วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2025 พลเอก แชนซ์ ซอลต์ซแมน (Gen. Chance Saltzman) ผู้บัญชาการกองทัพอวกาศสหรัฐ (US Space Force) กล่าวต่อคณะกรรมการสภาคองเกรสสหรัฐ เตือนผลกระทบจากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของกองทัพอวกาศจีน และผลกระทบจากการถูกตัดลดงบประมาณในรอบสองปีที่ผ่านมา สำหรับการรักษาความเป็นประเทศก้าวหน้าที่สุดสำหรับภารกิจในอวกาศ เสริมโดยประธานสหพันธ์การค้าอวกาศ (Commercial Space Federation) เดวิด คาโวซา (David Cavossa) ว่า ประเทศจีนกำลังทุ่มอย่างเต็มที่ สู่เป้าหมายการเป็นประเทศผู้นำของโลกด้านอวกาศภายในปีค.ศ. 2050

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปดูสภาพการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับกองทัพอวกาศสหรัฐ ไปดูเรื่องราวการแข่งขันเพื่อสร้างกองทัพอวกาศของประเทศต่างๆ และกลับมาดูสถานการณ์เกี่ยวกับกองทัพอวกาศของประเทศไทย

กองทัพอวกาศสหรัฐ : ปัจจุบัน

“กองทัพอวกาศสหรัฐ” มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ก่อนจะได้รับการประกาศตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2019

ก่อนจะไปดูเรื่องราวความเป็นมาของกองทัพอวกาศสหรัฐ และของประเทศอื่นๆ เราไปโฟกัสดูคำกล่าวของ พลเอก แชนซ์ ซอลต์ซแมน และนายเดวิด คาวอสซา ต้นเรื่องที่มาเรื่องของเราวันนี้กันก่อน

ในการให้การและตอบคำถามของคณะกรรมการสภาคองเกรสสหรัฐ เพื่อ “ติดตามและรายงานผลกระทบระดับชาติ ต่อเรื่องความมั่นคงจากความเกี่ยวพันด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน”

พลเอก แชนซ์ ซอลต์ซแมน กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของประเทศจีนในด้านอวกาศ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพการณ์ของการแข่งขันเกี่ยวกับอวกาศ

...

ประเด็นใหญ่ๆ จากการให้การของ พลเอก แชนซ์ ซอลต์ซแมน คือ :-

  • สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ยังเป็นประเทศก้าวหน้าที่สุดทางด้านอวกาศ ต่อเรื่องความมั่นคง การค้า และอื่นๆ
  • ประเทศจีนกำลังทุ่มเททรัพยากรสำหรับการพัฒนาและบุกเบิกอวกาศอย่างเต็มที่ และกำลังประสบกับความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยสำหรับเรื่องของความมั่นคงเกี่ยวกับอวกาศ ประเทศจีนเป็นอีกเพียงประเทศเดียวในโลก ที่มีกองทัพอวกาศอย่างเต็มตัว คล้ายกับของสหรัฐอเมริกา
  • ที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง คือ ความก้าวหน้าของจีนในการพัฒนาอาวุธเพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับอวกาศ ดังเช่น จรวดนำวิถีทำลายดาวเทียม เลเซอร์พลังงานสูง และระบบอิเล็กทรอนิกส์ประสิทธิภาพสูง
  • ที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งด้วย คือ เทคโนโลยีการใช้ดาวเทียมของจีนที่สามารถ “ดำเนินการ” หรือ “จัดการ” ดาวเทียมดวงอื่นๆ ได้ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถถูกเปลี่ยนจากการจัดการกับดาวเทียมเพื่อภารกิจด้านพลเรือน ดังเช่น การตรวจสอบและการซ่อมแซมดาวเทียม ไปเป็นปฏิบัติการด้านทหาร เช่น การทำลายดาวเทียมของฝ่ายตรงข้ามได้
พลเอก แชนซ์ ซอลต์ซแมน
พลเอก แชนซ์ ซอลต์ซแมน

