กลายเป็นสงครามส่อแววยืดเยื้อ หลังกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลครั้งรุนแรง ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยที่ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานเก็บผลไม้ จนเป็นเหตุให้มีรายงานคนไทยเสียชีวิตแล้ว 12 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันบางส่วน ขณะที่นักวิชาการประเมินว่าสงครามจะสงบเร็ว หรือช้า ขึ้นอยู่กับประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา จะเข้ามาเป็นตัวกลางหลังจากนี้
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เหตุโจมตีครั้งร้ายแรงของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล ครั้งนี้อิสราเอลเสียหายมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดสงครามขึ้นอย่างต่อเนื่องในดินแดน ตั้งแต่มีการปิดล้อมในฉนวนกาซาในปี 2007 ทำให้มีการสู้รบกัน แต่ว่าลักษณะของการสู้รบเป็นการยิงจรวดต่อสู้ไปในดินแดนของอิสราเอล
ขณะที่ อิสราเอล ส่งเครื่องบินรบเข้ามาโจมตีในฉนวนกาซา เป็นอย่างนี้หลายครั้ง แต่ว่าการโจมตีครั้งนี้แปลกไปกว่าครั้งก่อนๆ เพราะฮามาสส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเข้าไปในอิสราเอล ทำให้มีการสูญเสียจำนวนมาก ทั้งทรัพย์สิน และประชาชนที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

...
"เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผลเสียตกอยู่ที่อิสราเอล และคาดว่าสถานการณ์สงครามจะยืดเยื้อ ในลักษณะตอบโต้กันไปมาระหว่างสองฝ่าย โดยจะไม่จบลงภายใน 1-2 สัปดาห์"
การยุติสงครามของทั้งสองฝ่ายได้ ต้องดูที่ปัจจัยภายนอกร่วมด้วย โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการยุติความขัดแย้ง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ให้การสนับสนุนอิสราเอล ขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ในช่วงปรับความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นถ้าสงครามในอิสราเอลไม่สามารถยุติลงได้ สหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถผสานความสัมพันธุ์กับซาอุดีอาระเบียได้เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญคือ ชาติตะวันตกเองก็ไม่อยากสนับสนุนสงครามครั้งใหม่ เพราะสงครามในยูเครนกับรัสเซียก็ปะทุรุนแรงอยู่แล้ว ถ้ามีสงครามในอิสราเอลเพิ่มเข้ามาอีกจะทำให้การบริหารจัดการลำบากมากขึ้น
ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หลังฉนวนกาซาถูกปิดล้อม สร้างความเสียหายต่อธุรกิจในฉนวนกาซา และประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีการจำกัดการส่งยารักษาโรคไปในพื้นที่ สิ่งนี้เป็นแรงกดดันทำให้คนที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาที่มีพื้นที่ไม่มาก แต่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า 2 ล้านคน จนสหประชาชาติมองว่าเป็นดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นติดระดับโลก

ด้วยแรงกดดันนี้ทำให้กลุ่มฮามาสพยายามทำลายกำแพงที่อิสราเอลสร้างขึ้น เพื่อบีบให้คนในฉนวนกาซาต้องพยายามตอบโต้ด้วยความรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มฮามาส มีการวางแผนเป็นขั้นตอนมากกว่า 2 เดือน หรืออาจจะเป็นปี เพราะเห็นการสะสมอาวุธหนักที่มาใช้โจมตีจำนวนมาก
สำหรับ แรงงานไทยในอิสราเอล ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้เป็นจุดเสี่ยงถูกโจมตีมากที่สุด แต่ในพื้นที่อื่นต้องมีการประเมินความปลอดภัยในการส่งแรงงานไทยไปทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาค่อนข้างน่าผิดหวังกับท่าทีของไทย ที่ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่สะสมมานาน ไม่สามารถที่จะชี้ว่าใครถูก หรือใครผิด ดังนั้น ไทย ควรวางจุดยืนของเราให้สมดุล คำนึงถึงฝ่ายต่างๆ มากที่สุด.