“เอริก เทน ฮาก” กับเวลา 18 เดือน และเงินที่วอดวายไปรวมกันถึง 411 ล้านปอนด์ (17,910 ล้านบาท) ควรอยู่ต่อ หรือ พอแค่นี้ และคำถามจากแฟนบอลถึงกุนซือชาวดัตช์ 5 นักเตะที่ยูไนเต็ด มีไว้ทำไม?...
ระยะเวลา 18 เดือน กับ 3 ตลาดการซื้อขายนักเตะ และฟ่อนธนบัตรที่วอดวายไปแล้วมากกว่า 411 ล้านปอนด์ (17,910 ล้านบาท) แลกกับ 8 นักเตะ (เฉพาะที่ใช้เงินทุ่มซื้อถาวรไม่รวมนักเตะยืมตัว) หากแต่ปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่ได้คือ “โรงละครแห่งความฝัน” (Theatre of Dream) ได้แปรสภาพไปเป็น "Theatre of Nightmares for United Supperters" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว! หลังความพ่ายแพ้แบบ “คาบ้าน” 2 นัดติดต่อกัน กับ “เพื่อนบ้านผู้น่ารำคาญ” และ “สโมสรมหาเศรษฐีบ่อน้ำมัน”
อย่างไรก็ดีสำหรับประเด็น “คาบ้าน” กลับไม่ใช่ประเด็นหลักที่บรรดา “Red Devil” กำลังตั้งข้อสงสัยถึง “เอริก เทน ฮาก” และบรรดาลูกสมุนอสูรแดง เท่ากับว่า “เพราะอะไร?...พวกคุณจึงลงไปเล่นฟุตบอลราวกับซอมบี้” มากกว่า มนุษย์คนหนึ่งที่ลงไปอวดฝีเท้าให้สมกับ “ความภาคภูมิ” ในฐานะผู้สวมยูนิฟอร์มโลโก้ปิศาจถือสามง่ามกันแน่?”
...
“เอริก เทน ฮาก” กุนซือผู้ถือครองสถิติ แข่ง 210 นัด ชนะ 156 นัด เสมอ 25 นัด แพ้ 29 นัด ผลต่างประตูได้เสีย +400 ประตู! และมีค่าเฉลี่ยพาทีมคว้าชัยชนะถึง 74.28%! จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้จัดการทีมที่ร้อนแรงที่สุดในยุโรป” เมื่อครั้งคุม "สโมสรอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม" ในช่วงระหว่างปี 2017 - 2022 (สิ้นสุดวันที่ 22 เมษายน 2022) กำลังพาตัวเองเข้าสู่สถานะที่ยากลำบาก เช่นเดียวกับ อดีตกุนซือหลายๆ คนที่พาเหรดเอาชื่อเสียงของตัวเองมาโยนทิ้งที่ “โอลด์ แทรฟเฟิร์ด” หรือไม่? วันนี้ “เรา” ลองไปพิจารณา “ข้อมูลต่างๆ” เพื่อประกอบการวิเคราะห์ในเรื่องนี้กันดู...
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : เอริก เทน ฮาก ผู้พร้อมเปลี่ยนแปลง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สู่ความสมบูรณ์แบบ
มรสุมปัญหาการกระทบกระทั่งเหล่าสตาร์ยูไนเต็ด :
18 เดือนที่ผ่านมา “เอริก เทน ฮาก” ต้องเอาตัวเข้าแลกกับการแก้ปัญหาก้อนใหญ่ๆ จนถึงขั้นต้องไปกระทบกระทั่งกับบรรดานักเตะขาใหญ่ในห้องแต่งตัวของยูไนเต็ดมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอดีต Mega Star เบอร์หนึ่งของทีม อย่าง “คริสเตียโน โรนัลโด”, การริบปลอกแขนกัปตันทีมจาก “แฮร์รี แม็คไกวร์”, การจากลาแบบไม่ให้เกียรติในสายตาสาวกปิศาจแดงจากกรณีของ วากาบายาชิ เวอร์ชันสเปน “ดาบิด เด เคอา” และล่าสุดการเลือกยอมหักไม่ยอมงอกับ “เจดอน ซานโช”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : โรนัลโด และ แมนยูฯ การจากลาที่อาจไม่เหลือแม้รอยอาลัย
ซึ่งหากถามว่า...ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ไม่ได้สร้างความรู้สึกใดๆ เลย กับบรรดาเพื่อนๆ นักเตะคนอื่นๆ ในทีมเลยใช่หรือไหม? คำตอบจากพื้นฐานความคิดธรรมดาๆ ของคนทั่วๆ ไป ก็คงต้องตอบว่า “ไม่ใช่อย่างแน่นอน” เพราะนักเตะก็เป็นมนุษย์มีเลือดมีเนื้อและชีวิตจิตใจ เมื่อต้องเห็น “เพื่อนสนิท” โดยเฉพาะบรรดานักเตะซุปตาร์ขาใหญ่ที่อยู่กับทีมมาเนิ่นนานต้องประสบชะตากรรมอันเกิดจากการกระทำของ “เจ้านายคนใหม่” ที่ยังไม่ได้ถึงกับ “มอบกายมอบใจให้ชนิดเต็ม 100%” แรงสะท้อนมันจึงอาจเกิดขึ้นได้บ้างเป็นธรรมดา
...
