• สถานการณ์ในเมียนมา ส่อเค้าเกิดสงครามกลางเมือง หลัง "กองทัพเมียนมา" ปฏิบัติต่อพลเมืองประเทศของตัวเองที่ออกมาต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยความรุนแรงมากขึ้น เป็นการก่ออาชญากรรมอย่างโหดร้ายต่อมนุษยชาติ น่าจะถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะเข้ามาแทรกแซงแก้ปัญหา ไม่ให้ผู้คนล้มตายเลือดนองแผ่นดินไปมากกว่านี้

  • เหตุการณ์เลวร้ายเกินจะรับได้ ทำให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แสดงความกังวลต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและเกิดการพลัดถิ่นของผู้คน ต้องหอบลูกหอบหลานระเห็จระเหเร่ร่อนหนีตาย ข้ามแดนไปขอพักพิงประเทศอื่น โดยไม่รู้ชะตากรรมในภายภาคหน้า



  • อีกหนึ่งผู้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างเจ็บปวด จากการห้ำหั่นฆ่าฟันผู้คนบนท้องถนนของกองทัพเมียนมา เมื่อ “ฮาน เลย์” วัย 22 ปี มิสแกรนด์เมียนมา ใช้โอกาสบนเวทีในประเทศไทย เรียกร้องให้ชาวโลกยื่นมือเข้าช่วยเหลือชาวเมียนมาที่ถูกกระทำอย่างเหี้ยมโหด และเธอต้องการจะขอลี้ภัย โดยองค์กรมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล พร้อมให้การช่วยเหลือด้านเอกสาร และยื่นเรื่องขอใบอนุญาตทำงานในไทยให้กับเธอ เพราะหากกลับไปคงเป็นอันตรายอย่างแน่นอน



  • ปัจจุบันมีผู้อพยพลี้ภัยจากการสู้รบ ซึ่งเป็นชาวเมียนมา อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพในไทยหลายแสนคน บางส่วนอพยพมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 มีจำนวนหนึ่งเกิดและโตในค่ายผู้อพยพ ไม่เคยอาศัยหรือกลับไปอยู่ในเมียนมาเลย และจากความรุนแรงล่าสุด ทางจ.ตาก ได้เตรียมพื้นที่รองรับผู้อพยพ จำนวน 7 แห่งใน 4 อำเภอตลอดแนวชายแดน ได้แก่ อ.ท่าสองยาง อ.แม่ระมาด อ.พบพระ และอ.แม่สอด

  • ผู้ลี้ภัย หมายถึงกลุ่มคนที่เดินทางออกจากประเทศของตน เนื่องจากสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหาร หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดได้ เพราะหวาดหวั่นต่อภยันตรายเกินกว่าที่จะกลับไปได้ ในบางครั้งถูกเรียกว่า “ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย” (Asylum Seekers) จนกว่าจะได้รับสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” จาก UNHCR

  • สถานะของบุคคลที่เป็นผู้ลี้ภัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ UNHCR หรือรัฐบาลของประเทศที่รองรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยซึ่งไม่ยื่นคำร้องขอที่ลี้ภัยและบุคคลที่ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัย แต่ถูกปฏิเสธโดย UNHCR หรือหน่วยงานระดับชาติ ยังคงมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย โดยผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) ต่างจากผู้ลี้ภัย ตรงที่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ยังมิได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามอนุสัญญาฯว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494

...

ในกรณีของ “ฮาน เลย์” มีความประสงค์จะขอลี้ภัย ซึ่งจะสามารถทำได้หรือไม่นั้น “ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์” ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า น่าจะพอทำได้ในการยื่นเรื่องขอลี้ภัย จากนอกประเทศตัวเองในฐานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัย โดยสามารถยื่นเรื่องไปยัง UNHCR ซึ่งการจะขอลี้ภัยขึ้นอยู่กับเธอว่าเลือกไปอยู่ประเทศที่สามประเทศใด เพราะการประกาศจุดยืนบนเวทีมิสแกรนด์ฯ คงกลับไปเมียนมาได้ยาก ส่วน “ฮาน เลย์” จะทำอะไรต่อไปขณะอยู่ในเมืองไทย คงดูสถานการณ์ ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ อีกอย่างเธอมีความสามารถ อาจยื่นวีซ่าเพื่ออยู่ไทยต่อ ในการเป็นดารานักแสดงก็ได้

จากสถานการณ์ในเมียนมา ต้องยอมรับขณะนี้ทั่วโลกและอาเซียน กำลังจับตาดูท่าทีของไทย โดยไทยคงต้องระวังตัวในการแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่การเตรียมพร้อมรองรับผู้อพยพลี้ภัยของไทยทำมานานแล้ว ซึ่งไม่มีประเทศใดต้องการให้เกิดความรุนแรงในเมียนมา ไม่อยากให้มีการสู้รบ จนเกิดการลี้ภัยขึ้นมา แต่เป็นสถานการณ์ไม่มีทางเลือกที่ประชาชนเมียนมา ต้องแสวงหาที่ปลอดภัย ซึ่งไทยต้องกระทำตามหลักมนุษยธรรม

“นานาชาติเรียกร้องให้ไทยแสดงท่าทีให้ชัดเจน และในส่วนนักสิทธิมนุษยชนโดยเรายืนยันสิ่งที่กองทัพเมียนมากระทำ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยธรรมร้ายแรง ต้องกดดันกันทุกส่วน เพื่อให้เมียนมาตั้งหลักได้พอสมควร และการประกาศหยุดยิง 1 เดือน ต้องรอดูว่าหยุดยิงเฉพาะพื้นที่ หรือยุติความรุนแรงที่เคยกระทำทั้งหมด”.