พลเอก ซอลต์ซแมน กล่าวโดยภาพรวม เขายังพอใจและมั่นใจในขีดความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรของกองทัพอวกาศสหรัฐว่า จะยังสามารถรักษา “ความเป็นอันดับหนึ่ง” ทางด้านเทคโนโลยีของกองทัพอวกาศสหรัฐ แต่ยอมรับว่า “กังวล” ต่อการรักษาความเป็นอันดับหนึ่งต่อไปในอนาคต

ในบันทึกคำให้การต่อคณะกรรมการสภาคองเกรส พลเอก ซอลต์ซแมน ได้บันทึกปัญหาและอุปสรรคของการรักษาความเป็นเลิศของกองทัพอวกาศสหรัฐว่า มาจาก “นโยบายอวกาศที่จำกัดกรอบหรือแคบเกินไป และวิธีคิดที่ล้าสมัย”

เมื่อถูกซัก พลเอก ซอลต์ซแมน ขยายความว่า “อวกาศยังถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้การปรับเปลี่ยนนโยบายยังเป็นเรื่องที่ยาก”

สำหรับการแก้ไขปัญหาอุปสรรค พลเอก ซอลต์ซแมน ระบุ 2 เรื่องใหญ่

หนึ่ง คือ การแก้ไขกฎระเบียบที่เข้มงวดและมีขั้นตอนมาก สำหรับการทำงานของกองทัพอวกาศในเรื่องการร่วมมือกับเอกชน การศึกษา การทดลอง ที่มีขั้นตอน (การขออนุญาต) มากดังเช่นการฝึก ก็ไม่สามารถฝึกในสภาพแวดล้อมจริง (เช่น ในอวกาศ) ได้ ต้องฝึกกับ “การจำลองแบบ” หรือ “การทดลองเสมือน” (simulation)

สอง การถูกตัดลดงบประมาณ ซึ่งกองทัพอวกาศสหรัฐได้ถูกตัดลดงบประมาณมาแล้วต่อกันสองปี

พลเอก ซอลต์ซแมน กล่าวย้ำว่า การถูกตัดลดงบประมาณ เป็นปัญหาใหญ่กว่านโยบายที่มีขั้นตอนมากเกินไป

เมื่อถูกขอให้ยกตัวอย่างโครงการที่กองทัพอวกาศต้องการจะได้งบประมาณเพิ่ม พลเอก ซอลต์ซแมน กล่าวว่า เรามีงบประมาณเพียงพอสำหรับโครงการพื้นฐาน แต่ที่เรากังวล ก็คือ โครงการประเภทก้าวหน้า เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งจำนวนมากยังเป็นโครงการในระดับการวิจัยและพัฒนา โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยีในการจำลองสถานการณ์หรือการฝึกอบรม ที่กองทัพมีใช้อยู่ ล้วน “ไม่ทันสมัย” กับการเปลี่ยนแปลงความท้าทายและการแข่งขันจากประเทศที่ไม่มีขีดจำกัดในการพัฒนา

...

 เดวิด คาโวซา (ขอบคุณภาพ : c-span)
เดวิด คาโวซา (ขอบคุณภาพ : c-span)

เดวิด คาโวสซา กล่าวให้ปากคำต่อคณะกรรมการสภาคองเกรส เสริมคำกล่าวของ พลเอก ซอลต์ซแมน โดยเน้นไปที่บทบาทของประเทศจีนในเรื่องของการแข่งขันทางด้านอวกาศว่า...

องค์กรด้านอวกาศของจีนไม่ติดปัญหาเรื่องขั้นตอนดังของสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลจีนก็ให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณเต็มที่ สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำของโลกด้านอวกาศภายในปี ค.ศ. 2050

เดวิด คาโวสซา ยกตัวอย่างความก้าวหน้าและความสำเร็จด้านอวกาศของจีนที่กำลังถูกจับตามอง ดังเช่น สถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station), การสำรวจดวงจันทร์, การสำรวจดาวอังคาร และการส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำรอบโลกจำนวนมาก และสรุปเน้นว่า...

สหรัฐอเมริกามีนวัตกรรมและศักยภาพที่จะรักษาความเป็นประเทศผู้นำด้านอวกาศต่อไป แต่เราจำเป็นต้องมี “ส่วนร่วมที่เต็มใจ” จากรัฐบาลเพื่อการพัฒนาศักยภาพของเราต่อไปอย่างเต็มที่

...

กองทัพอวกาศสหรัฐ : ประวัติย่อ

จุดเริ่มต้นของกองทัพอวกาศสหรัฐ เกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 จาก “สงครามเย็น” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเดิม ที่เปลี่ยนจาก “พันธมิตร” ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นประเทศคู่แข่ง...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์

สำหรับสหรัฐอเมริกา ภารกิจที่นำมาสู่ “กองทัพอวกาศสหรัฐ” ในปัจจุบัน คือ ภารกิจทางด้าน “ความมั่นคง” ของประเทศ แต่แรกมาก็เป็นภารกิจร่วมกันของสามกองทัพสหรัฐ คือ กองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรือ โดยแต่ละกองทัพมีหน่วยหรือโครงการจรวดและอวกาศ เพื่อพัฒนาจรวดให้มีประสิทธิภาพส่งดาวเทียมและมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้

ก้าวสำคัญแรกๆ คือ ความสำเร็จของกองทัพบกสหรัฐ ในการพัฒนาและส่งดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐ คือ เอ็กซ์พลอเรอร์ 1 (Explorer 1) ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1958...

ตามหลังสหภาพโซเวียตเดิม ที่ส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก คือ สปุตนิก 1 (Sputnik 1) ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957

ก้าวสำคัญต่อมาของฝ่ายสหรัฐ คือ ความสำเร็จในการส่งมนุษย์อวกาศ อลัน เชปเพิร์ด (Alan Shepard) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 ซึ่งก็ตามหลังมนุษย์คนแรกที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ คือ ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) มนุษย์อวกาศของสหภาพโซเวียตเดิม เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961

สำหรับ นาซา (NASA) ได้รับการจัดตั้งขึ้นมา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1958 ถึงแม้ภารกิจหลักของนาซาจะเป็นกิจกรรมทางด้านพลเรือน แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารงานของกองทัพอวกาศสหรัฐด้วย

...

ปฏิบัติการทางการทหารที่เกี่ยวข้องหรือนำมาสู่การก่อตั้งกองทัพอวกาศสหรัฐ ที่สำคัญ คือ ปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐในการใช้ข้อมูลข่าวสารจากอวกาศใน “สงครามเวียดนาม” ในปฏิบัติการทางการทหารอื่นๆ ของสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย กับ “Operation Desert Shield” (“ปฏิบัติการโล่ทะเลทราย”) และ “Operation Desert Storm” (“ปฏิบัติการพายุทะเลทราย”) ในปี ค.ศ. 1990-1991

(ขอบคุณภาพ : United States Space Force)
(ขอบคุณภาพ : United States Space Force)

เมื่อกองทัพอวกาศสหรัฐได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 ก็มีสถานภาพเป็นหนึ่งในหกกองทัพและหน่วยงานพิเศษของสหรัฐ คือ (1) กองทัพอวกาศ (2) กองทัพบก (3) กองทัพเรือ (4) กองทัพอากาศ (5) นาวิกโยธินสหรัฐ (US Marine Corps) และ (6) ยามฝั่งสหรัฐ (US Coast Guard)

ในปัจจุบัน มีเพียง 2 ประเทศที่มีกองทัพอวกาศเป็นหน่วยงานเฉพาะของตนเอง อีกประเทศหนึ่งคือ ประเทศจีน

กองทัพอวกาศประเทศจีน รัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ

  • จีน 

กองทัพอวกาศของจีน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า People’s Liberation Army Aerospace Force (กองทัพปลดปล่อยประชาชนการบินและอวกาศ) ได้รับการประกาศตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 2024 คือ เพียงเมื่อประมาณหนึ่งปีมานี้เอง โดยมีจุดเริ่มที่มาจาก People’s Liberation Army Strategic Support Force (กองทัพปลดปล่อยประชาชนสนับสนุนยุทธศาสตร์) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 แล้วในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ได้รับการจัดระเบียบใหม่ แยกเป็น 3 หน่วยงานทางการทหาร คือ:

(1) กองทัพปลดปล่อยประชาชนการบินและอวกาศ หรือ กองทัพอวกาศจีน

(2) กองทัพปลดปล่อยประชาชนไซเบอร์สเปซ (People’s Liberation Army Cyberspace Force) 

(3) กองทัพปลดปล่อยประชาชนสนับสนุนข้อมูลข่าวสารยุทธศาสตร์ (People’s Liberation Army Information Support Force)

สำหรับหน่วยงานหลักด้านอวกาศของจีน คือ ซีเอ็นเอสเอ (CNSA) ก็คล้ายกับนาซาของสหรัฐ คือ รับผิดชอบงานด้านอวกาศเกี่ยวกับพลเรือนเป็นหลัก กำเนิดขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1993 แต่ซีเอ็นเอสเอ (ก็คล้ายๆ กับนาซา) มีบทบาทสำคัญร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทางด้านความมั่นคงของประเทศด้วย

  • รัสเซีย

กองทัพอวกาศรัสเซีย (Russian Space Forces) กำเนิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1992 เป็นกองทัพอวกาศแรกของโลก แต่มีประวัติย้อนหลังไปไกลถึงยุคสงครามเย็น ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเดิม ก่อนความสำเร็จของการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก คือ สปุตนิก 1 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี ค.ศ. 1957

ประวัติความเป็นมาของกำเนิดและภารกิจของกองทัพอวกาศรัสเซีย เกาะติดเป็นคู่แข่งกับของสหรัฐอเมริกามาตลอด แต่ของรัสเซียเดินหน้าชัดเจนและรวดเร็วกว่า ทว่าก็มีการเปลี่ยนชื่อและภารกิจมากกว่าของสหรัฐอเมริกา

จาก Russian Space Forces ในปี ค.ศ. 1992 มาเป็น Russian Aerospace Defence Forces (กองกำลังป้องกันการบินและอวกาศรัสเซีย) ในปี ค.ศ. 2011 แล้วก็รวมกับกองทัพอากาศรัสเซีย เปลี่ยนชื่อเป็น Russian Aerospace Forces (กองทัพการบินและอวกาศรัสเซีย) วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2015 ถึงปัจจุบัน

สำหรับหน่วยงานคล้ายนาซาของรัสเซีย คือ รอสคอสมอส (Roscosmos) ก็คล้ายกับของสหรัฐ คือ มีภารกิจหลักทางด้านพลเรือน แต่ก็มีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงของประเทศด้วย

  • ฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศส คล้ายกับรัสเซีย ไม่มีกองทัพอวกาศเป็นอิสระโดยตรง แต่มี French Air And Space Force (กองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศส) ได้รับการประกาศตั้งอย่างเป็นทางการเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 โดยมีประวัติย้อนหลังไปไกลถึงปี ค.ศ. 1909 เป็นหน่วยหนึ่งทางด้านการบินของกองทัพบกฝรั่งเศส แล้วพัฒนามาเป็น Joint Space Command (กองบัญชาการร่วมอวกาศ) ในปี ค.ศ. 2012 ก่อนจะมาเป็น French Air And Space Force

สำหรับ อีซา (ESA) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการศึกษาและสำรวจอวกาศของกลุ่มประเทศยุโรป มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส และจึงมีบทบาททำงานร่วมกับกองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศสสำหรับข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีอวกาศ

ฝรั่งเศสเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) และของนาโต (NATO) ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับพัฒนาการของกองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศส เพราะได้รับความร่วมมือในการป้องกันประเทศจากประเทศอื่นๆ แต่ก็จำกัดการพัฒนาและบทบาทของตนเองไปด้วย

  • อังกฤษ

ประเทศอังกฤษไม่มีกองทัพอวกาศโดยตรง แต่มี United Kingdom Space Command (กองบัญชาการอวกาศสหราชอาณาจักร) จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2021 จาก United Kingdom Strategic Command (กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหราชอาณาจักร) ซึ่งจัดตั้งมาก่อนระหว่างปี ค.ศ. 2019-2021 และซึ่งก็มาจาก Joint Force Command (กองบัญชาการเหล่าทัพ) จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2012

อังกฤษมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่ก็เป็นประเทศร่วมก่อตั้งนาโต รวมทั้งอังกฤษก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพยุโรป ทำให้กองบัญชาการอวกาศสหราชอาณาจักร มีสภาพการณ์คล้ายกับกองทัพอากาศและอวกาศฝรั่งเศส คือ มีพันธมิตรที่จะช่วยงานได้มาก แต่ก็ทำให้เติบโตอย่างเต็มที่ไม่ได้

(ขอบคุณภาพ : United States Space Force)
(ขอบคุณภาพ : United States Space Force)

ประเทศไทยของเราล่ะ?

นอกเหนือไปจากประเทศที่มีกองทัพอวกาศหรือหน่วยงานปฏิบัติภารกิจของกองทัพอวกาศจำนวน 5 ประเทศที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่มีกองกำลังปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ ดังเช่น สเปน, ตุรกี, เยอรมนี, อิตาลี, อินเดีย, ฯลฯ

แล้วประเทศไทยของเราล่ะ?

ประเทศไทยมิใช่ประเทศใหญ่ แต่เราก็มิใช่ประเทศที่เล็กกระจิริด เพราะประเทศไทยปัจจุบันมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 และมีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 50 จากทั้งหมด 195 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญ ประเทศไทยของเราก็เป็น “สุวรรณภูมิ” จริงๆ ด้วย

กองกำลังป้องกันตนเองของประเทศไทยในปัจจุบัน เรามีกองทัพบก, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ

สำหรับเรื่องกองทัพอวกาศ ถึงแม้ประเทศไทยของเราจะยังไม่พร้อมจะมีกองทัพอวกาศโดยตรงในทันที หรือในระยะใกล้ แต่เราก็สามารถจะพัฒนากองทัพที่มีอยู่ทั้ง 3 เหล่าทัพให้มีขีดความสามารถในการป้องกันประเทศในยุคใหม่ ที่จะเกี่ยวข้องกับการคุกคามหรือการโจมตีจากอวกาศ ทั้งโดยตัวเราเอง และสร้างพันธมิตรกับประเทศใกล้เคียงและไกลออกไป ที่มีขีดความสามารถในการจัดการกับภัยคุกคามจากอวกาศได้

ในส่วนของตัวเราเอง เราก็มีหน่วยงานเกี่ยวกับอวกาศโดยตรง คือ จิสด้า (GISDA) คล้าย นาซา เรามีดาวเทียมของไทยเราเองกำลังโคจรอยู่ในอวกาศ เรามีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรอวกาศ และนักดาราศาสตร์ เรามีกล้องโทรทรรศน์ทั้งชนิดแสงและกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ที่มีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังสิ่งผิดปกติคุกคามประเทศไทยได้ ซึ่งทั้งหมดอาจจะยังต้องพัฒนาต่อไปอีกมาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เอไอ ที่จะช่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น...

ที่สำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่า เรา (ประเทศไทย) ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญและรับมือกับภัยสงครามยุคใหม่ทุกรูปแบบ

ทั้งหมดก็เพราะผู้เขียน “เชื่อ” อย่างหมดหัวใจกับพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระราชทานแก่ “กองเสือป่า” ว่า:

“แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์”

ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านก็เห็นด้วย!