
รัฐประหารพม่า รุนแรงบานปลายสู่กลียุค เผด็จการเหี้ยม เข่นฆ่าผู้เห็นต่าง
เมียนมากำลังเข้าสู่กลียุค นับตั้งแต่ “มิน อ่อง หล่าย” ยึดอำนาจ "รัฐประหาร" เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ท่ามกลางการลุกฮือออกมาต่อต้านของผู้คน ผ่านการแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ออกมาตีหม้อ ถัง กะละมัง และเป็นการสับปลับของผู้นำเผด็จการทหารอีกครั้ง จากเคยยืนยันจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและยึดมั่นในกฎหมาย จนกลืนน้ำลายตัวเองออกมายึดอำนาจ และบอกจะใช้กำลังในระดับต่ำสุด จัดการกับผู้ประท้วง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เมื่อผู้บริสุทธิ์ต่อสู้ด้วยมือเปล่า ถูกยิงด้วยกระสุนจริง เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ศพ และคลิปเผยแพร่ให้เห็นภาพชายถูกยิงตายอีกศพในเมืองทวาย และอาจจะมากกว่านี้ เซ่นเผด็จการมือเปื้อนเลือด

ข่าวแนะนำ
หลายเมืองใหญ่ในเมียนมาเต็มไปด้วยผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ขานรับปฏิกิริยาการแสดงอารยะขัดขืนของ “จอ โม ทุน” ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ออกมาชู 3 นิ้ว ประณามการยึดอำนาจ "รัฐประหาร" กลางที่ประชุมยูเอ็น ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมจนถูกปลด โดนยัดเยียดมีพฤติกรรมทรยศชาติจากข้ออ้างของฝ่ายทหาร

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเมียนมา ดูเหมือนจะบานปลายรุนแรง “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวล จะนำไปสู่กลียุค เพราะว่าพลังประชาชนไม่ยอมท้อถอยในการต่อต้าน "เผด็จการทหาร" ขณะที่ทหารก็ใช้อำนาจโดยไม่ยอมลดราวาศอก และจากการฟังผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่พูดถึงความแน่วแน่ว่ายุคพวกเขาจะเป็นยุคสุดท้าย จะไม่กลับไปสู่ยุคมืดที่ปกครองโดยทหารให้มีการครอบงำประเทศอีกต่อไป เพราะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
“พัฒนาการต่อต้านรัฐบาลทหารในขณะนี้ ค่อนข้างกว้างขวางมากกว่าในอดีต เพราะสมัยก่อนเมียนมาปิดประเทศ แต่ปัจจุบันมีการสื่อสารเปิดกว้างมากขึ้น แน่นอนฝ่ายทหารจะกระทำรุนแรงโหดเหี้ยมเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ แต่เมื่อเข้าตาจนก็ไม่แน่ และเมื่อดูผู้ประท้วงในปัจจุบันมีชนชั้นกลาง เป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 24 กระทรวงออกมาร่วมประท้วงด้วย ประมาณ 2 ใน 3 รวมตัวหยุดงาน หากเป็นจริง จะทำให้การปกครองในปัจจุบันเป็นไปด้วยความลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ”


สิ่งที่น่าคิดอีกอย่าง เมื่อหมู่ทหารด้วยกันเอง อาจแตกแถวหรือไม่อย่างไร แต่คงไม่ง่าย เพราะกองทัพได้วางกำลังสำคัญๆ ไว้แล้ว แต่ก็ไม่แน่ เพราะขณะนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐออกมาร่วมประท้วงจำนวนมาก หากเป็นจริงทำให้ทหารในกองทัพมีโอกาสจะแปรพักตร์เกิดขึ้นได้ง่ายเหมือนกัน และต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าทูตของเมียนมา ออกมาต่อต้านเรียกร้องให้นานาชาติออกมากดดัน ในที่สุดแล้วอยู่ที่พลังประชาชนได้กระจายเป็นวงกว้างตามเมืองใหญ่ๆ ทุกเมือง ทำให้การปกครองของรัฐบาลทหารเป็นไปด้วยความลำบาก ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ และอะไรที่กองทัพเคยสัญญาไว้ ก็จะไม่ทำตาม เพราะเลือดเข้าตา สามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเมื่อหลังชนฝา ขึ้นหลังเสือไปแล้ว ต้องสู้ยิบตา
เมื่อกลไกรัฐทำได้ไม่เต็มที่ และมีการกดดันของนานาชาติมากขึ้น ทำให้ทำงานลำบาก และเมื่อคนออกมาต่อต้านเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นพลังประชาชนต่อสู้กับฝ่ายทหาร ซึ่งจุดแตกหักจะเป็นอย่างไร เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ขณะที่อินโดนีเซีย หนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน เรียกร้องให้ทหารเมียนมาต้องจัดเลือกตั้งภายใน 1 ปี ตามสัญญา แต่ฝ่ายประชาชนชาวเมียนมาให้เคารพผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งทั้งฝ่ายทหารและประชาชนเมียนมาต่างไม่ยอมกัน ทำให้ทางออกในการแก้ปัญหาดูตีบตันเหลือเกิน และระหว่างนี้เมื่อกระแสออกมาอย่างนี้ ต้องดูว่าในช่วง 1 ปี ฝ่ายทหารจะทำตามหรือไม่

“เจตนารมณ์ประชาชน ประกาศออกมาแล้วในการแก้ไขปัญหาประเทศ ต้องให้กลับไปแบบเดิม ยึดผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา และทหารต้องหาทางลง ไม่ให้เสียหน้า มิเช่นนั้นแล้วเมียนมาจะเกิดมิคสัญญี เกิดการต่อสู้ห้ำหั่นยืดเยื้อ จนไม่สามารถประเมินได้ว่าจะยาวนานแค่ไหน เพราะทหารก่อเรื่องเอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าไม่มีอะไรเลยที่จะปล่อยให้ฝ่ายพลเรือนทำอะไรได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรเป็นปัญหาทำลายระบบความมั่นคง มิหนำซ้ำผลประโยชน์ของทหารก็ยังรักษาอยู่ได้ และข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญทหารก็ยังคุมสภาได้ จึงไม่มีเหตุผลใดต้องออกมารัฐประหาร”
เมื่อมาวิเคราะห์และประเมินในช่วงเกือบ 1 เดือน รัฐประหารในเมียนมา คิดว่ามีเบื้องหลังมาจากเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของ มิน อ่อง หล่าย มากกว่า จึงออกมาปกป้องเรื่องของตัวเองก่อนจะเกษียณหมดอำนาจ เป็นตัวการทำให้เมียนมาต้องย้อนกลับมายุคมืดอีกครั้ง จากที่เคยพัฒนาประชาธิปไตยมาได้ไม่นาน จนทำให้คนในประเทศมีฐานะดีกว่าแต่ก่อน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก

จากปรากฏการณ์รัฐประหารในเมียนมาและย้อนมามองไทย มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ในกรณีประเทศไทยเหมือนเมียนมาที่มีทหารยังคุมอำนาจอยู่ มีเพียงเปลือกนอกเป็นประชาธิปไตย แต่ไทยแตกต่างในส่วนของฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านทหาร มีลักษณะก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจน ซึ่งแต่ละฝ่ายไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนกับเมียนมา และการต่อต้านทหารในปัจจุบันของไทยไม่ชัดเจนเหมือนสมัยจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นความแตกต่างและมีดุลต่อสู้กันอยู่ระหว่างคนรุ่นใหม่กับกลุ่มอนุรักษนิยม ส่วนเมียนมามีแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากและชัดเจน จนฝ่ายทหารไม่สามารถจับม็อบมาชนม็อบได้ เพราะฝ่ายสนับสนุนทหารมีเพียงพันกว่าคนเท่านั้น

ส่วนอนาคตของเมียนมา หากยังอยู่ในวังวนรัฐประหาร และใช้กำลังรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้าน จะถูกแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจในด้านเศรษฐกิจ และการส่งกำลังเข้ามาในเมียนมาคงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่กลุ่มประเทศอาเซียนยังมีความเห็นต่อเมียนมาไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากระบบการปกครองที่หลากหลาย ซึ่งการจะผลักดันในจุดยืนเดียวกันก็คงยาก ทำได้เพียงการแสดงความเป็นห่วง ขณะที่จีน จากไม่เคยออกมาประณามโดยตรง เริ่มแสดงจุดยืนไม่พอใจต่อการรัฐประหารในเมียนมา และออกมาเรียกร้องกับสหประชาชาติว่าไม่เห็นด้วยแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น จะทำให้ทหารเมียนมาอาจถูกโดดเดี่ยว หรือแม้จะจัดเลือกตั้งใหม่ ไม่พ้นที่จะถูกมองว่าจะมีความยุติธรรมหรือไม่ เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือไปแล้วจากการยึดอำนาจ
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา มองว่า เพราะมิน อ่อง หล่าย เพียงคนเดียว ยึดแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ทำให้ประเทศชาติถอยหลังเป็นเช่นนี้ จนกลับสู่ยุคมืดมัวหมอง เกิดกลียุคเหมือนในอดีตอย่างไม่น่าให้อภัย”.