นานๆทีจะมีโอกาสจับต้อง พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ คุณลักษณะเนื้อพระ ครบสูตรที่ครูตรียัมปวาย เรียก เนื้อขนมตุ้บตั้บ...สักองค์
เรื่องที่ชวนคุยกันวันนี้ จึงควรมีแค่สองหัวข้อ ปรกโพธิ์ กับเรื่องเนื้อ
หัวข้อแรก เรื่องพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์นี้คุยกันไปหลายครั้ง ครั้งนี้เอาพอเป็นเค้า
ใน “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง” เล่มพระสมเด็จฯ ตรียัมปวาย เขียนไว้สองแม่พิมพ์ องค์พิมพ์ปรกโพธิ์ฐานแซม ร่องชาด หลังกระดาน ที่รู้กันพอสมควร และอีกพิมพ์ ปรกโพธิ์สังฆาฏิ
อย่าเพิ่งมโน...ไปก่อน เส้นสายลายพิมพ์นี้ ก็แค่เอาพิมพ์สังฆาฏิจากพิมพ์กรุบางขุนพรหม... มาเติมใบโพธิ์ พิมพ์นี้ แม้ครูจะอธิบาย เป็นพิมพ์ผสมระหว่าง พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ทรงเจดีย์ และพิมพ์สังฆาฏิ...
แต่ดูจากภาพ (ขาวดำเล็ก) ก็จับเค้า ได้ เป็นพิมพ์องค์ในคอลัมน์วันนี้...ที่จริงจะเรียก ปรกโพธิ์เกศบัวตูม ที่เห็นกันเจนตา สั้นกระชับกว่าก็น่าจะได้
ปรกโพธิ์เกศบัวตูม แม้รู้กันว่าในจำนวนสมเด็จวัดระฆังห้าแม่พิมพ์ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม...พิมพ์ปรกโพธิ์
พิมพ์ปรกโพธิ์พิมพ์สุดท้าย ที่ว่ามีพบน้อยที่สุด หายากที่สุด แต่ก็มีของปลอมออกมาเกลื่อนตา
คนรักพระอาจจะสับสนกับปรกโพธิ์ปลอมเสียจนเผลอเมินปรกโพธิ์วัดระฆัง ของแท้ เนื้อหาจัดจ้าน ที่ยังมีปะปนอยู่กับปรกโพธิ์ปลอมอยู่บ้าง หากตาถึง โอกาสจะเจอปรกโพธิ์วัดระฆังแท้ ก็คงมีไม่ยากจนเกินไป
เข้าประเด็นเนื้อหา ปรกโพธิ์วัดระฆังองค์นี้ เนื้อขาวอมเหลือง ระดับเนื้อออกหยาบ เข้าแว่นสิบเท่า ก็พอเป็น “ก้อนขาว” ปะปน อยู่กับ กากดำ เม็ดแดง ในพื้นผนัง
แต่ระดับความหยาบ ไม่เท่ากับเนื้อที่เรียก “กระยาสารท” คนรุ่นครูตรียัมปวาย คุ้นกับขนมตุ้บตั้บ ที่คุ้นปากหาซื้อได้จากร้านกาแฟข้างบ้าน ทั้งสีสันของเนื้อขนม เนื้อผสมระหว่างถั่วลิสงกับน้ำตาล จึงนำมาเรียกเป็นชื่อเนื้อพระซะเลย
...
ครูตรียัมปวายบอกว่า เนื้อนี้มีมวลสารคลุกเคล้ากันในลักษณะหยาบๆ ไม่สมัคร สมานเข้ากันสนิท ทำให้เห็นลักษณะของเนื้อที่มีวัสดุหลายอย่างรวมกันอยู่เป็นหย่อมๆเนื้อนี้ ครูว่า ปรากฏทั้งวัดระฆัง และบางขุนพรหม
อ่านมาถึงตรงนี้ ขอให้ดูภาพองค์พระ ประกอบคำอธิบาย ลักษณะเด่นของเนื้อ มีความแกร่ง เนื่องจากเป็นเนื้อแก่ปูนขาวประเภทหนึ่ง จึงมีความแกร่งจัดผิวค่อนข้างหนาเรียบ เสียงกระทบหนักแน่น สดใสและกังวาน ความพลิ้วไหวมีความถี่จัดที่สุด
ระดับความซึ้งปานกลาง เป็นความซึ้งซึ่งเกิดจากอนุภาควรรณะหมุ่นคล้ำของอิทธิวัสดุ กับสารปูนขาวผสมเถ้าธูปวรรณะขาวขุ่น แกมเทาสวาทอ่อน คล้ายสีน้ำข้าวเจือเทาอ่อน รวมกันเป็นหย่อมๆ และลึกลงไปภายในเนื้อ
และมักจะมีเม็ดผงใบลานเผากระจายอยู่บางๆทั่วไป
น้ำหนักค่อนข้างตึงมือ มีความหนึกแกร่งอย่างจัด ผิวเนื้อมีลักษณะเป็นผิวปูนละลายตัว ค่อนข้างหนา เนื่องจากผิวเนื้อค่อนข้างราบเรียบ จึงเกิดเงาสว่างตามธรรมชาติจากการสัมผัสเสียดสีต่างๆ จึงเป็นความฉ่ำที่สดใสของผิวเนื้อจากเงาสว่าง และเกิดมิติที่สามของเนื้ออีกด้วย
ระดับความนุ่ม แฝงอยู่ในเนื้อที่แกร่งจัด แต่เป็นผลที่เกิดจากเงาสว่าง และความซึ้งบนผิวพื้นของเนื้อ ช่วยให้ผิวเนื้อนวลสดใส
เหล่านี้คือคุณลักษณะของเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์เกศบัวตูม...ที่หากเข้าแว่นสิบเท่าแล้วจะเห็นว่า มีรายละเอียดลึกซึ้งซับซ้อนกว่า เนื้อขนมตุ้บตั้บจริงๆหลายเท่าทีเดียว.
พลายชุมพล
คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม