ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2568 ในประเด็นความขัดแย้งที่ ‘ช่องบก’ ซึ่งอยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา และการที่กัมพูชาประกาศนำข้อพิพาทเรื่องเขตแดนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) หรือศาลโลก

อัครพงษ์ให้ความเห็นในเชิงหลักการไว้ว่า ทั้งสองฝ่าย (ไทยและกัมพูชา) ต่างก็พยายามใช้หลักฐานที่ตนเองได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งหากไปดูเรื่องการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น เราจะพบหลักการอยู่อันหนึ่ง คือ Effective occupation หรือการครอบครองอย่างมีประสิทธิภาพ อธิบายคือ การที่ไทยเราได้มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วประเทศเพื่อนบ้านก็ยอมรับพฤติกรรมที่ไทยทำมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เขายกตัวอย่างเช่น กรณีอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีข้อพิพาทแย่งชิงกรณีเกาะลิกิตัน (Ligitan) และเกาะซีปาดัน (Sipadan) โดยข้อพิพาทนี้ถูกนำไปขึ้นศาลโลก (ICJ) ซึ่งแม้ว่าสองเกาะนี้จะอยู่ใกล้อินโดนีเซียมากกว่าก็ตาม แต่มาเลเซียได้เข้ามาประกาศเขตอุทยาน สร้างสิ่งปลูกสร้างและเข้าไปใช้งานในพื้นที่มากมาย ที่สุดแล้วศาลโลกก็ตัดสินให้ทั้งสองเกาะนี้เป็นของมาเลเซีย

ดังนั้น กรณีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนล่าสุดของไทย-กัมพูชา อัครพงษ์มองว่า ไทยมีทางสู้หลายทาง แต่ขณะเดียวกัน ไทยก็เสี่ยง เหตุเพราะพฤติการณ์หลายๆ อย่างของไทย เป็นไปในทำนองยอมรับการมีอยู่ของแผนที่

“พูดกันตรงไปตรงมา ที่เราบอกว่าแผนที่ 1:50,000 จะเป็นคุณกับไทยนั้น เราต้องโฟกัสกับการมองพื้นที่แค่ 3 ปราสาทเท่านั้น ส่วนพื้นที่ช่องบก เราสามารถใช้แผนที่ของกรมอุทยานต่อสู้ได้ หรือใช้ MOU43 ในการเจรจา”

...

อัครพงษ์อธิบายต่อว่า เรื่องเขตแดนระหว่างประเทศนั้น มีขั้นตอนในการทำเส้นเขตแดนประมาณ 3 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 Define หรือการให้นิยามว่าเราจะใช้อะไรในการแบ่ง ซึ่งกรณีไทย-กัมพูชา ให้นิยามว่าใช้ ‘สันปันน้ำ’ ในการแบ่ง และต้องเป็นสันปันน้ำที่ต่อเนื่องที่สุด จากจุดที่ 1 จนถึงจุดสุดท้าย แปลว่าบางทีสันปันนั้นอาจไม่ได้ไปที่หน้าผาอย่างเดียวตามที่หลายคนเข้าใจ เช่นกรณีภูชีฟ้า สันปันน้ำเลี้ยวซ้าย ไม่ได้ไปที่ภูชี้ฟ้า เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 Delimitation หรือการปักปันเขตแดนบนแผนที่ ซึ่งมีการทำและรับมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสมาทำ เช่น กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่เราเรียกว่า แผนที่ระวางดงรัก 1:200,000 ซึ่งกัมพูชาใช้แผนที่นี้แน่นอน เหตุเพราะมันมีสัญลักษณ์ของปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในแผนที่

แต่กรณีของปราสาทตาเมือนธมกับปราสาทตาควาย ไม่มีสัญลักษณ์ปราสาทอยู่ในแผนที่ดังกล่าว ดังนั้น อัครพงษ์คาดการณ์ว่า กัมพูชาไม่ใช้แผนที่ 1:200,000 แน่ๆ

ขั้นตอนที่ 3 Demarcate หรือการปักหลักเขต ซึ่งของไทยนั้นปักหลักเขตตั้งแต่หลักที่ 1 ช่องสะงำ ไปทางตะวันตก เพราะฉะนั้น หลักเขตที่เราปักปันนั้นจะครอบคลุมปราสาทตาควายกับปราสาทตาเมือนเท่านั้น แต่กรณีช่องบกจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย

“กรณีช่องบกนั้นเป็น ‘เหยื่อตกปลา’ เพื่อให้มีเหยื่อความรุนแรงเกิดขึ้น และเพื่อนำไปสู่เรื่องเส้นเขตแดนของปราสาทตาควายกับตาเมือน”

