ส่งมอบโกลเด้นบอย Golden Boy และรูปสำริด ผู้หญิงพนมมือ โบราณวัตถุพันปี สวยงามระดับโลก หลังถูกขายให้ต่างชาติเมื่อ 50 ปีก่อน กรมศิลปากร เตรียมศึกษาต่อ เพื่อไขความลับประวัติศาสตร์ พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชม วันที่ 22 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป

วันนี้ (21 พ.ค. 67) ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ มีพิธีส่งมอบ Golden Boy โกลเด้นบอย ประติมากรรมสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี และรูปสำริด ผู้หญิงพนมมือ ซึ่งเป็นวัตถุโบราณล้ำค่า ที่จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งคืนให้ไทย

Golden Boy โกลเด้นบอย ได้นำกลับมายังประเทศไทยแล้วเมื่อวาน (20 พ.ค. 67) ช่วงเช้า ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนจะมีกระบวนการทางศุลกากร และลำเลียงออกมาด้วยรถบรรทุกที่ปรับสภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งในพิธีรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ ด้านประวัติศาสตร์ไทย

...

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ถือเป็นประวัติศาสตร์การนำวัตถุโบราณกลับคืนประเทศไทยได้เร็วที่สุด เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคของการล่าวัตถุโบราณ ถือเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ถือเป็นบทเรียน แต่การได้รับโกลเด้นบอยคืน ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงจรรยาบรรณของพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่

โกลเด้นบอย เป็นโบราณวัตถุ ที่คนทั่วโลกเดินทางมาชมที่อเมริกา ซึ่งการที่โบราณวัตถุได้อยู่ในแผ่นดินแม่แหล่งกำเนิด ถือเป็นความร่วมมืออันดี สำหรับกรมศิลปากร มีภารกิจการตามคืนอีกหลายชิ้น

โบราณวัตถุที่ได้รับมอบคืนมานี้เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ แสดงถึงร่องรอยหลักฐานความรุ่งเรืองของการหล่อโลหะสำริดในดินแดนที่ราบสูงโคราช อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือมีอายุราวเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว เป็นประติมากรรมรูปบุรุษสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษ คือหล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง ส่วนประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน อยู่ในท่านั่งชันเข่า และยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริดมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงิน และทอง

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับมอบโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา โดยกรมศิลปากรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชมได้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีการรับมอบอย่างเป็นทางการนี้ ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

โกเด้นบอย ข้อมูลวิชาการยืนยันของไทย

นาย John Guy ผู้แทนพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทย สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันว่า โบราณวัตถุดังกล่าวเป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรม การส่งคืนโบราณวัตถุให้แก่ประเทศไทยเกิดขึ้นหลังจากที่เดอะเม็ท เริ่มการตรวจสอบแหล่งที่มาของทรัพย์สิน ทางวัฒนธรรมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งการริเริ่มนี้ขับเคลื่อนโดยความมุ่งมั่นของพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงถึงการที่เดอะเม็ท ให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง

...

ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองรูปพระศิวะ โกลเด้นบอย ในศาสนาฮินดู ถือเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นเดียวอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นหนึ่งในประติมากรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดประเภทรูปเคารพที่ยังหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสภาพการเก็บรักษาเกือบสมบูรณ์

ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือที่รู้จักในนาม Golden Boy เป็นประติมากรรมที่มีรูปร่างงดงาม แต่น่าเสียดายที่ไม่มีจารึกใดๆ ที่จะปรากฏเป็นเบาะแสในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดได้เลย แน่นอนว่ารูปเคารพนี้ ทำหน้าที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญในเทวสถาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะหมายถึง พระศิวะ เทพในศาสนาพราหมณ์

พระศิวะโดยปกติจะปรากฏในรูปของศิวลึงค์ ดังที่เราเห็นได้จากโบราณวัตถุหลายๆ ชิ้น ที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำเสนอในแบบมานุษยรูปนิยมของเทพ ซึ่งอาจจะมีนัยที่ซ้อนอยู่ คือเหมือนดั่งพระศิวะอวตารในรูปจำแลงของกษัตริย์ ผู้อุปถัมภ์ในการสร้าง หรืออาจจะเป็น บรรพบุรุษใกล้ชิดของกษัตริย์ ที่ได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศ

การสร้างรูปเคารพของผู้ปกครองอันศักดิ์สิทธิ์ในรูปร่างของเทพเจ้านั้น มีคำอธิบายไว้ในจารึกของราชวงศ์เขมรหลายฉบับ อันเป็นส่วนหนึ่งของขนบธรรมเนียม ที่ยกย่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเทวราชา

...

