สิ้นสุดลงแล้วสำหรับกระบวนการคอนเคลฟ (Conclave) การเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2025 ที่ผ่านมา และในช่วงเย็นวันที่ 8 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น คณะพระคาร์ดินัล ได้เลือกพระคาร์ดินัล โรเบิร์ต เพรวอสต์ ชาวอเมริกัน เป็นประมุของค์ใหม่แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก พระองค์ทรงเลือกใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 14

ท่ามกลางการรายงานข่าวในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส การจัดพิธีพระศพ มาจนถึงการเลือกโป๊ปองค์ใหม่ เราจะได้เห็นทหารในชุดสีสันฉูดฉาด ถือทวนเหล็ก สวมหมวกพู่ คอยทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยตลอดทุกขั้นตอน พวกเขาเหล่านี้คือ “สวิสการ์ด” กองกำลังอารักขาโป๊ป ที่มีประวัติยาวนานกว่า 500 ปี และพร้อมพลีชีพเพื่อปกป้องพระสันตะปาปา พวกเขาเป็นใคร ไทยรัฐออนไลน์ พาไปทำความรู้จักกัน

สวิสการ์ด องครักษ์พิทักษ์โป๊ป 

สวิสการ์ด มักถูกเรียกว่า กองทัพที่เล็กที่สุดในโลก โดยเป็นทหารชาวสวิสที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสมเด็จพระสันตะปาปา คอยคุ้มกันขณะพระองค์ออกไปปฏิบัติศาสนกิจทั้งในและต่างประเทศ เป็นยามรักษาการณ์จุดเข้าออกนครรัฐวาติกันและ ดูแลความปลอดภัยของปราสาทกันดอลโฟซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศของพระสันตะปาปา รวมถึงดูแลความปลอดภัยของเหล่าพระคาร์ดินัลที่มารวมตัวกันเพื่อร่วมพิธีศพและเลือกตั้งโป๊ปองค์ใหม่ในระหว่างที่ตำแหน่งว่างเว้นลงด้วย

...

จุดเริ่มต้นของ สวิสการ์ด ทำไมต้องเป็นชาวสวิสเท่านั้น

ทหารรับจ้างชาวสวิส มีชื่อเสียงเลื่องลือมาอย่างยาวนานว่าเป็นทหารที่เก่งที่สุดในโลก ในอดีตพวกเขารับใช้เหล่าผู้มีอำนาจและหลายราชวงศ์ในยุโรป โดยเป็นที่ต้องการอย่างมากโดยเฉพาะในสเปนและฝรั่งเศส ทหารรับจ้างชาวสวิสได้เริ่มเข้ามาทำงานกับรัฐสันตะปาปา ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 14 จนกระทั่งในปี ค.ศ.1505 มัทเทอุส ชิเนอร์ บิชอปชาวสวิส เสนอต่อสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 (ยูลิอุสที่ 2)ให้มีการตั้งกองกำลังทหารเพื่อดูแลความปลอดภัยเป็นการถาวร โดยอยู่ใต้การบริหารโดยตรงของพระสันตะปาปา และในปีต่อมา ค.ศ.1506 กองกำลังสวิสการ์ด ก็ถูกตั้งขึ้น มีทหารรุ่นแรก 150 นาย และได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

วีรกรรมที่กล้าหาญอันโด่งดังของสวิสการ์ดเกิดขึ้นเมื่อปี 1527 ในช่วงเหตุการณ์การปล้นกรุงโรม (the Sack of Rome) ทหารรับจ้างชาวสเปนและอิตาลีที่อยู่ในกองทัพของจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 ไม่พอใจที่ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลานาน ได้บุกเข้าปล้นพระราชวังและบ้านเรือนรวมถึงโจมตีรัฐสันตะปาปา กองกำลังสวิสการ์ดได้ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อปกป้องพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 จนพระองค์สามารถหลบหนีได้ปลอดภัย โดยสวิสการ์ด 189 นาย รอดชีวิตมาได้เพียง 42 นายเท่านั้น จากเหตุการณ์นี้สร้างความประทับใจให้รัฐสันตะปาปาอย่างมาก และยังคงจ้างสวิสการ์ดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน 

คุณสมบัติของ สวิสการ์ด 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสวิสการ์ด จะต้องเป็นผู้ชายสัญชาติสวิส อายุ 19-30 ปี สูงเกิน 174 ซม. ยังไม่ผ่านการแต่งงาน เป็นชาวคาทอลิกที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าและไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย โดยพวกเขาต้องเรียนจบชั้นมัธยมปลายหรืออนุปริญญา ผ่านการเป็นทหารในกองทัพสวิตเซอร์แลนด์และผ่านการประเมินทางจิตวิทยาอย่างเข้มข้น

แม้ผู้คนจะได้เห็นสวิสการ์ดถือทวนเหล็กเป็นอาวุธประจำกายจนชินตา แต่พวกเขาได้รับการฝึกให้ใช้อาวุธสมัยใหม่ ฝึกการอพยพผู้คน ศิลปะการป้องกันตัวรวมถึงทักษะต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความพยายามลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ในปี 1981

สวิสการ์ด ต้องให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่รับใช้โป๊ปอย่างน้อย 2 ปี และจะสามารถแต่งงานได้เมื่อทำหน้าที่มาแล้ว 5 ปีและมีอายุเกิน 25 ปี โดยพิธีสาบานตนจะจัดขึ้นทุกวันที่ 6 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเดียวกับเหตุการณ์นองเลือดในปี 1527 เพื่อรำลึกถึงทหารที่สูญเสียชีวิตไป

...

พวกเขาเป็นอิสระจากกองทัพสวิส และอยู่ภายใต้การว่าจ้างโดยตรงจากวาติกัน โดยทำงานเป็นกะ กะละ 6 ชั่วโมง บางวันที่งานยุ่งก็ต้องควบกะ 12 ชั่วโมง และได้รับเงินเดือนประมาณ 1,800 ฟรังก์สวิส (ราว 7.1 หมื่นบาท) ไม่รวมค่าล่วงเวลา พร้อมที่พักและอาหารฟรี

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันบทบาทของสวิสการ์ดเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตบ้าง ส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องพิธีการและอีกส่วนเป็นการรักษาความปลอดภัย โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเคยบอกว่าพวกเขาเป็น “ผู้ส่งสาร” ของพระองค์ เพราะหนึ่งในภารกิจใหญ่ในปัจจุบันคือการปลอบโยน ให้ความสบายใจแก่ผู้ที่เดินทางมายังวาติกันเพื่อขอความช่วยเหลือ

โฆษกของสวิสการ์ด เคยกล่าวกับ CNN ว่า ผู้คนที่เดินทางมายังวาติกันหลายคนกำลังหมดหวัง บ้างก็สูญเสียบ้านหรือกำลังตกงาน หลายคนคิดจะจบชีวิตตัวเอง อีกหน้าที่ของสวิสการ์ดจึงเป็นพยายามป้องกันไม่ให้พวกเขาทำเช่นนั้น ในบางครั้งสถานการณ์เหล่านี้อาจยากลำบากแต่พวกเขาต้องหาทางช่วยเหลือ และแค่เพียงการรับฟังก็สามารถช่วยได้

ขอบคุณ : britannicatheguardian

...