เคยเจอหรือไม่? ถนนแหว่ง ถนนกุด ดูทะแม่งๆ สร้างถนนสุดทางไปอยู่กลางทุ่งแบบด้วนๆ มีการแบ่งสร้างทีละร้อยเมตร สองร้อยเมตร ถนนเบี้ยวไปเบี้ยวมา ตรงนั้นต่ำตรงนี้สูง และกว่าถนนจะเสร็จทั้งเส้นกินเวลาตั้งหลายปี ส่วนที่ทำปีแรกๆ ก็พังไปแล้ว จึงเกิดคำถามว่าทำไมไม่สร้างถนนครั้งเดียวแบบยาวๆ ทำไมต้องแบ่งสร้างทีละนิด ติดขัดปัญหาอะไรหรือไม่ จนถนนในหมู่บ้านอยู่ในสภาพขาดๆ แหว่งๆ 

จากการร้องเรียนของชาวบ้านจังหวัดสุรินทร์ ว่าถนนในหมู่บ้านพื้นที่ ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีความผิดปกติ ทั้งด้วน กุด แหว่ง แถมถนนยังไม่ต่อกัน เป็นถนนคอนกรีตแล้วมาเจอถนนดิน แหว่งๆ อยู่ตรงกลาง และถัดไปก็มีถนนอีกเส้น อะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ติดตามภารกิจ "see true" ให้คุณเห็นความจริง ในการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์

ถนนเส้นเดียว ทำไมสร้างไม่พร้อมกัน "แหว่งๆ กุดๆ"

เริ่มจากถนนเส้นแรกอยู่ใกล้หมู่บ้าน มีการสร้างสองครั้ง โดยครั้งแรก ปี 2563 ระยะทาง 142 เมตร และครั้งที่สอง ปี 2565 ระยะทาง 240 เมตร เหลือเพียงแค่ 100 เมตร ไม่มีการสร้างต่อ จนจุดสิ้นสุดถนนเป็นดิน และไปสร้างถนนอีกเส้นใกล้ๆ กัน ทิ้งระยะร้อยกว่าเมตรในสภาพถนนขาด ซึ่งชาวบ้านยืนยันถนนเส้นนี้สร้างมาแล้วหลายปี แต่สร้างครั้งละนิด ไม่ได้สร้างครั้งเดียว จากตรงนี้แล้วมาต่อตรงนี้

จุดที่สองในพื้นที่หมู่บ้านใกล้ๆ กัน ถนนเส้นเดียวกัน แต่แบ่งสร้างไม่พร้อมกัน จากป้ายโครงการพบว่าถนนช่วงแรกสร้างเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 ระยะทาง 235 เมตร จากนั้นเดือนสิงหาคม ปี 2566 หรือห่างกันเพียง 8 เดือน ก็สร้างอีก 150 เมตร ยิ่งทำให้เกิดความสงสัย ทำไมไม่สร้างให้เสร็จในปีเดียว เช่นเดียวกับถนนในจุดที่สาม เป็นซอยแยกจากถนนหลักยาว 135 เมตร แต่ไม่ถึงบ้านคน ในสภาพถนนกุดๆ กลางทุ่ง ทั้งๆ ที่เหลืออีกแค่ร้อยเมตร

...

แบ่งซื้อแบ่งจ้าง ทุกโครงการไม่เกิน 5 แสน ทำเพื่ออะไร

ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในการสร้างถนนแปลกประหลาด "ด้วน กุด แหว่ง" ทาง "ธีรพงศ์ ยอดกุล" ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า มีการแบ่งซื้อแบ่งจ้างแทนที่จะจ้างรวมกันทีเดียว และการซอยลดวงเงินจะทำให้วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นวิธีการแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งข้อเท็จจริงตรงนี้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ

แล้วการแบ่งซื้อแบ่งจ้างคืออะไร เป็นการแบ่งซอยงบประมาณเป็นหลายๆ โครงการ ให้อยู่ในวงเงินที่สามารถอนุมัติได้ ไม่ต้องเปิดประมูล ยิ่งดูงบก่อสร้างก็ยิ่งสงสัย เพราะทุกโครงการวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท จากป้ายโครงการที่ระบุงบประมาณทั้งสิ้นสี่แสนเก้าหมื่นสามพันหกร้อยบาท มาอีกโครงการระบุงบประมาณสามแสนสี่หมื่นสามพันห้าร้อยบาท อีกโครงการงบประมาณสามแสนสองหมื่นสองพัน และโครงการถัดไปงบประมาณสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันเจ็ดร้อยบาท 

วงเงิน 5 แสนบาท คือตัวเลขงบประมาณที่ท้องถิ่นมีอำนาจจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ตามกฎกระทรวง แล้วคนผิดเป็นใคร ระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทรับเหมา หรือผู้ตรวจรับโครงการ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพิสูจน์ของป.ป.ช.

ขณะที่ "มานะ ดีล้อม" นายก อบต.นาดี ในฐานะเจ้าของโครงการ ชี้แจงสาเหตุ เป็นเพราะพื้นที่มีชุมชนอาศัยอยู่ค่อนข้างกว้าง แต่งบประมาณมีจำกัด ทำอย่างไรในการกระจายงบ บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้ทั่วถึง ทำให้ต้องแบ่งงบเป็นหลายส่วน 

ป.ป.ช. ตรวจสอบซอยงาน จงใจเลี่ยงประมูลหรือไม่?

นำไปสู่คำถามที่ว่า หากมีถนนแบบนี้อยู่หน้าบ้าน แล้วเกิดข้อสงสัยว่าอาจจะมีการซอยงบ หรือได้ถนนไม่ตรงตามสเปก จะต้องทำอย่างไร "นิวัติไชย เกษมมงคล" เลขาธิการ ป.ช.ช. ระบุ การแบ่งซอยงานก็เป็นอำนาจอีกอันหนึ่ง ต้องดูว่าเป็นงานที่ทำต่อเนื่องหรือไม่ แต่แบ่งเป็นสิบงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูลงานหรือไม่ ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่

"หากประชาชนอยู่ใกล้พื้นที่ การสังเกตก็ง่ายๆ กว้างยาวสูง เวลาก่อสร้างแต่ละวัน ชาวบ้านจะเดินผ่านไปผ่านมาอยู่หน้าบ้าน ตั้งแต่เดินผ่านมาไม่มีเหล็กแม้แต่เส้นเดียว อยู่ๆ ก็ฉาบปูน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ชี้ช่องเบาะแสได้" เลขาธิการ ป.ช.ช. กล่าวทิ้งท้าย

หากแถวบ้านใครมีถนนแบบนี้ "ขาด กุด เบี้ยว เหลื่อม" หรือดูแล้วอาจไม่ตรงตามสเปก สามารถแจ้งเบาะแสไปที่ ป.ป.ช. ทุกจังหวัด เพราะงบประมาณจากภาษีของเรา จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะมาดูว่าถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ แตกร้าว อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องไปดูว่าถนนเส้นนี้สเปกเป็นอย่างไร สร้างตรงสเปกหรือไม่ งบประมาณเท่าไร มีรายละเอียดในป้ายประชาสัมพันธ์อยู่แล้วในทุกโครงการ สามารถไปดูได้ 

นอกจากถนนทั้ง 3 จุด ที่ลงพื้นที่ไปแล้ว และ ป.ป.ช.จังหวัดสุรินทร์ มีการขยายผลเฉพาะ อบต.นาดี แห่งเดียว มีโครงการที่ต้องตรวจสอบ อาจจะมีการแบ่งซื้อแบ่งจ้างทั้งหมด 22 โครงการ ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องช่วยกันจับตา เพราะว่างบประมาณที่นำมาก่อสร้าง เป็นของพวกเราทั้งนั้น จะได้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ ติดตาม #ข่าวแสบเฉพาะกิจ รายการวาไรตี้ข่าวสุดแสบ จะพิสูจน์ ตรวจสอบ พร้อมลงทุกพื้นที่ ขยี้ทุกความจริง ทุกวันเสาร์ 6 โมงเย็น ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32.