพฤติกรรมที่มีความซับซ้อนทางจิตวิทยา ทุกคนล้วนแต่เคยมีการโกหกเกิดขึ้นในชีวิต หากแบ่งสาเหตุให้เข้าใจง่าย การโกหกอาจเกิดจาก
1. ปัจจัยทางจิตใจ
มีความกลัว หรือวิตกกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ทำงานไม่เสร็จตามกำหนด กลัวหัวหน้าตำหนิ จึงโกหกว่าป่วย เป็นต้น บางคนอาจจะมีปมในใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่มั่นคง ต้องการการยอมรับหรือคำชื่นชม อาจจะโกหกว่าเรียนจบสูง ประสบความสำเร็จในการทำงาน ส่วนหนึ่งของการเกิดปมในใจอาจจะเป็นประสบการณ์ในวัยเด็กของคนนั้นๆ

...
2. ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ
เช่น มีความกดดันทางการเงิน หรือความกดดันทางสังคมที่ให้ค่ากับความสำเร็จ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ชื่อเสียง หรือความร่ำรวย จึงทำให้มีการโกหกเพื่อให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
3. ปัจจัยทางชีวภาพหรืออาการเจ็บป่วยทางจิตเวช
เช่น โรคที่มีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าซึ่งมีหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม ผู้ป่วยโรควิตกกังวลอาจจะโกหกเพื่อคลายความรู้สึกกังวลในบางเรื่อง หรือโรคทางบุคลิกภาพที่ผิดปกติ อาทิ บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม หรือบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง
การโกหกแบบใดถึงเข้าข่ายภาวะทางจิตเวช
การโกหกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคทางจิตเวช เป็นเพียงพฤติกรรมที่ทำให้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเท่านั้น แต่เมื่อการโกหกเกิดขึ้นอย่างรุนแรง บ่อยครั้ง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจเป็นอาการของความผิดปกติทางจิตเวชบางประเภทได้ ทั้งนี้ การจะวินิจฉัยว่าเป็นอาการป่วยทางจิตเวชหรือไม่ จิตแพทย์จำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่มากเพียงพอ จึงจะทำการระบุได้
การโกหกที่ทำจนเป็นนิสัย มี 2 แบบ
- การโกหกตัวเอง (Pathological Liar) : เป็นภาวะที่โกหกเป็นนิสัยโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน หรือได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย บางครั้งเป็นการหลอกตัวเอง เพื่อให้ตนเองรู้สึกสบายใจ เป็นรูปแบบหนึ่งของการหนีปัญหา
- การโกหกเป็นนิสัย (Compulsive Liar) : การโกหกเป็นนิสัยเป็นการหลอกลวง หรือบิดเบือนความจริงต่อผู้อื่น ซึ่งเจ้าตัวยังรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร เป็นการโกหกที่อยู่ในจิตสำนึก
คนที่โกหกจนเป็นนิสัย แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
- ไม่ตระหนักรู้ : บางคนอาจไม่ตระหนักว่าพฤติกรรมการโกหกของตนผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าการโกหกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
- ตระหนักรู้บางส่วน : บางคนอาจรู้ว่าตนโกหกมากเกินไป แต่ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมนี้ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โกหกทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ
- ตระหนักรู้เต็มที่ : บางคนตระหนักถึงปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ แต่อาจรู้สึกอับอายหรือไม่รู้วิธีขอความช่วยเหลือ ซึ่งในกรณีนี้ การโกหกมักจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์หรือการงาน มีความรู้สึกวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการโกหกได้แม้จะพยายาม

วิธีสังเกตคนโกหกและป้องกันตนเองจากการถูกหลอก
การรู้เท่าทันและป้องกันตนเองจากการถูกหลอกลวงเป็นทักษะสำคัญในสังคมปัจจุบัน สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจจะมีการโกหก ซึ่งพอปรับใช้ได้ คือ
- ความไม่สอดคล้องในเรื่องราวที่เล่า อาจจะมีรายละเอียดที่ขัดแย้งกันเอง หรือเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครั้งที่คุยกับเรา
- คนที่โกหกมักจะหลีกเลี่ยงการตอบคำถามโดยตรง เปลี่ยนหัวข้อหรือให้ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องแทน
- อาจจะให้รายละเอียดมากเกินไปหรือน้อยเกินไป โดยอาจให้รายละเอียดมากเกินไปในบางส่วนเพื่อดูน่าเชื่อถือ หรือให้รายละเอียดน้อยเกินไปในส่วนที่สำคัญ
- ภาษากายที่แสดงความกังวล เช่น การหลีกเลี่ยงการสบตา การสัมผัสใบหน้าหรือปากบ่อยครั้ง การแสดงสีหน้าที่ไม่เข้ากับเรื่องที่เล่า
- การโต้ตอบที่รวดเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป การตอบคำถามเร็วเกินไปอาจแสดงถึงการเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า ในขณะที่การตอบช้าเกินไปอาจบ่งชี้ถึงการแต่งเรื่อง
...

พฤติกรรมการโกหกมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ อาจจะไม่ง่ายในการสังเกต ฉะนั้นการป้องกันตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมา จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ฝึกตั้งคำถามจากหลายๆ มุมมอง ไว้ใจสัญชาตญาณตนเอง หากรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ ควรหาข้อมูลเพิ่ม ควรระมัดระวังสถานการณ์ที่มีแรงกดดันสูง เพราะอาจจะทำให้เราตัดสินใจเร็วและผิดพลาด เช่น แก๊งมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การติดตามข่าวสารรูปแบบการหลอกลวงที่พบในสังคมปัจจุบัน ท้ายที่สุด คือ ใช้สติในการเตือนตนเองก่อนจะเชื่อใคร
แม้ว่าการโกหกครั้งคราวจะเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ แต่เมื่อการโกหกกลายเป็นนิสัยหรือส่งผลกระทบต่อชีวิต ควรได้รับการประเมินและช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต การทำความเข้าใจสาเหตุและรูปแบบของการโกหก สามารถช่วยให้เราเลือกวิธีการรับมือที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือตนเองหรือผู้อื่น