และประเด็นหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือ การเลือกตัดสินใจหอบหิ้วนักเตะคู่ใจและเหล่าศิษย์เก่าอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัมคอนเนกชันมาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็นทั้ง “ลิซานโดร มาร์ติเนซ”, “แอนโทนี เดอะหมุน” (86 ล้านปอนด์ หรือ 3,747 ล้านบาท ซื้อมาเพื่อ?), “อังเดร โอนานา”, “คริสเตียน อีริคเซน” แถมยัง “อุ้มชู” ให้เป็นขึ้นเป็นแกนหลักของทีมในทันที (ในกรณีนี้ยังไม่นับรวมนักเตะที่ถูกดึงตัวเข้าสู่ทีมโดยมีภูมิหลังที่เกี่ยวโยงกับเอเรดิวิซีลีก เช่น “ไทเรลล์ มาลาเซีย”, “โซฟียาน อัมราบัต” และ “เวาท์ เวกฮอร์สต์”)
ในด้านหนึ่งแน่นอน...คำตอบของเรื่องนี้ คือ “เอริก เทน ฮาก” ย่อมต้องคาดหวังว่ากลุ่มนักเตะเหล่านี้จะสามารถ “ตอบโจทย์” เรื่องแทคติก Build up และ High-pressing ที่เจ้าตัวปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะนำมาติดตั้งให้กับยูไนเต็ดในยุคนี้ได้อย่างรวดเร็ว
แต่ในอีกด้านหนึ่ง... “สิ่งที่ต้องแลกมา” คือ มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า?... มันอาจทำให้เกิดความไม่พึงพอใจและการตั้งแง่จากกลุ่มนักเตะเก่าที่อาจไม่พอใจหรือไม่เชื่อมั่นใน “ระบบใหม่” ที่ “เจ้านายคนใหม่” ต้องการนำมาติดตั้งให้กับทีม เรื่อยไปจนกระทั่งถึง เป็นไปได้ไหมว่า... ประเด็นนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า “อาแจ็กซ์คอนเนกชัน” (หรือ ฮอลแลนด์คอนเนกชัน) กำลังทำให้นักเตะบางคนได้รับโอกาสมากกว่ากลุ่มนักเตะเก่า!
...
โดยเฉพาะในกรณีที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนอย่าง “ลูกรักเดอะหมุน” ที่ไม่ว่าจะเล่นได้ย่ำแย่ขนาดไหนก็มักจะได้ลงเป็นตัวจริงอยู่ร่ำไป ซึ่งผิดแผกไปจากกรณีของ “เจดอน ซานโช” ที่ก่อนหน้านี้มักถูกจับเป็นตัวสำรอง หรือ ได้ลงเล่นในตำแหน่งที่ไม่ถนัด (ส่วนมากมักถูกจับไปเล่นบท False 9) รวมถึงถูกตำหนิออกสื่ออย่างโจ่งแจ้ง ทั้งๆ ที่จะว่าไป...ปีกสัญชาติอังกฤษผู้นี้ ยังไม่เคยไปก่อเรื่องอื้อฉาวนอกสนามจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตเหมือนกับกรณี “แอนโทนี” เสียด้วย!
แล้วก็มาถึงคำถามที่เด็กผีกำลังอยากรู้? จริงหรือไม่ที่ “กุนซือชาวฮอลแลนด์” สูญเสียอำนาจในห้องแต่งตัวไปแล้ว หลังนักเตะยูไนเต็ดลงเตะราวกับไม่ได้พกใจลงสนามในแมตช์คาบ้าน 2 นัดล่าสุด?
