"รถนำขบวน" สู่ "อาสาตำรวจ” อ่านพฤติกรรมจีน ทำไมอยากเป็นอภิสิทธิ์ชนในไทย "นักวิชาการ” ตั้งข้อสังเกตุตำรวจไทยเปิดช่องโหว่ ให้จีนเทาหาผลประโยชน์ ระบบวินัยอ่อนแอ จี้ "จเรตำรวจ" ทำงานเชิงรุก เอาผิดวินัยและอาญา
กลายเป็นปมร้อนรับปีใหม่ 2568 หลัง “ทนายแจม” ปูดโครงการอบรมอาสาตำรวจคนจีน เก็บค่าอบรมหัวละ 38,000 บาท มีตำรวจเป็นวิทยากร หลังจบหลักสูตรมอบเสื้อกั๊กตำรวจ บัตรอาสาตำรวจ มีการตั้งคำถามว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งหลังมีการเผยแพร่ในโลกโซเชียล ตำรวจออกมาโต้ว่า การไปอบรมดังกล่าวได้รับเชิญเป็นวิทยากร ส่วนเครื่องหมายราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร CIB ตำรวจสอบสวนกลาง บนใบประกาศพบว่า ไม่ได้รับการขออนุญาติ หลังจากนี้จะมีการสอบสวน เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดต่อไป ขณะมหาวิทยาลัยเอกชน เจ้าของหลักสูตรเตรียมแถลงถึงความชัดเจนอีกครั้ง
ย้อนไปเมื่อ 19 ม.ค. 2566 เกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีรถตำรวจนำขบวน โดยมีคลิปชาวจีนเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย สามารถจ้างตำรวจเป็นรถนำขบวนได้ มีการอ้างว่าต้องจ่ายเงินค่าจ้าง 7,000 บาท โดยกรณีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการลงโทษตำรวจชุดที่ไปรับงานพิเศษแล้ว
...
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนความต้องการของชาวจีนบางส่วน เกี่ยวโยงกับผู้ใช้อำนาจทางกฎหมายนั่นคือ ตำรวจ “รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาฯ ม.รังสิต วิเคราะห์พฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับทีมข่าว ว่า เคยมีงานวิจัยระบุถึงพฤติกรรมของชาวเอเชีย มักยึดติดกับอำนาจ ตำแหน่งในเครื่องแบบ เช่นเชื่อว่าถ้ามีตำแหน่งราชการจะเอื้อให้ได้รับประโยชน์ ซึ่งคนจีนที่เข้ามาไทยบางส่วนก็มีความคิดเช่นนั้น
ด้วยค่านิยมเหล่านี้ ทำให้ชาวจีนที่เข้ามา จึงอยากจะได้รับความเป็นอภิสิทธิ์ชน เช่น มีรถนำขบวน หรือใส่ชุดที่คล้ายกับตำรวจ เพราะเครื่องแบบสะท้อนถึงการมีอำนาจของรัฐ ในการจับกุมคนร้าย น่าสนใจว่าชาวจีนที่เข้ามามักมีการเกี่ยวโยงกับตำรวจ แต่ไม่ค่อยไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐอื่น
ชาวจีนที่เข้ามาและมีพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ ขณะที่บางกลุ่มทำธุรกิจสีเทา เช่น ยอมจ่ายเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ซึ่งคนไทยที่เห็นข่าวจะไม่ค่อยสบายใจ เพราะเราจ่ายภาษีให้กับหน่วยงานรัฐ แต่คนจีนที่จ้างตำรวจให้ไปรับในสนามบินออกมาอย่างสบาย คนไทยที่เสียภาษียังต้องผ่านจุดตรวจศุลกากร
อีกมุมหนึ่งก็เป็นภาพสะท้อนถึงระบบราชการไทย เพราะชาวจีนส่วนใหญ่ต้องการความอภิสิทธิ์ชนในไทย มักต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับข้าราชการนอกรีต หรือคนจีนบางรายอาจให้ข้าราชการอำนวยความสะดวกให้ เนื่องจากเคยช่วยเหลือกันในการทำธุรกิจ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องแก้ปัญหาเชิงรุก
“รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์" มองว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีการกวดขัน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตกไปเป็นเครื่องมือของคนเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาต้องกวดขันผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ให้มีพฤติกรรมเข้าข่ายแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงต้องมีการลงโทษผู้กระทำผิดทั้งทางวินัยและอาญา
“ตำรวจก็มีหน่วยงานอย่างจเรตำรวจ ควรมีการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่รอแต่ให้คนมาแจ้ง หรือไปตรวจตามประเพณี แต่ควรมีการตรวจสอบข้อมูลทางออนไลน์ รวมถึงเข้าไปรับทราบปัญหาของประชาชนในพื้นที่ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรและประเทศ”
ปกติตำรวจมีทั้งเรื่องระเบียบวินัยและจรรยาบรรณ ที่เป็นเส้นแบ่งว่าพฤติกรรมไหนข้ามเส้นไปสู่การกระทำผิด หรือเอื้อให้กับคนที่ใช้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น การจัดรถนำขบวนให้กับคนจีนธรรมดา ที่มีการให้เงิน ซึ่งสิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผิดกฎในเรื่องระเบียบวินัยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“ตำรวจดีๆ มีอีกจำนวนมากที่ตั้งใจทำงาน เสียสละเพื่อส่วนรวม แต่เราต้องแยกระหว่างคนทำดีกับคนที่ทำไม่ดี ซึ่งคนที่ไม่ดีต้องมีความชัดเจนในการลงโทษทั้งวินัยและอาญา ส่วนตำรวจดี ต้องมีระบบส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ เพราะวันข้างหน้าจะได้มีจำนวนมากขึ้น และมาควบคุมให้คนที่ทำไม่ดี ไม่ให้ขยายวงกว้าง ที่ผ่านมาวงการตำรวจมักมีความเกรงใจผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ทำให้ไม่กล้าลงโทษผู้กระทำผิด จนเกิดการเลียนแบบ ส่งผลเสียต่อองค์กรโดยรวม”
...