อัครพงษ์มองว่า วิเคราะห์ต่อไปว่า ไทยเราอ้างว่า บริเวณที่เป็นหน้าผานั้นคือสันปันนั้น ดังนั้น ฝ่ายเราจึงถือว่าปราสาทอยู่ฝั่งเรา แต่ของกัมพูชานั้น แผนที่ 1:200,000 ไม่มีสัญลักษณ์ปราสาทอยู่ในแผนที่เหมือนกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ดังนั้น สิ่งที่เขาจะใช้คือบันทึกวาจาแต่ละหลักเขต

ปัจจุบัน ด้มีการจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา มีจำนวนทั้งสิ้น 73 หลัก ซึ่งการทำหลักเขตแดนนั้น ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บันทึกวาจา’ ทั้งหมด และเขาคาดว่า กัมพูชาจะใช้บันทึกวาจามาต่อสู้ในกรณีนี้

เหตุเพราะในกรณีของบ้านตาเมือนนั้น อัครพงษ์ได้อ้างอิงเอกสารประกอบการพิจารณากรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ พ.ศ.2551 หน้า 39 ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า

เมื่อปี 2544 ราษฎรกัมพูชาได้แพร่กระจายข่าวว่าปราสาทตาเมือนและตาควายเป็นของกัมพูชา กัมพูชาอาจยื่นข้อเรียกร้องอ้างสิทธิเหนือปราสาททั้งสองแห่ง ในการประชุมเจ้าหน้าที่เทคนิค นำโดยนายประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะคณะกรรมาธิการเขตแดนไทยกัมพูชา และนายวา กิมฮง ที่ปรึกษารัฐบาลด้านกิจการชายแดน ในฐานะ JBC พิสูจน์สันปันน้ำ พบว่า ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่า ตาเมือนธมและตาเมือนโต๊ด อยู่ฝั่งกัมพูชา เนื่องจากใช้หลักการบันทึกวาจาปักปันเขตแดนหลัก 23 ระหว่างฝรั่งเศสและสยาม ปี 1908 แสดงหลักฐานว่าสองปราสาทนี้อยู่ฝั่งกัมพูชา

“เขาไม่ได้ใช้แผนที่ เขาใช้บันทึกวาจามาสู้” อัครพงษ์ประเมิน

ส่วนปราสาทตาเมือนโต๊ดและปราสาทตาเมือน (บายกรีม) ในรายงานฉบับดังกล่าวชี้ว่า ฝั่งไทยเองก็ได้รายงานในที่ประชุมว่า ไทยใช้แผนที่ L7017 และ L7016 มาตรา 1:50,000 ซึ่งปราสาทตาเมือนธมอยู่ทางฝั่งกัมพูชา ส่วนปราสาทตาเมือนโต๊ดและปราสาทตาเมือน (บายกรีม) อยู่ทางฝั่งไทย โดยอัครพงษ์ระบุว่า ข้อความดังกล่าว อยู่ในรายงานของสภาผู้แทนราษฎร

“ประเด็นคือ เราก็ต้องไปสู้กันในประเด็นนี้ว่า หลักฐานของใครแม่นยำกว่ากันเท่านั้นเอง แต่ถามว่า เราไม่ไปศาลโลกได้ไหม ได้ เราก็ยืนยันในเรื่องของ Effective occupation หรือการครอบครองอย่างมีประสิทธิภาพได้”

...

ปัจจุบัน หลักเขตที่ 23 ยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งอัครพงษ์ชี้ว่า หากเราจะสู้เรื่องนี้ ไทยต้องหาหลักฐานว่ากัมพูชายอมรับหลักเขตนี้ร่วมกัน เพราะหากพูดกันอย่างไม่เกรงใจ อาจเป็นได้ว่า นี่คือการปักเขตฝ่ายเดียว

ส่วนกรณีที่วันนี้ 9 มิ.ย. ปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เชิญให้ไทยร่วมกันนำข้อพิพาทชายแดนที่ยืดเยื้อมานานเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น อัครพงษ์มองว่า กัมพูชากำลังเดินเกมสเต็ปแรก โดยการทำ ‘ข้อตกลงพิเศษ’ เนื่องจากประเทศคู่กรณี (ไทย) ไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลก เพราะฉะนั้น กัมพูชาจึงต้องยื่นจดหมายมายังไทยเพื่อบอกกล่าวเรื่องการไปศาลโลก ส่วนไทยก็ต้องยืนยันกลับไปว่า ‘ไม่ไปครับ’ เพราะหนึ่ง ประเทศของข้าพเจ้าไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 สอง การมายื่นฟ้อง 3 ปราสาทนี้ อาจผิดข้อตกลงใน MOU43 ที่เราเคยมีร่วมกัน จึงขอเชิญชวนกัมพูชากลับมาใช้ MOU ที่เราเคยคุยกัน สาม เรื่องข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิด อะไรก็ว่ากันไป เพราะฉะนั้น เราต้องตอบจดหมายว่าเราไม่ไปครับ

“แต่ถ้าเขายังดื้อดึงจะไปศาลโลก เราต้องไปประท้วงที่ศาลโลกว่า เราปฏิเสธเขตอำนาจศาลโลก แต่เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้นะ เราต้องเตรียมข้อมูลเอกสารให้ศาลโลกเห็นว่า เราไม่ได้เป็นคนผิด และไม่จำเป็นต้องเอาคดีเหล่านี้มาขึ้นศาล คู่ภาคียังคุยกันได้อยู่และยังไม่ได้มีความรุนแรงอะไรเลย สิ่งนี้เราต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ กัมพูชาก็จะใช้ช่องทางที่สาม คือการไปบอกให้ทาง UNGA และอาจไปถึง UNSC ด้วยเพื่อขอให้องค์กรเหล่านั้นมีคำสั่ง หรือขอคำแนะนำจากศาล (Advisory) ให้ศาลเปิดพิจารณาฝ่ายเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรักษาสิทธิ์ของเรา เพราะเราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ”

...

อัครพงษ์แนะว่า หากไทยไม่ทำอะไรเลย หรือไม่ไปชี้แจงในศาลโลกเลย สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ไทยจะได้รับแรงกดดันผ่านมาตรการอื่นๆ จากประเทศมหาอำนาจในเวทีโลก เช่น กรณีที่รัสเซียเข้าไปทำสงครามในยูเครน รัสเซียโดนคว่ำบาตรและตรวจสอบมากมาย ซึ่งไทยไม่ได้มีอำนาจวีโต้เท่ารัสเซีย ฉะนั้น นอกจากการยืนยันว่าเราไม่รับอำนาจศาลโลกแล้ว เราต้องทำให้ศาลเห็นว่า ไทยจริงใจที่จะแก้ปัญหา และต้องไปล็อบบี้ในการเมืองระหว่างประเทศ นั่นคือการไปหาเพื่อนประเทศอื่นๆ มาสนับสนุนเรา

“เราต้องไปปฏิเสธอำนาจศาล เพราะว่าเวลาศาลตรวจดูคำฟ้องของกัมพูชา เราก็ต้องไปดูด้วยว่า มันไม่มีมูลนะ คุณไม่มีอำนาจในการพิจารณา และไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลโลก”

“เราจะไปสู้ในศาลด้วย ก็ต่อเมื่อเราไม่มีกลไกอื่น ศาลควรจะเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะขึ้นศาลเสียเงิน เสียเวลา เสียความรู้สึก เราต้องไปจ้างทนาย มีค่าศาลด้วยนะ ดังนั้นเมื่อมีเวทีอื่นที่คุยกันได้ ก็ควรใช้เวทีนั้น”

อัครพงษ์เสริมว่า การที่กัมพูชามาทวงดินแดนคืนตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเกียรติภูมิและประวัติของผู้นำด้วย การทวงดินแดนคืนและประสบความสำเร็จเกิดขึ้นในยุคพระนโรดม สีหนุ ซึ่งสมเด็จฮุนเซ็นนั้นเป็นผู้นำที่ทำมาทั้งหมดแล้ว ยกเว้นการได้คืนดินแดน

ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ที่มาแทน วา กิมฮง (อดีตรัฐมนตรีกิจการชายแดนของกัมพูชา) ชื่อ ลำเจีย (Lamchea) เป็นศาสตราจารย์ด้านเขตแดน และได้เป็นรัฐมนตรีกิจการชายแดน เขาได้เอางานที่ตัวเองศึกษาไปเสนอรัฐบาลว่า เรายังมีพื้นที่ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เราสามารถเอาคืนได้นะ สนใจไหม มันคือเกียรติยศ เกียรติภูมิและประวัติศาสตร์ของตระกูลนะ

“ลองคิดดูว่า สมเด็จฮุนเซ็นทวงคืนได้สำเร็จ มันสุดยอดเลยนะครับ”

...

อัครพงษ์ทิ้งท้ายว่า “แนวชายแดนตลอด 798 กิโลเมตรระหว่างไทย-กัมพูชา ทะเลาะกันไม่กี่จุด เวลาจะจัดการ ก็จัดการเป็นจุดๆ ไป อย่าเอาทั้งหมดมาปนกัน ถ้ามีปัญหาที่ช่องบก ก็ไปจัดการไอ้ 200 เมตรตรงช่องบกนั้น ไปเกี่ยวอะไรกับปอยเปต หนองเอี่ยน บ้านหาดเล็กล่ะ มาลากไปหมดอย่างนี้ไม่เหมาะสมครับ”