รูปหล่อสำริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นของวัฒนธรรมเขมรในสมัยเมืองพระนครของกัมพูชา ที่อยู่ในจุดสูงสุด ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ถูกค้นพบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก ในสระน้ำที่คนขุดขึ้น ณ เมืองพระนคร เป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีขนาดความยาว 3 เมตร

ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะองค์นี้ โดดเด่นกว่ารูปประติมากรรมที่กล่าวมานั้น ในแง่ของคุณภาพของประติมากรรม และความประณีต ส่วนความยิ่งใหญ่ของตัวประติมากรรมและการตกแต่งเครื่องประดับนั้น ยังไม่อาจเทียบได้ รวมถึงการตกแต่งด้วยการกะไหล่ทองซึ่งยังคงอยู่แม้ผ่านมานับพันปี

หากพิจารณาจากผ้านุ่งห่มแบบสมพตในภาษาเขมรหรือผ้านุ่งในภาษาไทย มีการตกแต่งรอยผูกที่ชายผ้าด้านหน้าและปมผ้าด้านหลังก็ตกแต่งอย่างสวยงามสะท้อนเรือนร่างที่สวมใส่อยู่

เครื่องประดับ พาหุรัด กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า กรองคอ และมงกุฎ เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์

ดังที่ คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตไว้ การวางเท้าเหลื่อม อาจบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหว หรือสิ่งนี้คือเทพที่กำลังเคลื่อนไหว!

...

โบราณวัตถุชิ้นที่สองในวันนี้คือ ประติมากรรมรูปสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ ประดับด้วยเพชรพลอย และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นสตรีในราชสำนัก กระทำกิริยาท่าทางการสักการะตามธรรมเนียม

ท่านั่งโดยพับขาข้างหนึ่งไว้ข้างใต้ (เท้ามองเห็นได้จากด้านหลัง) มีลักษณะเป็นธรรมชาติ และปฏิบัติตามมารยาทในการนั่งต่อหน้าพระราชวงศ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย

การสร้างประติมากรรมสำริดในลักษณะนี้ ต้องทุ่มเทและใช้ทรัพยากรอย่างมาก เนื่องจากมูลค่าของโลหะมีราคาสูงมาก ในความคิดเห็นของผมเชื่อว่าผลิตขึ้นในโรงหล่อหลวงบริเวณชั้นในของเมืองพระนคร ดังเช่น โรงถลุงแร่และหล่อโลหะแห่งหนึ่งภายในบริเวณพระราชวังที่นครธมที่ได้รับการสำรวจทางโบราณคดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ประติมากรรมทั้งสองชิ้นหล่อด้วยกระบวนการสูญขี้ผึ้ง โดยมีแกนเหล็กที่ยื่นออกมาจากส่วนมงกุฎถึงเท้า เมื่อการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้ายบนพื้นผิวสำริด ทำได้อย่างประณีตและละเอียด

เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของทั้งพระศิวะและสตรีนั่งชันเข่าโดยละเอียด พบว่าทั้งสององค์มีการตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือทองคำและเงิน

พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวดและเคราก็มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน

ประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ติดตั้งอยู่บนแท่นหินในเทวสถาน ที่สร้างด้วยศิลาแลงหรืออิฐ สว่างไสวด้วยตะเกียงน้ำมัน ประติมากรรมทั้งสองนี้จึงมีอำนาจและสง่างามน่าหลงใหล

พระศิวะประทับยืนเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่สำคัญสำหรับการสักการะในวิหารหลวง แต่ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วตอนต้น มันอาจจะทำหน้าที่สองอย่างพร้อมกัน โดยเป็นตัวแทนของเทพเจ้าและรูปบรรพบุรุษใกล้ชิดของกษัตริย์

