ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกองกำลังฮามาสของปาเลสไตน์ ฝังรากลึกมานาน ทวีความรุนแรงขึ้นมาอีกในฉนวนกาซา ตั้งแต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รุนแรงกว่าสงคราม 50 วันที่เลวร้ายที่สุด เมื่อปี 2557 โดยช่วง 7 วัน มีชาวปาเลสไตน์ เสียชีวิตไปกว่า 200 ศพ และชาวอิสราเอล เสียชีวิต 10 ศพ

แม้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จัดประชุมฉุกเฉินหาแนวทางยุติความขัดแย้ง แต่อิสราเอล ยังคงยกระดับการใช้ความรุนแรงโจมตีทางอากาศช่วงเช้ามืดวันที่ 17 พ.ค. ส่งผลให้มีการนองเลือด ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 ศพภายในวันเดียว เป็นเด็กอย่างน้อย 10 ศพ

ผลการประชุมดังกล่าว มีสมาชิก 14 ประเทศ จากทั้งหมด 15 ประเทศ เห็นด้วยกับแถลงการณ์ให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยิง ยกเว้นสหรัฐฯที่ออกมาคัดค้าน เพราะสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนยากจะคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์จะยุติลงเมื่อใด หรือจะบานปลายหนักไปมากกว่านี้ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่?

ล่าสุดโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศสนับสนุนข้อตกลงหยุดยิง ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ก่อนความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังได้โทรศัพท์พูดคุยกับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล แม้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอล ในการปกป้องตนเองจากการโจมตีจากกลุ่มฮามาส ก็ตาม

...

กินเวลาไปมากกว่า 1 สัปดาห์แล้วที่การปะทะครั้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ มีความรุนแรงและหนักหน่วงมากขึ้น เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีอาวุธหนักนานาชนิด ทั้งเครื่องบินรบและจรวดมิสไซล์ กับภาพน่าสะพรึงกลัวเมื่ออิสราเอล ยิงถล่มใส่ตึกสูงพังลงในชั่วพริบตา พร้อมกับเปลวเพลิงลุกไหม้พวยพุ่งแดงฉานเต็มท้องฟ้า จากการยิงจรวดใส่กันไปมานับพันลูก ราวกับแผ่นดินไหว

ในเรื่องนี้ "น.อ.สัมฤทธิ์ ทองอินทร์" ผู้เขียนหนังสือ "สงครามโลกครั้งที่ 3" เคยวิเคราะห์เหตุสู้รบหลายจุดทั่วโลก จนทำให้ผู้คนได้ฉุกคิดถึงความน่ากลัวของสงครามครั้งใหญ่ หากเกิดขึ้นมาจริงๆ โดยมองว่า ความยืดเยื้อของสงครามคงต้องดำเนินต่อไป และไม่ใช่เรื่องง่ายที่อิสราเอลจะชนะกลุ่มฮามาสได้ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เพราะกลุ่มฮามาส ได้รับการสนับสนุนอาวุธสำคัญๆ จากอิหร่านและซีเรียโดยตรง และทั้งซีเรียและอิหร่านก็ได้รับแรงหนุนจากรัสเซียโดยตรงเช่นกัน ในขณะที่อิสราเอลอาจจะได้เปรียบทางด้านกองกำลังทางอากาศและสหรัฐฯ ได้ประกาศหนุนอย่างเต็มตัว

“ความเสียหายจากการโจมตีทั้งสองฝ่ายมีมาก ยากจะยุติถึงจะเจรจาก็ต้องใช้เวลา ฝั่งฮามาส ไม่ยอมเด็ดขาดเพราะถูกรุกไล่โจมตีมาตลอด เช่นเดียวกับซีเรีย อย่างเบาที่สุดก็ป่วนด้วยขีปนาวุธ โดยตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว ระหว่างเยเมนกับซาอุฯ และที่สำคัญทั้งอิหร่านและสหรัฐ ประกาศชัดหนุนรุกไล่โจมตีต่อไป”

แม้ขณะนี้ชาติอาหรับหลายประเทศ ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน เพราะส่วนหนึ่งยังเป็นพันธมิตรที่ดีกับอิสราเอล แต่ก็ยากที่จะหนุนด้านอื่นๆ แก่อิสราเอล ในทางตรงกันข้ามหากมีการยืดเยื้อ ท้ายสุดก็ต้องหาทางช่วยปาเลสไตน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ส่วนการจะสรุปชัดๆ ว่าจะบานปลายถึงขั้นเป็นชนวนมหาสงคราม หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก 1.กลุ่มต่างๆ ทั่วตะวันออกกลางที่ประกาศหนุนกลุ่มฮามาส ส่งทั้งอาวุธและกำลังคนเข้าช่วย หรือร่วมยิงจรวดถล่มอิสราเอลด้วย

...

2.อิสราเอลใช้ความได้เปรียบทางอากาศ ขยายการโจมตีนอกจากฉนวนกาซาและกลุ่มฮามาส อาจจะเป็นซีเรียและอิรักหรือเลบานอน ซึ่งในข้อนี้กลุ่มฮามาสและอิหร่านต้องการให้เกิดขึ้น โดยทุกฝ่ายทั่วโลกต่างจับตาในข้อนี้มากที่สุด

3.ชาติอาหรับหรือรัสเซีย รวมถึงอิหร่านและซีเรีย ทุ่มเทอาวุธช่วยกลุ่มฮามาสให้มากขึ้น ซึ่งมีบ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นจะโจมตีหรือเดินหน้ายึดอิสราเอลได้ แต่การป่วนยิงถล่มๆ ตอบโต้อิสราเอลจะหนักขึ้น


ทั้งหมดคือเหตุผลหลักที่จะบ่งชี้ว่า การรบครั้งนี้จะขยายเป็นสงครามใหญ่จนกลายเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่?.