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : แมนยูฯ กับ 35 นาทีแห่งความอับอายกำลังบอกอะไร?
...
“เวย์น รูนีย์” อีกหนึ่งตำนานนักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้ความเห็นกับ Skysports ในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
“ผลการแข่งขันอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่นักเตะยูไนเต็ดต้องการ แต่นักเตะทุกคนต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ผมรู้จักผู้เล่นชุดนี้บางคน พวกเขาไม่ได้ทำผลผลงานในระดับที่ผมรู้ว่าพวกเขาสามารถทำมันได้ แต่อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว มันต้องเริ่มต้นและจบลงด้วยผู้จัดการทีม เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการทำงานในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอล
เอริก เทน ฮาก อาจต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปอีก 1-2 สัปดาห์ แต่เหล่านักเตะสามารถทำอะไรที่มากกว่าที่เคยทำเพื่อเขาได้เช่นกัน”
ปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะ :
“ลิซานโดร มาร์ติเนซ” เซ็นเตอร์แชมป์โลกที่ไว้วางใจได้มากที่สุดในยูไนเต็ดยุคนี้ และ “ลุค ชอว์” แบ็กซ้ายตัวหลักที่สามารถตอบโจทย์การลงเล่นในสารพัดตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย รวมถึง “ไทเรลล์ มาลาเซีย” แบ็กซ้ายจอมบ้าดีเดือด “เจ็บยาวๆ ไป”
ด้าน “อารอน วาน-บิสซากา” แบ็กขวา, “ราฟาเอล วาราน” อีกหนึ่งเซ็นเตอร์คนสำคัญ ก็มักจะประสบปัญหาบาดเจ็บออดๆ แอดๆ กันอยู่เป็นประจำ ส่วน “เซร์คิโอ เรกีลอน”, “โซฟียาน อัมราบัต”, “เมสัน เมาท์” และ “ราสมุส ฮอยลุนด์” เป็นกลุ่มนักเตะที่เพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งนั่นอาจหมายถึง...อาจจะยังมีปัญหาเรื่องความฟิตที่ยังไม่ถึง 100% เต็มที่ดีนักก็เป็นได้ ซึ่งจากรายชื่อนักเตะบาดเจ็บ..จะเห็นได้ชัดเจนว่า “เอริก เทน ฮาก” มีปัญหาในการจัดผู้เล่น โดยเฉพาะแนวรับให้กับทีมอย่างแน่นอนในช่วงเวลานี้
Build up & High-pressing :
“เราจะไม่เล่นฟุตบอลในแบบฉบับของอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัมที่นี่”
การให้สัมภาษณ์ของ “เอริก เทน ฮาก” หลังยูไนเต็ดพ่ายแพ้คาบ้านต่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยฟอร์มการเล่นอันย่ำแย่เกินบรรยาย ทำเอาเหล่าผู้ขายวิญญาณให้กับปิศาจซึ่งคาดหวังจะได้เห็น Total Football อันเพริศแพร้วสวยงามบนผืนหญ้าสนามโอลด์ แทรฟเฟิร์ด ต่างต้องตกตะลึงไปตามๆ กัน
หากแต่ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ กุนซือหนุ่มผู้นี้ได้ให้เหตุผลที่อาจจะไปสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นเพิ่มเติมภายในทีมโดยไม่จำเป็นที่ว่า... “เพราะตอนนี้ผมมีนักเตะที่ผมรู้สึกว่า เหมาะสมกับสไตล์การเล่นแบบ Direct football มากกว่า” (พูดทำเพื่อ...?)
แต่คำถามคือ จริงหรือไม่?...ที่เหล่านักเตะยูไนเต็ดชุดนี้ “ไม่เหมาะสม” กับแทคติก Build up & High-pressing ตามที่ “เอริก เทน ฮาก” ตั้งประเด็นขึ้น! เช่นนั้น “เรา” ลองไปสำรวจสถิติที่อาจจะพอให้ “คำตอบ” ในประเด็นนี้ร่วมกัน
High-pressing :
สถิติการลงเล่นในพรีเมียร์ลีกของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 2023/2024 หลังผ่านไป 10 นัด :
สถิติการแย่งบอลกลับมาครอบครองในพื้นที่แดนบน (Possession won Final Third) : 71 ครั้ง อันดับ 1
สถิติการแย่งบอลกลับมาครอบครองในพื้นที่แดนกลาง (Possession won Middle Third) : 232 ครั้ง อันดับ 2
สถิติการไล่บีบคู่แข่งในแดนบน (High Turnovers) : 104 ครั้ง อันดับ 1
สถิติการไล่บีบคู่แข่งในแดนบนจนนำไปสู่การยิงประตู (Shots From High Turnovers) : 17 ครั้ง อันดับ 4
สถิติการจ่ายบอลของฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่ตัวเองก่อนถูกเข้าสกัดในแดนบน (PPDA) : 12.6 ครั้ง อันดับ 10
อ้างอิงข้อมูล : Skysports
จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นักเตะยูไนเต็ดทำได้ดีในแง่การสนองแทคติกเข้าบีบคู่ต่อสู้ในแดนบนของ “เอริก เทน ฮาก” เมื่อเป็นแบบนี้ “ปัญหาคืออะไร?”
คำตอบจากการวิเคราะห์ของ Skysports คือ ฝ่ายตรงข้ามสามารถจ่ายบอลผ่านกลุ่มผู้เล่นของยูไนเต็ดที่เข้าบีบสูง ได้มากกว่าฤดูกาลที่แล้ว เฉลี่ยถึงมากกว่า 30 ครั้งต่อเกม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสพาบอลเข้าไปยังพื้นที่กรอบเขตโทษของแมนยูฯ ได้มากขึ้นและมีโอกาสยิงประตูเพิ่มขึ้นด้วย ดังจะได้เห็นได้จากทีมคู่แข่งมีโอกาสยิงเข้ากรอบประตูแมนยูฯ เฉลี่ยถึง 5.4 ครั้งต่อเกม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3.8 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในฤดูกาลที่แล้ว
ซึ่ง “ค่าเฉลี่ยสถิติ” ที่ย่ำแย่ลงนี้ ส่วนหนึ่ง Skysports เชื่อว่าน่าจะเกิดจากปัญหานักเตะกำลังหลักได้รับบาดเจ็บพร้อมๆ กันหลายคนโดยเฉพาะผู้เล่นกองหลัง อีกทั้งในแดนมิดฟิลด์การมาถึงของผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง “เมสัน เมาท์” และ “โซฟียาน อัมราบัต” อาจยัง “ต้องการเวลา” ในการปรับตัวให้เข้ากับแทคติกของผู้เป็นกุนซือด้วย
Build up :
สถิติการผ่านบอลในพรีเมียร์ลีกของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 2022/2023
ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลต่อเกม : 502.26 ครั้งต่อเกม
ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลสำเร็จ : 82%
สถิติการโยนบอลจากด้านข้าง : 517 ครั้ง (38นัด) 13.6 ครั้งต่อเกม
ค่าเฉลี่ยความแม่นยำการโยนบอลจากด้านข้าง : 23%
การสร้างสรรค์โอกาสในการทำประตู : 84 ครั้ง (38นัด) : 2.2 ครั้งต่อเกม
สถิติการผ่านบอลในพรีเมียร์ลีกของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 2023/2024
ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลต่อเกม : 511 ครั้งต่อเกม
ค่าเฉลี่ยการผ่านบอลสำเร็จ : 84%
สถิติการโยนบอลจากด้านข้าง : 194 ครั้ง (10 นัด) 19.4 ครั้งต่อเกม
ค่าเฉลี่ยความแม่นยำการโยนบอลจากด้านข้าง : 19%
การสร้างสรรค์โอกาสในการทำประตู : 18 ครั้ง (10 นัด) : 1.8 ครั้งต่อเกม
อ้างอิงข้อมูล : Premier League
ในเมื่อสถิติการจ่ายบอลเมื่อฤดูกาลที่แล้วและฤดูกาลนี้ “ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก” แล้วอะไรคือปัญหา? เราไปรับฟังบทวิเคราะห์จาก “อาเซน เวนเกอร์” อดีตบรมกุนซือของอาร์เซนอล ซึ่งหล่นความเห็นในประเด็นนี้กับ BeIN Sports เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า....
