โลกใต้มหาสมุทรกำลังวิกฤตอย่างหนัก จากปรากฏการณ์ ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2023 และยังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อใด โดยถือเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ล่าสุดกระทบกว่า 84% ของปะการังทั่วโลก สาเหตุหลักคือ “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งในปี 2024 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่โลกของเราร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปะการังฟอกขาว คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?
สีสันของปะการังที่เห็น เป็นสีของสาหร่ายสังเคราะห์แสง ที่อยู่อาศัยบนเนื้อเยื่อของปะการัง โดยพวกมันมีภาวะพึ่งพาอาศัยกันและกัน คือปะการังให้ที่อยู่อาศัย และให้คาร์บอนไดออกไซด์และของเสียต่างๆ เป็นอาหารแก่สาหร่าย ขณะที่สาหร่ายก็จะนำสิ่งที่ได้จากการสังเคราะห์แสง เช่น ออกซิเจน ส่งกลับคืนเป็นอาหารให้ปะการัง
แต่จากปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้สาหร่ายปล่อยสารพิษออกมา ปะการังจึงขับสาหร่ายออกจากเนื้อเยื่อ ทำให้กลายเป็นสีขาวและอ่อนแอลงอย่างมากเนื่องจากขาดสารอาหาร ซึ่งหากสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นปกติ ปะการังก็จะรับสาหร่ายกลับมาและฟื้นตัวเองได้ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นปะการังก็จะตายในที่สุด
...
เมื่อปะการังฟอกขาว ก็จะส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นวงกว้าง เนื่องจากปะการังเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลมากมาย เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเลราว 25% และยังช่วยชะลอคลื่นและป้องกันชายฝั่งจากการถูกกัดเซาะและพายุด้วย
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 1998 และครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดไปเมื่อช่วงปี 2014-2017 ซึ่งในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อปะการัง 63% โดยนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าปรากฏการณ์นี้จะเลวร้ายขึ้นในทุกครั้งที่เกิด และไม่มีวี่แววว่าอุณหภูมิน้ำทะเลจะลดลง ไปอยู่ในจุดที่ไม่ทำให้เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ได้อีกแล้ว
"วิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องแนวปะการัง คือการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซจากกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการผลิตซีเมนต์และอื่นๆ ด้วย แต่นั่นคือปัญหาใหญ่ที่สุด วิธีการอื่นๆ เหมือนเป็นแค่ผ้าพันแผล มากกว่าที่จะเป็นทางออก" มาร์ค อีคิน เลขานุการสมาคมปะการังนานาชาติ กล่าว

ปะการังไทยฟื้นตัว 60% หลังเจอวิกฤตฟอกขาว
ด้านสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า จากการเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เมื่อปี 2024 กระทบปะการังไทยกว่า 60-80% ล่าสุดปะการังที่ฟอกขาว ได้ค่อยๆ ฟื้นตัวแล้ว 60% ส่วนอีก 40% ได้ตายลง ซึ่งนับว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเป็นผลมาจากนโยบาย ลด งด ช่วย
ลด คือลดผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้ามให้อาหารปลา เก็บขยะในแนวปะการัง ใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีสารอันตรายต่อปะการัง
งด คือ งดการท่องเที่ยว ปิดแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง ห้ามดำน้ำในบางพื้นที่
ช่วย คือ ช่วยลดอัตราการตาย เช่น ย้ายปะการังบางส่วนไปอยู่ที่ที่เหมาะสม หรือการช่วยบังแสงแดด
นอกจากนี้ยังมีแผนฟื้นฟูปะการังปี 2025 คือ เพิ่มพื้นที่ฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง 8 จังหวัด คือ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต รวม 12 ไร่
ปลูกฟื้นฟูปะการังในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต รวม 24 ไร่ และอนุบาลเพาะพันธุ์ปะการัง จำนวน 60,000 โคโลนี โดยจะบริหารจัดการเน้นการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการใช้กฎหมาย เพื่อฟื้นฟูสถานภาพปะการังให้กลับมาคงความอุดมสมบูรณ์ต่อไป
...
ขอบคุณ : ap