คลิปนาทีเกิดเหตุเผยให้เห็น รถหรูวิ่งมาด้วยความเร็ว ก่อนชนรถที่จอดข้างทาง 12 คัน ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก หลังเผยแพร่คลิป ชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่าคนขับมีอาการมึนเมา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจวัดแอลกอฮอล์ สูงถึง 194 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และยังมีตำแหน่งเกี่ยวโยงกับตำรวจในท้องที่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าการทำคดีนี้ตำรวจควรมีความรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบ

โซเชียลถกสนั่น หลังสื่อสังคมออนไลน์ใน จ.พิษณุโลก แชร์ภาพเหตุการณ์เวลาประมาณ 03.20 น. กลางดึกคืนวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา มีรถเก๋งขับมาด้วยความเร็วสูง พุ่งชนรถที่จอดริมทางบนถนนมิตรภาพ ฝั่งขาเข้าเมือง ใกล้เคียงสถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.พิษณุโลก โดยในคลิปรถคันดังกล่าวเหมือนเสียการควบคุมขับส่ายไปมา ก่อนจะปีนฟุตปาทมาชนบ้านริมทาง และขับลงมาบนถนนอีกครั้ง ก่อนจะชนรถคันอื่นต่อ รวมแล้ว 12 คัน จากนั้นมีการนำคนขับรถก่อเหตุไปตรวจวัดแอลกอฮอล์ พบสูงถึง 194 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และมีการรายงานว่าผู้ก่อเหตุเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา กต.ตร.สภ.เมืองพิษณุโลก ทำให้ชาวโซเชียลวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตในการดำเนินคดีต่อจากนี้

...

จากการที่มีการตั้งข้อสังเกตหลังมีการเผยแพร่คลิปในที่เกิดเหตุ มีการวิจารณ์ถึงพฤติกรรมของคนขับ ที่หลังจากชนแล้วยังฝืนขับต่อ ทำให้มีรถที่ถูกชนกว่า 12 คัน ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากการตรวจวัดพบปริมาณแอลกอฮอล์สูงในคนขับ แต่ยังต้องรอดูผลตรวจเลือดที่จะยืนยันว่ามีความผิดปกติอื่นร่วมด้วยหรือไม่

ถ้าผลเลือดมีการยืนยันชัดเจนว่ามีอาการเมา ถือว่ามีความผิดในลักษณะเมาแล้วขับ มีโทษทางอาญา และโทษปรับที่สูงกว่าปกติ กรณีนี้ต้องชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์เบื้องต้น พบว่าสูงถึง 194 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แม้มีการให้ข้อมูลว่าผู้ก่อเหตุมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา กต.ตร.สภ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งตำรวจเองก็มีบทเรียน หากมีการละเว้นในการทำหน้าที่ โดยผลตรวจเบื้องต้นถือเป็นหลักฐานสำคัญอย่างมากในคดีนี้

“จากคลิปที่ผู้ก่อเหตุขับรถชนแล้วยังไปต่อ และไปชนรถอื่นอีกหลายคัน จำเป็นจะต้องตรวจเลือด เพื่อหาว่ามีสารปนเปื้อนอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งเจ้าพนักงานอาจมีการตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้ก่อเหตุมีอาการมึนเมา หรือมีการใช้สารอื่นร่วมด้วยหรือไม่ จึงทำให้ต้องมีการตรวจเลือดเพิ่มเพื่อความชัดเจน”

การทำคดีนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อจากนี้ต้องมีการแยกกันระหว่างตำแหน่งคณะกรรมการในระบบราชการ กับการกระทำความผิด เบื้องต้นคดีนี้ต้องมีการยึดตามข้อมูลนิติวิทยาศาสตร์ โดยการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่มีค่าสูงเบื้องต้นถือเป็นหลักฐานชัดเจน แต่ต้องไปหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิด พยานบุคคล เมื่อส่งหลักฐานทั้งหมดแล้วศาลจะพิจารณาว่าจะสั่งจำคุก หรือรอรับโทษ และจะมีการปรับจำนวนเท่าไร

ส่วนการมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ ต้องมีการแยกออกจากกัน เพราะผู้ก่อเหตุมีเจตนาที่จะดื่ม ที่ผ่านมามีการรณรงค์ไม่ให้เมาแล้วขับ ยิ่งมีตำแหน่งใกล้ชิดกับการทำหน้าที่ของตำรวจ ยิ่งเข้าใจถึงโทษ และการกระทำความผิดมากขึ้น แต่ก็ยังก่อเหตุ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการลงโทษให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า จะมีผลต่อรูปคดีหรือไม่ ปัจจุบันตำรวจมีระบบการตรวจสอบ หากมีการช่วยเหลือผู้ต้องหา ตำรวจก็อาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาได้ หากมีคนไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการร้องเรียนของภาคประชาชน ตาม พ.ร.บ.กฎหมายตำรวจปี 2565

...

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

คดีนี้ถือเป็นบทเรียนในการวางตัวให้เหมาะสมของผู้ที่มีตำแหน่งเกี่ยวโยงกับระบบราชการ ประกอบกับนโยบายเมาไม่ขับ ที่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดผับถึงตี 4 ซึ่งต้องยอมรับว่าสถานบันเทิงหลายแห่งยังไม่มีการควบคุมอย่างเป็นระบบ และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียในลักษณะนี้ได้อีกหลายคดี.