เปิด 2 ทางเลือกเจรจา ก่อนประชุม JBC "กัมพูชา" ซ้อมรบจีน ล้มโต๊ะคุย "ช่องบก” ลากไทยไปศาลโลก "นักวิชาการ” มอง 2 ทางเลือก เดินหน้ากดดันในระดับอาเซียน หรือไม่เข้าร่วมประชุม พร้อมส่งหนังสือคัดค้านท่าทีผู้นำตระกูล "ฮุน”
กว่า 1 อาทิตย์ หลังปะทะกันบริเวณช่องบก ระหว่างทหารไทย – กัมพูชา นำสู่โต๊ะเจรจาหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่ทหารระดับพื้นที่ ไปถึงระดับรัฐมนตรีกลาโหม แม้จะมีความพยายามสร้างข้อตกลง เพื่อให้มีการเจรจาผ่านที่ประชุม JBC หรือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา (Joint Boundary Commission) ที่ประชุมกันที่กัมพูชา วันที่ 14 มิ.ย.นี้ ฝั่งผู้นำกัมพูชา ยืนยันว่า ในเวทีประชุม JBC จะไม่นำเรื่องข้อพิพาทตามแนวชายแดนมาพูดคุย แต่จะส่งเรื่องไปที่ศาลโลก
สิ่งน่าสนใจกว่านั้นคือ ก่อนวันประชุม JBC ที่ประเทศกัมพูชา ฝั่งเจ้าภาพก็เตรียมซ้อมรบทางทะเลกับจีน ด้วยกระสุนจริง ในวันที่ 11-13 มิ.ย.นี้ และนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนไทย ว่าการเจรจาข้อพิพาทริมชายแดน ที่ไทยตั้งความหวังจะถูกล้มโต๊ะได้

ประเด็นการเจรจาเวที JBC ที่กัมพูชา รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา วิเคราะห์ว่า กรณีข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องบก หรือ สามเหลี่ยมมรกต ซึ่งการไปเจรจาในเวที JBC ที่กัมพูชา ถ้าไทยไปต้องมีการกำหนดกรอบที่ชัดเจนว่าจะไปคุยประเด็นใด
...
ควรเป็นประเด็นที่รักษาบรรยากาศ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการดำเนินงานตามแบบสันติวิธี ลดการเผชิญหน้าของทหารทั้งสองฝ่าย
แต่ถ้าไทยไม่ไปเข้าร่วม ประชุม JBC จะต้องมีการทำหนังสือประท้วงชี้แจง ว่าไทยได้พยายามใช้ความอดทนอดกลั้นมาค่อนข้างมาก ทั้งที่เวทีประชุม JBC มีความสำคัญ แต่ทางกัมพูชา ไม่ได้นำเรื่องที่น่าจะพูดอย่างเป็นทางการมาพูดคุยในเวทีระดับอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องความตึงเครียด บริเวณช่องบก จ.อุบลราชธานี

นายกฯ เชื่อมั่นเวทีเจรจา JBC
ด้านวันนี้ 6 มิ.ย. 68 ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยช่วงเช้า นายกฯ เป็นประธานในการเข้าร่วม ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นในระดับผู้นำทหาร จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า การประชุม สมช. ควรจะเป็นการประชุมพร้อมกัน เพื่อให้มีการกำหนดทิศทางเพื่อความชัดเจน ไปในแนวทางเดียวกันมากกว่านี้
หลังประชุม แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลว่า ได้เตรียมพร้อมการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม ประชาชน

รวมถึง นานาชาติ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ แก้ไขปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา ทำหน้าที่ติดตาม ประสานงาน และเสนอแนะ มาตรการเพิ่มเติม
หากฝ่ายกัมพูชามีการยกระดับปัญหา ในการนี้ มอบหมายให้กองทัพประสาน การปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ โดยให้ความสำคัญกับ การปกป้องอธิปไตยและการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษา ความมั่นคงแห่งชาติ
เพื่อให้เกิดการดำเนินการสอดคล้องกับแนวทางการเจรจาใน JBC ระหว่างไทย - กัมพูชา ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. 2568