อีกัวน่าเขียว สัตว์ต่างถิ่นจากต่างแดน หรือเอเลียนสปีชีส์ กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน จ.ลพบุรี โดยเฉพาะ อ.พัฒนานิคม บริเวณชุมชนที่อยู่ติดกับเขาพระยาเดินธง จากการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วไปกัดกินพืชผักของชาวบ้านจนเสียหาย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งกวาดล้าง ปฏิบัติภารกิจจับอีกัวน่าและสำรวจจำนวนประชากรอิกัวน่า ไม่ให้ก่อผลกระทบต่อสัตว์ท้องถิ่น

อีกัวน่า สัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า ขนาดใหญ่หัวโตมีหนามแหลมคล้ายหวีอยู่แนวกลางของลำตัว มีถิ่นอาศัยอยู่ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 ตามอนุสัญญาไซเตส ซึ่งผู้เลี้ยงต้องขออนุญาตนำเข้ามายังประเทศไทย คาดหลุดออกมาจากกรงที่เลี้ยง และชาวบ้านพบเห็นอีกัวน่ามานานกว่า 10 ปี จนแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่จ.ลพบุรี มาอาศัยใกล้กับชุมชน บริเวณแหล่งน้ำ พุ่มไม้ และบนต้นไม้

อีกัวน่ายังพบในพื้นที่จ.อุดรธานี และเพชรบุรี แม้การครอบครองอีกัวน่าเขียว ไม่มีบทลงโทษ แต่การปล่อยอีกัวน่า ที่อยู่ในความครอบครองให้เป็นอิสระ ไม่สามารถกระทำได้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อีกัวน่าเขียว เป็นพาหะของเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา เมื่อคนสัมผัสโดยตรงหรือทางอ้อมอาจติดเชื้อ มีอาการอาเจียนท้องเสีย ซึ่งต้องเก็บตัวอย่างจากอีกัวน่าในพื้นที่ เพื่อตรวจหาเชื้อซาลโมเนลลาให้แน่ชัด

...

หมอลิงลพบุรี ชงไอเดียเปิดแหล่งเที่ยว ชมอีกัวน่า

การแก้ปัญหาอีกัวน่าในพื้นที่จ.ลพบุรี “สัตวแพทย์หญิง จุฑามาศ สุพะนาม” หรือหมอเตย ผู้อุทิศตนดูแลรักษาลิงในจ.ลพบุรี มองว่า เมื่อจับอีกัวน่ามาแล้วอยากให้มีการแยกโซนในการดูแลอีกัวน่า และแยกกรงระหว่างตัวผู้ ตัวเมีย ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแถวเขาพระยาเดินธง เพราะคนรักอีกัวน่าก็เยอะ เป็นสัตว์เลื้อยคลานเหมือนกิ้งก่า กินพืช กินยอดไม้ และแมลงตัวเล็กเป็นอาหาร ไม่ได้เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ หวังว่าไม่มีคนแอบทำร้ายทำลายชีวิต

“อีกัวน่าตัวผู้เมื่อโตเต็มวัย จะมีสีสวยและหล่อมาก หน้าตาก็คล้ายกับตัวตะกอง สัตว์เลื้อยคลานหายากของไทย อาศัยบนต้นไม้และตามแหล่งน้ำ ไม่ได้กินซากสัตว์ แต่ตอนหลังแทบหาไม่เจอ เพราะถูกมนุษย์ล่าเอาไปกิน และหากคนมองว่าอีกัวน่าเป็นโปรตีนชั้นดี อาจมีโอกาสถูกล่าเป็นอาหารก็ได้ อยากให้ช่วยกันดูแล ไม่ได้น่ากลัว อย่าทำร้ายเหมือนเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่จระเข้หรือตัวตะกวด และสร้างแหล่งที่อยู่ ทำกรงล้อมตะข่าย หากิ่งไม้ขอนไม้แห้งให้เกาะ ก็ดูสวยงาม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม ถ้ารู้จักบริหารจัดการให้ดี จะได้ประโยชน์มากกว่า และอีกัวน่าถ้าเลี้ยงดีๆ ก็น่าจะเชื่อง”

จับมารวมพื้นที่ปิด หวั่นกิ้งก่า-แย้ ถูกกินสูญพันธุ์

ขณะที่ ”ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.สถาพร จิตตปาลพงศ์” คณบดีคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุ อีกัวน่าจะทำลายทำให้สัตว์ท้องถิ่นพื้นบ้านหายไปหมด และอีกัวน่าที่เห็นในลพบุรีจะโตมีขนาดใหญ่มากกว่านี้อีก หากมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจะเดือดร้อนกันไปทั่ว ซึ่งมีทางเดียวจะต้องจับอีกัวน่ามารวมในพื้นที่ปิด จะปล่อยไปตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะไม่เหมาะกับการอาศัยในพื้นที่เขตร้อนชื้น และจะทำให้กิ้งก่าพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงแย้ ถูกกินจนสูญพันธุ์ได้

แต่ในเรื่องเชื้อโรคจากอีกัวน่าไม่น่าห่วง เพราะสัตว์พวกนี้ไม่มายุ่งกับคน ไม่ได้เชื่องเหมือนกับแย้ หากไม่เร่งควบคุมประชากรอีกัวน่าก็จะคุมยาก เพราะขณะนี้อาหารยังมีเพียงพอก็จะอาศัยใกล้กับชุมชน และขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น ต้องมีการวางแผนในการจับอีกัวน่า และสาเหตุหลักๆ มาจากคนที่ซื้ออีกัวน่ามาเลี้ยงแล้วปล่อย จะต้องลงทะเบียนผู้เลี้ยงเพื่อให้ง่ายต่อการติดตามตัว ไม่ใช่เลี้ยงแล้วไปปล่อยในพื้นที่ต่างๆ และต่อไปในอนาคตควรต้องควบคุมตั้งแต่ต้นทาง

...

“ข้อสงสัยที่ว่าอีกัวน่าสามารถผสมพันธุ์กับกิ้งก่าพื้นเมืองได้หรือไม่ ต้องบอกเลยว่าด้วยไซส์ด้วยขนาด และพฤติกรรมของอีกัวน่ากับกิ้งก่าพื้นเมืองต่างกัน ไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ มันยากมากๆ มีอย่างเดียวคืออีกัวน่าทำลายกิ้งก่าพื้นเมืองของเราแน่ๆ และอาจกินสัตว์อื่นที่อยู่โดยรอบ จะต้องจำกัดพื้นที่อีกัวน่าให้ได้ ไม่ให้จำนวนเพิ่มขึ้น หรือหาพื้นที่เลี้ยงกึ่งๆ สวนสัตว์ ไม่ให้กระทบชาวบ้าน และต้องบอกว่าอีกัวน่า มันน่ากลัว ไม่ได้เชื่องเหมือนกับแย้”

เมื่อมีการปล่อยอีกัวน่าให้อยู่กับธรรมชาติ และคิดว่าก็น่าจะมีการปล่อยสัตว์เอ็กโซติก หรือสัตว์ประหลาดประเภทอื่นๆ มากกว่านี้ในอนาคต หรืออาจเห็นงูหลายสีเลื้อยเพ่นพ่านตามบ้าน อย่างปลาซักเกอร์ ก็ปล่อยลงแม่น้ำ จนทำลายระบบนิเวศไปแล้ว เพราะฉะนั้นต้องควบคุมตั้งแต่คนนำเข้ามา จะต้องสังคายนากันทั้งระบบ หรือใครทำอีกัวน่า ทำสัตว์เอ็กโซติกหลุดออกมาก็ต้องจัดการตามกฎหมาย.