จารึกหลายฉบับกล่าวถึงวัดหลวงที่อุทิศให้กับบรรพชนผู้ล่วงลับของชนชั้นปกครอง และรูปเคารพนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นตามหลักการดังกล่าว

แม้ว่ารูปเคารพดังกล่าวถูกกำหนดไว้เพื่อการสักการะของราชวงศ์ที่นครวัด แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่า รูปเคารพเหล่านี้ถูกส่งไปประดิษฐานยังเมืองสำคัญของอาณาจักรเขมรด้วย

ในช่วงเวลานั้นมีการแผ่ขยายอิทธิพลทางศิลปะไปทางทิศใต้บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง และทางตะวันตกเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน ระบบถนนหลวงที่ทอดยาวเชื่อมโยงเมืองพระนครไปทางตะวันตกสุดจนถึงจังหวัดลพบุรีทางภาคกลางของประเทศไทย

โดยกรมศิลป์จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น พร้อมเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ จากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จ.ศรีษะเกษ ที่มีลักษณะคล้ายโกเด้นบอย ให้ประชาชนได้เข้าชมตั้งแต่ 22 พ.ค. 67 ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

Golden Boy โกลเด้นบอย เปิดที่มาขโมยไปขายต่างประเทศ

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ เปิดเผยว่า โบราณวัตถุ 2 ชิ้น ที่ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งคืนให้ไทย เกือบจะไม่ได้คืน เนื่องจากหาหลักฐานไปยืนยันไม่ได้ในช่วงแรก ขณะที่กัมพูชามีคณะทำงานทวงคืนที่ติดตามอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้นำเสนอกับ กรมศิลปากร และได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูลนำไปยืนยันกับสหรัฐอเมริกา

ประติมากรรมสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี มีความสูง 129 ซม. เป็นวัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่กัมพูชาพยายามนำหลักฐานมายืนยันกับสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นวัตถุโบราณที่มีความงดงาม แต่ไทยก็หาหลักฐานไปยืนยันจนพบว่าเคยมีการขุดค้นพบ Golden Boy อยู่ในปราสาทโบราณ กลางชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เมื่อเห็นรูปภาพ ก็ระบุชัดเจนว่ามีครอบครัวหนึ่งในชุมชนเป็นผู้ขุดค้นพบเมื่อปี 2518 จากนั้นได้ขาย ประติมากรรมสำริด Golden Boy ให้กับพ่อค้าวัตถุโบราณชาวต่างชาติ ราคา 1 ล้านบาท หลังขายได้ช่วงปี 2518 ทั้งหมู่บ้านจัดงานฉลองใหญ่ 3 วัน 3 คืน สิ่งนี้ทำให้มีพยานบุคคลในหมู่บ้านที่เกิดทันยุคนั้น ระบุได้ถึงการขายโบราณวัตถุดังกล่าว ดังนั้นเรื่องเล่านี้ทำให้คนในหมู่บ้านจำได้แม่น

อีกหลักฐานสำคัญยืนยันว่า Golden Boy ขุดค้นพบที่ บ้านยางโป่งสะเดา คือ ลูกสาวคนขุดพบ เป็นผู้ล้างรูปสำริดหลังขุดเจอ ยืนยันถึงรอยชำรุดสำคัญบริเวณเข็มขัดตรงผ้านุ่งด้านหน้า ที่ห้อยลงมามีรอยหัก พ่อเลยเอาลวดผูกติดไว้ ดังนั้นรอยตำหนิจึงตรงกับข้อมูลการซ่อมของพิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา

จิ๊กซอว์สำคัญถัดมาคือ ชาวบ้านยางโป่งสะเดา เคยเห็น และระบุได้ถึงความสูง ประติมากรรมสำริด Golden Boy ใกล้เคียงขนาดจริงในพิพิธภัณฑ์สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ครอบครัวที่ขายให้กับนักค้าของโบราณ ระบุว่า ก่อนขาย ทางคนที่ซื้อต่อได้ถ่ายรูปประติมากรรมไว้ให้หนึ่งใบ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ครอบครัวเผารูปนั้นทิ้ง แต่เมื่อเอาภาพที่จัดแสดงไว้ที่อเมริกาให้ดูก็ยืนยันได้ชัดเจน.

ภาพธนัท ชยพัทธฤทธี