การคัดเลือก สว. ปี 2567 สูตรพิสดาร ผู้เชี่ยวชาญห่วงได้ผู้แทนสไตล์ “ฮั้วได้-จ่ายเงิน-หิวแสง” และหนีไม่พ้นร่างทรงกลุ่มการเมือง แต่ช่องโหว่ในกระบวนการคัดเลือกจะยิ่งก่อกำแพงความเห็นต่างด้านเจเนอเรชัน ที่บ่มรอยร้าวทางการเมืองคนรุ่นใหม่ ให้เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. เป็นครั้งแรกที่มีกระบวนการเลือกที่พิสดาร ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายที่ว่าด้วยการคัดเลือก สว.ปี 2561 โดยการเลือกมี 3 ระดับคือ อำเภอ, จังหวัด, ประเทศ

การเลือกแต่ละระดับมีสองรอบ รอบแรก ผู้สมัครมีสิทธิเลือกได้ 2 โหวต ซึ่ง 1 คะแนนโหวตให้คนอื่น และอีก 1 คะแนน โหวตให้คนอื่นหรือตัวเองได้ เมื่อเลือกจบขั้นตอนแรกจะได้ สว.ตามอาชีพ เมื่อไปสู่การคัดเลือกรอบที่ 2 นำผู้ที่ผ่านคัดเลือกตามอาชีพ 20 กลุ่ม มาโหวตไขว้สายอาชีพ ขั้นตอนนี้จะได้ สว.ระดับอำเภอ ในกลุ่มอาชีพละ 3-5 คน

...

ต่อมาเป็นการเลือกกันเองในกลุ่มผู้สมัครในระดับจังหวัด ซึ่งใช้หลักการเดียวกันกับการเลือกระดับอำเภอ เช่นเดียวกับในระดับประเทศ จนได้คนที่ผ่านการคัดเลือกกลุ่มอาชีพละ 10 คน ซึ่ง 20 กลุ่มอาชีพ ได้คนที่ผ่านการคัดเลือก 200 คน

การเลือก สว.รอบนี้ไม่สามารถเรียกว่าการเลือกตั้งได้ เพราะการเลือก สว.รอบนี้ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกได้ แต่เป็นการเลือกกันเองของกลุ่มผู้สมัคร ที่จ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท ประกอบกับการเลือก สว.ไม่ใช่ 1 คน 1 เสียง แต่ 1 ผู้สมัครสามารถเลือกได้ 2 เสียง ซึ่งระบบการคัดเลือกรอบนี้ซับซ้อนและพิสดาร

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

เมื่อถามถึงระบบการคัดเลือก สว.ส่งผลต่อความขัดแย้งกับระบบประชาธิปไตยหรือไม่ รศ.ดร.ยุทธพร ชี้ว่า การคัดเลือก สว.รอบนี้ “ตอบโจทย์ถูก แต่ตั้งโจทย์ผิด” สุดท้ายบุคคลที่ได้มาอาจไม่ได้เป็นตัวแทนของ 20 อาชีพ แต่เป็นตัวแทนของ 3 คือ 1.ฮั้วได้ โดยเฉพาะในระดับอำเภอ ที่ผ่านการสนับสนุนของบรรดานักการเมือง 2.จ่ายเงิน จะเกิดขึ้นในระดับจังหวัด ที่ซื้อเสียงบรรดาผู้สมัครด้วยกัน 3.คนหิวแสง จะได้รับความสนใจในการคัดเลือกระดับประเทศ เพราะผู้สมัครต่างคนต่างมา ไม่รู้จักกัน สุดท้ายจะกาให้คนที่รู้จักผ่านสื่อ

กระบวนการเหล่านี้ทำให้เราไม่ได้ สว.ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการ หากประชาชนไม่มีกระบวนการตรวจสอบ เพราะคนที่จะเข้าไปคัดเลือก สว.กันเองรอบนี้ต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความสามารถตามอาชีพที่กำหนด

“การกำหนดให้คนอายุ 40 ขึ้นไป โดยต้องเป็นผู้สมัคร สว. เป็นการเลือกกันเองเพียงบางเจเนอเรชัน ส่วนคนในเจเนอเรชันอื่นไม่ได้มีสิทธิเลือก จึงต่างจากการเลือกตั้งปกติที่คนอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้ง สส.ได้ ดังนั้นการเลือก สว.ครั้งนี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการเมือง ที่เกี่ยวโยงกับความแตกต่างด้านอายุขึ้นได้ในอนาคต”

...

สว.มีไว้ทำไม แกปเจเนอเรชันในระบบประชาธิปไตย

รศ.ดร.ยุทธพร มองประเด็น สว.มีไว้ทำไม ที่สังคมตั้งคำถามเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่มีการคัดเลือกที่เหมาะสม สุดท้ายหน้าที่และอำนาจของ สว.จะไม่สอดคล้องกัน เพราะบางประเทศมี สว.ไว้เป็นตัวแทนชุมชนท้องถิ่น แต่หน้าที่ สว.ตามรัฐมนูญปี 2560 มีหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งผู้บริหารในองค์กรอิสระ เปิดอภิปรายตรวจสอบการบริหารประเทศ โดย สว.ชุดใหม่ไม่มีสิทธิเลือกนายกฯ เหมือนชุดที่ผ่านมา

“อำนาจและหน้าที่ สว.ชุดใหม่ที่กำลังจะรับสมัคร เชื่อมโยงกับประชาชนน้อย เพราะการเลือกครั้งนี้เป็นเฉพาะคนบางกลุ่ม ซึ่งจำกัดว่าต้องเป็นผู้สมัคร สว. มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่เรากลับให้อำนาจค่อนข้างมาก ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีสิทธิเลือก”

แม้ที่ผ่านมา คุณธนาธร คาดหวังให้มี “สว.ประชาชน” อย่างน้อย 70 คน จากทั้งหมด 200 คน แต่ถ้ามองในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะถ้า สว.70 เสียง มารวมกับ สส.ของพรรคก้าวไกล 151 เสียง ซึ่ง ณ วันนี้อาจมี สส.ไม่ถึง ซึ่งรวมกันแล้วได้ 221 เสียง แต่การแก้รัฐธรรมนูญได้จะต้องมีคะแนนเสียงรวมกัน 351 ขึ้นไป ดังนั้นจึงต้องให้ สส.ของพรรคอื่นมายกมือร่วมแก้ด้วย

...

ตอนนี้ต้องยอมรับว่า กกต.มีกรอบที่ถูกกำหนดในการคัดเลือก สว.ครั้งนี้ แต่ถ้ากฎระเบียบไหนไม่ชัดเจน และถูกวิจารณ์ต้องเร่งแก้ไข ไม่ควรปล่อยให้เกิดปัญหาเรื้อรังในช่วงของการคัดเลือก โดยเฉพาะการแนะนำตัว ต้องมีพื้นที่ที่ชัดเจน มากกว่าให้เขียนบนกระดาษไม่กี่บรรทัด

ที่สำคัญในกระบวนการคัดเลือก สว. ประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และไม่ให้กลุ่มการเมืองเข้าไปมีอำนาจในการแทรกแซง เพราะการทำหน้าที่ของ สว.ชุดใหม่ 200 คน จะมีผลต่อชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ.