คุยกับ ผอ.สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ คดีขับเจ็ตสกีชนเรือหางยาว กับประเด็นกฎหมาย ใบขับขี่เรือ การควบคุมความเร็ว และปัญหาเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา
กลายเป็นเรื่องเศร้าสลด สำหรับกรณีอุบัติเหตุของหนุ่มนักแสดงซีรีส์ที่ขับเจ็ตสกีชนกับเรือหางยาวข้ามฟากขนาดเล็ก ที่บริเวณคุ้งน้ำพระประแดงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ และมีบาดเจ็บ ซึ่งวันนี้มีการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่ ในขณะที่เจ้าตัว “คิวพี” ได้เดินทางมากับพ่อ
เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “เรา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายพิทักษ์ วัฒนพงศ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า เผยถึงกฎระเบียบ และการดูแลความปลอดภัยของการสัญจรทางน้ำ ในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา
นายพิทักษ์ กล่าวอย่างตรงประเด็นว่า สำหรับ “เจ็ตสกี” นั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสภาพประจำปี โดยเฉพาะความแข็งแรงมั่นคง ความปลอดภัยต่าง ๆ ในขณะที่ “ผู้ขับเรือ” จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรที่รับรองเรื่องความรู้ความสามารถ โดยประกาศนียบัตรนั้น บังคับใช้กับผู้ควบคุมเรือกลุ่มนี้ด้วย
ส่วนเรือหางยาว ก็จำเป็นต้องมีการจดทะเบียน ใบอนุญาตใช้เรือ และผู้ควบคุมเรือ เช่นเดียวกัน

...
ระเบียบในการใช้เรือในเวลากลางคืน
ผอ.สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ในข้อเท็จจริง เรือสามารถใช้สัญจรได้ เหมือนกับการขับรถเวลากลางวัน หรือกลางคืน แต่...กลางคืน กรณีเรือ จำเป็นต้องมีไฟแสงสว่าง ถ้าเรือยาวไม่ถึง 12 เมตร จำเป็นต้องมี “ไฟแสงสว่าง” ซึ่งตรงนี้มันอยู่ในระเบียบ “ป้องกันเรือโดนกัน” (พ.ศ. 2522) โดยในเนื้อหา จะระบุว่า หากหัวเรือตรงกัน จะต้องหลบหลีกกันอย่างไร กลางคืนเห็นไฟแบบไหน ต้องหลบอย่างไร
ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.ป้องกันเรือโดนกัน ระบุสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า
อัตราความเร็ว: เรือทุกลำต้องเดินด้วยอัตราความเร็วที่ปลอดภัย และเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการหลีกเลี่ยงการโดนกัน และให้เรือหยุดภายในระยะที่เหมาะสมกับเหตุการณ์และสถานการณ์
ปัจจัยการพิจารณาอัตราความเร็ว
1. ขึ้นกับสภาพแห่งทัศนวิสัย
2. ความหนาแน่นของการจราจร
3. ความสามารถในการบังคับการเดินเรือในทันต่อเหตุการณ์
4. ในเวลากลางคืน เมื่อปรากฏว่ามีแสงไฟมารบกวนทัศนวิสัย เช่น แสงไฟจากฝั่ง หรือแสงไฟสาดส่องจากท้ายเรือตนเอง
เป็นต้น
ส่วนในหมวด สถานการณ์หัวเรือตรงกัน:

ให้เรือแต่ละลำเปลี่ยนเข็มเดินเรือไปทางขวา เพื่อให้เรือสวนกันทางกราบซ้ายของกันและกัน
ขณะในเวลากลางคืน เรือลำหนึ่งมองเห็นโคมไฟเสากระโดงทั้งสองของเรืออีกลำหนึ่งอยู่ในแนวเดียวกันหรือเกือบเป็นแนวเดียวกันและหรือมองเห็นโคมไฟข้างเรือและในเวลากลางวันเรือลำหนึ่งสังเกตเห็นเรืออีกลำหนึ่งในลักษณะดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกัน
ทัศนวิสัยของแสงไฟ
กรณีเรือที่มีความยาวไม่ถึง 12 เมตร
- โคมไฟเสากระโดง 2 ไมล์
- โคมไฟข้างเรือ 1 ไมล์
- โคมไฟท้ายเรือ 2 ไมล์
- โคมไฟพ่วงจูง 2 ไมล์
- โคมไฟสีขาว แดง เขียว หรือสีเหลือง มองเห็นได้รอบทิศ 2 ไมล์
นายพิทักษ์ กล่าวว่า เจ็ตสกี ก็ต้องมีไฟแสงสว่าง เพราะเวลากลางคืน จะแทบมองไม่เห็นกันเลย เห็นก็เป็นลักษณะตะคุ่ม ๆ เพื่อให้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในน้ำ เพื่อให้หลบหลีกได้ถูก
หากเป็นเรือใหญ่ จะมีไฟแดงที่ด้านกราบซ้ายเรือ ไฟเขียวอยู่ขวา ส่วนเรือลำเล็ก ต่ำกว่า 12 เมตร ก็ต้องแสดงให้เห็นเด่นชัดได้
การดูแลปัญหาเจ็ตสกี ที่เริ่มมีการขับในแม่น้ำสาธารณะเพิ่มมากขึ้น นายพิทักษ์ กล่าวว่า มาตรการการดูแล ทางผู้บริหารกรมได้เน้นย้ำว่า เรามีการกำชับเรือทุกลำ ว่าต้องมีอุปกรณ์สำหรับส่งแสงสว่าง โดยเฉพาะขับในเวลากลางคืน เพื่อให้เห็นเด่นชัด
ส่วนผู้ขับขี่เรือ ต้องใส่ชูชีพตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมา ก็เคยมีกรณี “เจ็ตสกี” คว่ำ และต้องไปช่วยกันตามหา”