“สำหรับประเด็นนี้ ผมขอแบ่งเป็นสองส่วน ในส่วนแรกช่องว่างระหว่างกองหน้าและแนวรับของแมนยูฯ มีระยะห่างที่มากจนเกินไป เพราะในบางสถานการณ์เมื่อกองหน้าของยูไนเต็ด พยายามถอยลงมาเพื่อวิ่งเข้ากดดันฝ่ายตรงข้าม แนวรับของพวกเขากลับอยู่หลังแนวเส้นครึ่งสนามถึงเกือบ 20 เมตร ฉะนั้นเมื่อเกิดช่องว่างที่ใหญ่ขนาดนี้ ยูไนเต็ดจึงไม่สามารถแย่งบอลจากนักเตะของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้ และในส่วนที่สองต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า คุณภาพนักเตะรายบุคคล ระหว่างทั้งสองทีมนั้นยังมี ความแตกต่างกัน อีกด้วย”
เมื่อแย่งบอลไม่ได้ ก็เริ่มเกมรุกไม่ได้ และเมื่อเล่นเกมรุกไม่ได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ “ต้องตกเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว”
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : แมนยูฯ 17 ปีแห่งหนี้สินที่ตระกูลเกลเซอร์เป็นผู้ก่อ
คำถามจากแฟนบอลถึง “เอริก เทน ฮาก” 5 นักเตะที่ยูไนเต็ด มีไว้ทำไม?
1.“มาร์คัส แรชฟอร์ด” : สถิติลงเล่นในลีก 10 นัด ผลงาน 1 ประตู และ 1 Assists แทบมองไม่เห็นถึงจิตใจนักสู้ ซึ่งถือเป็น DNA ที่ควรถูกฝังลึกอยู่ในสายเลือดของเหล่ายูไนเต็ดทุกคน อยู่เลยแม้แต่น้อยในฤดูกาลนี้ หากแต่ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ การโดนเปลี่ยนออกท่ามกลางเสียงโห่ลั่นสนามโอลด์ แทรฟเฟิร์ด ไม่ได้สร้างความรู้สึกใดๆ ให้เกิดขึ้นกับเด็กปั้นของสโมสรรายนี้เลยอีกด้วย
2. “อองโตนี มาร์กซิยาล” : สถิติลงเล่นในลีก 8 นัด ผลงาน 0 ประตู และ 0 Assists เราได้เคยเห็นเหงื่อสักหยดบนเสื้อของกองหน้าฝรั่งเศสรายนี้ ในเวลาที่ลงเล่นให้กับยูไนเต็ดฤดูกาลนี้บ้างไหม?
3. “แอนโทนี เดอะหมุน” : สถิติลงเล่นในลีก 10 นัด ผลงาน 0 ประตู และ 0 Assists นอกจากสร้างความน่าอึดอัดปนรำคาญ (เต็มที) จากวิธีการเล่นที่เอาแต่หมุนไปหมุนมา แทนที่จะขับเคลื่อนให้ลูกบอลเดินทางเร็วขึ้นโดยเฉพาะในแดนหน้าแล้ว “เรา” เห็นประโยชน์อะไรจากนักเตะลูกรักของ “เอริก เทน ฮาก” คนนี้บ้างหรือไม่? และเกือบลืมบอกไป...ปีกมูลค่า 86 ล้านปอนด์รายนี้ ยิงประตูไม่ได้มา 19 นัดติดต่อกันแล้ว! (สิ้นสุด 3 พ.ย. 23)
4. “เมสัน เมาท์” : สถิติลงเล่นในลีก 10 นัด ผลงาน 0 ประตู และ 0 Assists เข้าสู่ทีมตามความต้องการอย่างโจ่งแจ้งของ “เอริก เทน ฮาก” แต่จนถึงบัดนี้ (สิ้นสุด 3 พ.ย. 23) ยังคงเกิดคำถามขึ้นดังๆ อยู่เสมอๆ ว่า ตกลงแล้วมิดฟิลด์ทีมชาติอังกฤษผู้นี้ถูกซื้อมาเพื่อลงเล่นในตำแหน่งใดกันแน่? แล้วศักยภาพอันแท้จริงที่ กุนซือวัย 53 ปี ได้แลเห็นจากนักเตะหมายเลข 7 คนใหม่ ในแบบที่บรรดาสาวกเรดเดวิด “ยังคงมองไม่เห็น” นั้น มันคืออะไรกันแน่?
5. “ดิโอโก ดาโลต์” : สถิติลงเล่นในลีก 9 นัด ผลงาน 1 ประตู และ 0 Assists เกมรับก็ไม่โดดเด่น เกมรุกก็ครอสบอลทิ้งขว้างเสียของนับไม่ถ้วน หากแต่ที่น่าแปลกคือ แบ็กขวาชาวโปรตุเกสรายนี้ยังคงได้รับโอกาสเป็นตัวจริงอย่างต่อเนื่อง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง