- อีก 1 เดือน จะครบ 1 ปี การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 มีชาวเมียนมาฝ่ายต่อต้านสังเวยชีวิตกว่า 2 พันศพ ถูกจับกุม 11,289 ราย และมีหมายจับ 1,964 ราย แม้มีการปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงแรก แต่ยังคงมีชาวเมียนมาทั้งในและนอกประเทศ เคลื่อนไหวต่อต้านไม่หยุด
- ไม่เท่านั้นยังมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะองค์กรสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู ซึ่งมี 7 กองพลน้อย แสดงจุดยืนแข็งกร้าวอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพเมียนมา และฝึกอาวุธให้กับคนรุ่นใหม่ชาวเมียนมาจำนวนมากที่หนีมา ก่อนรวมตัวในนามกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ยิ่งทำให้กองทัพเมียนมาไม่พอใจจนเกิดการโจมตีทางอากาศ มีการยิงปะทะเป็นระยะๆ และขยายวงกว้างออกไป จนชายแดนไทยติดกับเมียนมา ได้รับผลกระทบไปด้วย
- ไฟคุกรุ่นของสงครามในเมียนมารุนแรงมากขึ้นช่วงปลายปี 2564 ก่อนวันคริสต์มาส เมื่อกองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศในกลางดึกวันที่ 23 ธ.ค. ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 24 ธ.ค. ถล่มกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ในเมืองเลเกก่อ เขตเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามอ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนหนีตายมาฝั่งไทย บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย และยังมีอาวุธตกมายังฝั่งไทย สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับชาวไทยที่อาศัยอยู่ติดแนวชายแดน
- ความเหี้ยมโหดของกองทัพเมียนมา ได้ฆ่าและเผาชาวบ้าน 35 คน อย่างสยดสยอง คาซากรถยนต์ ใกล้หมู่บ้านโมโซ เขตชานเมืองพรูโซ รัฐกะยา ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มีผู้หญิงและเด็กหลายคน รวมถึงเจ้าหน้าที่องค์กรเซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) 2 คน
- ทำให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเมืองย่างกุ้ง แถลงการณ์ร่วมกับ 17 ประเทศ ประณามรัฐบาลทหารเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามด้วยแถลงการณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำให้หาผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนี้ ขณะที่ท่าทีรัฐบาลไทย ไม่มีความเห็นใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
- เหตุรัฐประหารในเมียนมา นำไปสู่การกระทำรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรม เกิดขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ภายใต้การนำของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนและประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 1 ปี อ้างว่าผลการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย. 2563 มีการทุจริตหลังพรรคยูเอสดีพีที่สนับสนุนโดยกองทัพเมียนมา พ่ายแพ้ต่อพรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี ซึ่งกวาดคะแนนอย่างถล่มทลายกว่า 80% มากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาในปี 2558
...
สถานการณ์ในเมียนมาจะเป็นอย่างไรต่อไปในปี 2565 จากมุมมอง "ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู" ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้ว่าแม้เมียนมาเคยผ่านการรัฐประหารโดยทหารมาแล้ว แต่การรัฐประหารครั้งนี้โดยพล.อ.มิน อ่อง หล่าย อาจแตกต่างจากอดีต เพราะมีกระแสต่อต้านค่อนข้างกว้างขวาง หรือแม้กำจัดออง ซาน ซูจี ด้วยมาตรการทางกฎหมายจากการใช้อำนาจเผด็จการ โดยไม่สังหาร แต่กลุ่มต่อต้านซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ก็พร้อมไม่ยึดตัวบุคคล
หรือแม้มีออง ซาน ซูจี ก็ตาม แต่พลังฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยได้ตั้งรัฐบาลคู่ขนาน มีแนวคิดที่จะรวมชนกลุ่มน้อยเข้ามาร่วม จากในอดีตพลังของฝ่ายต้านทหารไม่มีเอกภาพ เพราะชนกลุ่มน้อยต้องการร่วมปกครองด้วย แต่แนวคิดของกลุ่มรุ่นใหม่ หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ พยายามตั้งระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ เพื่อการมีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ซึ่งก่อนหน้าพยายามแยกตัวเป็นอิสระ ให้มาเป็นแนวร่วมเพื่อโค่นรัฐบาลทหาร
“รัฐประหารครั้งนี้ ทางกองทัพปราบปรามฝ่ายต้านอย่างหนักในการคุมประเทศ แต่ยิ่งทำยิ่งมีกระแสต่อต้านมากขึ้น ทำให้ปี 65 น่าเป็นห่วงจะเกิดการนองเลือดหรือไม่ เพราะฝ่ายต่อต้านทหารอาจจะไม่ชนะ แต่ถ้ามีแนวร่วมเยอะๆ ก็ทำให้ทหารคุมประชาชนไม่ได้ กลายเป็นรัฐล้มเหลว จากการที่มีคนประท้วงไม่ทำงาน ไม่ทำตามคำสั่ง หากขยายตัวไปเรื่อยๆ จนรัฐบาลอัมพาต มีการลุกฮือกันทั้งหมด แม้มีอำนาจแค่ไหนก็ไม่สามารถต้านทานได้ เหมือนเกาหลีใต้ เคยปราบปรามนักศึกษาซึ่งมีสหรัฐฯ หนุนหลัง จนในที่สุดรัฐบาลเผด็จการไม่สามารถต้านทานได้”
แต่กรณีเมียนมา มีความสลับซับซ้อน เพราะการจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต้องมีแกนนำในการรักษาประโยชน์ จึงเป็นเหตุการณ์น่าติดตามในปี 2565 โดยประเด็นอยู่ที่เอกภาพของฝ่ายต้านรัฐบาลทหาร มีจริงหรือไม่ เพราะกองกำลังเคเอ็นยู อาจจะขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ กว่า 10 กลุ่ม หรือหากโค่นรัฐบาลทหารไปแล้ว จะมีการแบ่งผลประโยชน์ทางอำนาจให้ลงตัวอย่างไร แม้มีเป้าหมายร่วมกันต่อสู้กับรัฐบาลทหาร แต่ความไว้วางใจซึ่งกันและกันในอนาคตอาจไม่ชัดเจน จนกลายเป็นอุปสรรคของกลุ่มพลังต่อต้านรัฐบาลทหาร
...
สถานการณ์ในเมียนมา ยังทำให้พื้นที่แนวชายแดนของไทย ได้รับผลกระทบมากจากคนหนีตายเข้ามา จะต้องแก้ปัญหา ขณะที่พื้นที่ส่วนกลางในเมียนมา มีทหารคุมอยู่ ทางฝ่ายพลเรือนทั่วๆ ไป จะร่วมแรงร่วมใจต่อต้านได้มากเพียงใด และจะลงเอยอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าติดตามในปี 2565 แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารภายในเมียนมา ถูกปิดกั้นมาโดยตลอด ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ไม่ชัดเจนเหมือนประเทศระบอบประชาธิปไตย แต่มองในแง่ข้อมูลเท่าที่ได้ติดตาม
อีกอย่างปัญหาภายนอกเมียนมา จะมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศอย่างพร้อมเพรียงหรือไม่ โดยเฉพาะจีน ซึ่งลงทุนสร้างยุทธศาสตร์ด้านเส้นทาง ต้องประเมินพลังของทั้ง 2 ฝ่าย หากได้ประโยชน์ก็จะเข้าข้างฝ่ายนั้น จะต้องติดตามดูท่าทีของจีนต่อไป
...
ส่วนประเทศกลุ่มอาเซียน ยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการมีท่าทีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา มีเพียงฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ต้องติดตามในการประชุมสุดยอดอาเซียน โดยปี 2565 กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน จะมีท่าทีอย่างไร ภายหลังประกาศเป็นชาติที่สนับสนุนให้อาเซียนไม่เชิญพล.อ.มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุม และต้องดูว่าจะยอมจัดเลือกตั้งใหม่ มีการนิรโทษกรรมออง ซาน ซูจี หรือไม่ แต่โอกาสอาจเกิดขึ้นยาก ภายหลังกองทัพเมียนมาสังหารประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม ทำให้ปี 2565 เกรงว่าจะเกิดการนองเลือดในเมียนมา.