...
นายพิทักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการควบคุมความเร็ว นั้น มีกฎหมายควบคุมอยู่ โดยต้องไม่ทำให้ผู้อาศัยริมน้ำได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะการส่งเสียง และขับเร็วจนเกิดคลื่น
กรณีใน กทม. จากปากเกร็ด ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ต้องขับไม่เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันนี้ครอบคลุมเรือเล็ก เรือใหญ่ เรือโดยสาร
กรณีเลยออกไปจาก กทม. ตั้งแต่ปากเกร็ด จนถึงวัดราชสิงขร ไม่เกิน 26 กิโลเมตร/ชั่วโมง
“ส่วนนอกเหนือจากตรงนี้ ที่ไม่ใช่พื้นที่จราจรหนาแน่น ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องความเร็ว แต่ในกฎหมายเขียนว่า ให้นายเรือใช้ความระมัดระวัง ไม่ขับเร็วจนก่อให้เกิดคลื่นไปกระทบกับบ้านเรือนประชาชน รวมถึงการกีดขวางเรือลำอื่น”
เมื่อถามความชัดเจนว่า อย่าง “เจ็ตสกี” ควบคุมความเร็วในพื้นที่ดังกล่าวเช่นเดียวกันหรือไม่ นายพิทักษ์ตอบว่า “เหมือนกัน” แต่คาดว่า นอกเมือง อาจจะมีเร็วกว่านี้บ้าง เพราะเรือลำเล็ก เวลาขับขี่ อาจจะเกิดคลื่นน้อยกว่า คล้ายเป็นการขับเรือเที่ยวชายหาด หากมีความผิด จะอยู่ที่ “ผู้ควบคุมเรือ” ต้องไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
กรณีผู้ประกอบการให้เช่าเรือเจ็ตสกี กับการตรวจสอบใบประกาศ “ผู้ควบคุมเรือ”
นายพิทักษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะขับเรืออย่างไร คนขับเรือจำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรก่อน เพราะกฎหมายบังคับ
“หากไม่มีประกาศนียบัตรผู้ขับเรือ เจ้าของเรือก็มีความผิด โทษทั้งจำ ทั้งปรับ 5,000-10,000 บาท ส่วนกรณีในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่มีการควบคุมพื้นที่อย่างแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา บางแสน แบบนี้กรมเจ้าท่า มีออกข้อกำหนดงดเว้นให้ เรียกว่ามีเขตการเดินเรือชัดเจน”
สิ่งที่ต้องทบทวนในการระมัดระวังในแม่น้ำเจ้าพระยา
...
นายพิทักษ์ ตอบว่า สิ่งจำเป็นในการที่เรือจะมาขับหรือมาวิ่งในพื้นที่นั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบสภาพเรือประจำปี สิ่งที่ต้องเพิ่มเติม คือ เรื่องไฟแสงสว่าง โดยเฉพาะเดินเรือกลางคืน หากผู้ประกอบการให้บริการตอนกลางคืน แล้วไม่มีไฟ ก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งเราอาจจะเดินหน้ายกร่างแก้ไขเพิ่มเติม
“ผู้ขับขี่ต้องมีประกาศนียบัตร หากไม่มีก็จะมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ กรมจะนำเรื่อง “การควบคุมความเร็ว” ไปพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะแหล่งชุมชน ไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ คือ ผู้ขับขี่ ต้องเข้าใจกฎระเบียบในการขับ การที่ขับขี่ได้ แต่ไม่รู้กฎระเบียบทางน้ำสาธารณะ มันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปไล่กวดขัน จับกุมเวลากลางคืน ก็ทำได้ลำบาก” นายพิทักษ์ กล่าวและว่า
ที่ผ่านมา เราพยายามสร้าง community ให้กับชุมชนช่วยกำกับดูแล หรือคนในกลุ่มที่ขับเรือเหล่านี้ ต้องร่วมกันไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน สุดท้าย ถ้ามีเหตุ เราก็มีสายด่วน 1199 สามารถโทรหาได้ 24 ชั่วโมง เราก็จะช่วยประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่ผ่านมา มีการแข่งเรือตามคลองเล็ก ๆ สร้างความเดือดร้อน
“โทษไม่มีประกาศนียบัตรความรู้ในการขับขี่เรือ ก็ถือเป็นคดีอาญาอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้ไม่รวมถึงกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของทางตำรวจ ที่จะเข้ามาพิจารณาโทษ”
สุดท้าย “เรา” ถาม กรณีการเกิดเหตุยามค่ำคืน จะมีการพิสูจน์ทราบถึงความผิดอย่างไร นายพิทักษ์ ตอบว่า เรื่องนี้พนักงานสอบสวน ไปตรวจสอบรูปแบบการชน หลักฐานจากกล้องวงจรปิด ดูกฎในการหลบหลีกเรือ ซึ่งหลักฐานทุกอย่าง จะใช้ประกอบและมีการแจ้งความผิดกันต่อไป...
...
ขณะที่กรมเจ้าท่าเอง ก็มีการสอบสวน เช่นเดียวกันว่า กรณีผู้ขับเรือมีการถือประกาศนียบัตรผู้ขับขี่เรือ ก็อาจจะมีการ “งดใช้” ประกาศนียบัตร แต่ถ้าไม่มีก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งผู้ขับขี่เรือ และเจ้าของเรือ...
อ่านบทความที่น่าสนใจ