ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำจากหมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม และหมู่ 2 ต.กรูด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 70 คน ได้เดินทางมาปักหลักค้างคืนกันอยู่หน้าอาคารสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวตลอดคืนในวันถัดมา (21 เม.ย. 68) กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำได้ส่งตัวแทน 20 คนไปยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย อิสรีย์ พรายงาม ตัวแทนชาวไทดำได้ให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาเดินทางมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้เพราะต้องการปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินที่เป็นของบรรพบุรุษของพวกเขา ที่อยู่อาศัยกันมานานกว่า 70 ปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2529 มีการประกาศ น.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) ทับกับที่ดินของชุมชน โดยที่ผ่านมามีการเจรจาและหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกัน จนกระทั่งในวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา มีการเข้ามาติดประกาศของฝ่ายปกครอง โดยระบุว่าไม่อนุญาตให้ชาวบ้านไทดำ ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม อาศัยอยู่ที่นี่อีกต่อไป และให้เวลา 30 วันในการย้ายออก ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านอาศัยอยู่ด้วยความกังวลทางด้านจันทรัตน์ รู้พันธ์ ผู้ประสานงานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ชุมชนไทดำ หมู่ 1 และ 4 อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้ระบุว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ สุราษฎร์ธานี ในนามกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ไทดำ ได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจากับภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินที่ยืดเยื้อมายาวนาน จนเกิดการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหา จนมาถึงในปี 2564 ได้ข้อสรุปว่าการประกาศที่น.ส.ล.ทั้งในปี 2529, 2547, และ 2548 เป็นการประกาศผิดตำแหน่ง โดยผลของการตรวจสอบครั้งนี้มีมติคณะรัฐมนตรี 16 ตุลาคม 2566 ให้แก้ไขปัญหาจนได้ข้อยุติ ผ่านการลงนามเห็นชอบจากทุกฝ่ายตั้งแต่ในระดับอำเภอ (นายอำเภอบ้านนาเดิม) จังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี) และระดับกระทรวง (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) จึงนำไปสู่กระบวนการทำแผนที่ใหม่เพื่อเพิกถอน น.ส.ล.ปี 2529 จำนวน 1,318 ไร่“ที่ผ่านมาไม่เคยรุนแรงถึงขนาดที่มาติดป้ายไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่แบบนี้ เขาไม่มีการแจ้งให้เราทราบล่วงหน้าเลย ทั้งๆ ที่ประเด็นน.ส.ล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) มีการสอบสวนจากผู้มีอำนาจหน้าที่ คือผู้ว่าราชการจังหวัดและรัฐมนตรีมหาดไทยแล้วว่าระบุผิดตำแหน่ง ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมทางอำเภอถึงไม่มีการทำงานประสานงานกับส่วนกลาง” จันทรัตน์กล่าวโดยในช่วงเวลา 14.00 น. ของวันดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่พรรคภูมิใจไทย ทางสิรวิชญ์ บ่อถ้ำ หัวหน้าฝ่ายประสานงานพรรคภูมิใจ เป็นตัวแทนมารับหนังสือจากกลุ่มไทดำแทนอนุทิน ชาญวีรกูลโดยรายละเอียดในหนังสือระบุขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการสั่งขับไล่รื้อถอนที่อยู่และผลอาสิน ทั้งที่ปัญหานี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการขัดกับมติคณะรัฐมนตรีและมติของคณะกรรมการซึ่งกำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ และระหว่างการตรวจสอบขอให้นายอำเภอบ้านนาเดิม กลับมาทำงานในกรมการปกครองจนกว่าปัญหาจะแก้แล้วเสร็จข้อต่อมาขอให้อนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย เร่งแก้ไขกรณีปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งปากขอ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผลการตรวจสอบแล้วสรุปว่าออกผิดพลาดคลาดเคลื่อนทับที่ดินของราษฎร และขั้นตอนของการแก้ปัญหาได้ข้อสรุปให้สั่งการดำเนินการตามแนวทางการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จการชุมนุมดำเนินมาถึงวันที่ 22 เมษายน 2568 เวลา 12.00 น. หลังจากที่ชาวไทดำจำนวน 70 คน เดินเท้าจากอาคารสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยตัวแทนชาวไทดำ 3 คนได้แก่ อิสรีย์ พรายงาม, จันทรัตน์ รู้พันธ์ และยายหีต ผู้อาวุโสของชุมชน ได้เข้าพบหารือกับทางประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจันทรัตน์ได้ระบุผลของการหารือกับรองนายกฯ ซึ่งมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและปลัดอำเภอ โดยทางฝ่ายราชการยังคงยืนยันว่าการติดประกาศของฝ่ายปกครอง โดยระบุว่าไม่อนุญาตให้ชาวบ้านไทดำ ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่ 1 และหมู่ 4 ต.ทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม อาศัยอยู่ที่นี่อีกต่อไป เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองจากกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2561 มีคำสั่งการให้ใช้พื้นที่ อ.บ้านนาเดิม บางส่วนมาทำเป็นแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำกว้างประมาณ 200 ไร่ พร้อมตัดโค่นต้นปาล์มที่ชาวไทดำปลูกไว้ ทำให้พวกเขาตัดสินใจยื่นศาลปกครอง แต่ผลปรากฏว่าศาลปกครองมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิหรือได้รับอนุญาตให้อยู่ในที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายโดยแม้ว่าคำพิพากษานั้นจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหยิบเอาประเด็นการอยู่อาศัยในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาใช้ในการดำเนินการขับไล่ออกจากพื้นที่“ทางจังหวัดยืนยันเหมือนเดิมว่า น.ส.ล. ถูกต้องตามตำแหน่ง ที่ต้องปราบปรามชาวบ้านเพราะเป็นคำสั่งของศาลปกครอง” จันทรัตน์กล่าวทางด้านประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้เสริมข้อมูลว่า ตอนนี้ปัญหาดังกล่าวได้เข้าไปสู่การรับรู้ของฝ่ายการเมือง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลนโยบายด้านที่ดินรับทราบถึงปัญหาของพี่น้องชาวไทดำแล้วโดยมีทิศทางบวกจากฝั่งรัฐบาลและหน่วยงานราชการในพื้นที่ในการพยายามหาทางออกร่วมกัน แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่องค์กรอิสระอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะหากนายอำเภอที่มีหน้าที่ในการดูแลที่ดินสาธารณะ ไม่ดำเนินการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่รู้จากคำพิพากษาว่าบุคคลทั้ง 8 คนอยู่ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากคำพิพากษาของศาลปกครอง ก็สามารถถูก ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา 157 ความรับผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ“วันนี้คือการส่งสัญญาณจากรัฐบาลว่ามีทิศทางในการพยายามแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ ป.ป.ช. และคนที่กำกับดูแลกรมที่ดิน คือกระทรวงมหาดไทย จึงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในวันพรุ่งนี้อย่างไร”โดยในวันนี้ (23 เม.ย. 2568) จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินสาธารณประโยชน์และเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ณ กระทรวงมหาดไทย โดยประเด็นนี้จะอยู่ในวาระการประชุมและเป็นประเด็นที่ต้องคอยจับตาดูกันต่อไปว่าการประชุมวันพรุ่งนี้นั้น จะส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของชาวไทดำในพื้นที่ อ.บ้านนาเดิมต่อไปอย่างไร