ดราม่าสนั่นโซเชียล ว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ นักร้องดังประสบอุบัติเหตุขับรถชนท้ายรถขยะ ช่วงเวลาตี 4 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย นักร้องดังหลังเกิดเหตุได้นั่งรอเจ้าหน้าที่มา และมีการปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ อ้างว่าบาดเจ็บที่หน้าอก จนต่อมาตรวจวัดแอลกอฮอล์หลังผ่านไปประมาณ 12 ชั่วโมง ช่วง 4 โมงเย็นวันเดียวกัน ท่ามกลางคำถามว่า สามารถตรวจย้อนหลังได้หรือไม่
เมื่อ 7 พ.ย. 2566 เวลาประมาณ 04.00 น. ว่าน ธนกฤต พานิชวิทย์ นักร้องชื่อดัง ขับรถยนต์ชนท้ายรถเก็บขยะของเทศบาลนครนนทบุรี ภาพวงจรปิดนาทีที่เกิดเหตุ รถนักร้องดังวิ่งมาด้วยความเร็ว ขณะรถเก็บขยะจอดริมข้างทาง ทำให้มีพนักงานเก็บขยะบาดเจ็บ 2 ราย ด้านหน้ารถของนักร้องดังพังยุบเสียหายหนัก หลังเกิดเหตุมีภาพ ว่าน นั่งรอให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แต่กลายเป็นประเด็นดราม่าเมื่อไม่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ โดยมีการอ้างว่ามีอาการบาดเจ็บบริเวณหน้าอก จากนั้นเจ้าตัวได้มาตรวจวัดช่วงเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน ซึ่งต้องรอผลตรวจวัดแอลกอฮอล์อีกครั้ง

การประเมินตรวจวัดแอลกอฮอล์หลังมีอุบัติเหตุ และการตรวจย้อนหลังเกินกว่า 10 ชั่วโมง สามารถทำได้หรือไม่ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เมื่อมีอุบัติเหตุด้านจราจร เป็นดุลยพินิจตำรวจ ถ้าผู้ขับขี่มีพฤติกรรมแสดงให้เห็นถึงอาการเมาสุรา ต้องทำการตรวจทันที แต่ไม่ได้ทำการตรวจทุกราย เพื่อไม่ให้เกิดการร้องเรียนตามมา ตำรวจจึงทำการตรวจวัดแอลกอฮอล์ทันที
...
"การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ต้องเริ่มทำตั้งแต่เกิดเหตุ การอ้างว่าบาดเจ็บเพื่อไม่ตรวจวัด สามารถทำได้ แต่เป็นหน้าที่ของพนักงานสืบสวนต้องส่งผู้ต้องสงสัยไปตรวจด้วยการเจาะเลือดวัดแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาลทันที มีอาการอ้างว่ามีอาการเจ็บหน้าอก ไม่สามารถตรวจวัดด้วยการเป่าได้ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งกับโรงพยาบาลให้เจาะเลือดเพื่อวัดทันที เนื่องจากทุกโรงพยาบาลอาจไม่ทราบ แต่โรงพยาบาลจะตรวจต่อเมื่อมีเอกสารยืนยันให้ตรวจจากพนักงานสอบสวน หรือแจ้งด้วยวาจา ถ้าผู้ต้องสงสัยไม่ยอมให้ตรวจ โรงพยาบาลไม่สามารถตรวจได้"

ทางการแพทย์มีสูตรคำนวณปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ตรวจ ช่วงเวลาเกิดเหตุได้ แม้มาตรวจช้ากว่า 10 ชั่วโมง ปกติร่างกายมนุษย์จะขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายทุก 1 ชั่วโมง ถ้าพนักงานให้ผู้ถูกกล่าวหามาตรวจ แล้วไม่ยอมทำตาม ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีสิทธิปฏิเสธในชั้นศาล หากพนักงานสอบสวนมีการตั้งข้อกล่าวหาว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่ากำหนด
“ถ้าผู้ประสบอุบัติเหตุไม่ยอมเป่าวัดแอลกอฮอล์ จะมีการบันทึกภาพ หรือวิดีโอตอนเกิดเหตุ โดยให้ผู้ต้องสงสัยเดินต่อเท้าให้เป็นเส้นตรง จึงสามารถประเมินได้ว่ามีอาการเมาหรือไม่ กรณีนักร้องดังมีเพียงภาพนิ่งถ่ายยังสถานที่เกิดเหตุ ยืนยันไม่ได้ว่ามีอาการสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ต้องรอผลตรวจวัดอีกครั้ง”

ผู้ถูกกล่าวหาไม่ควรหลีกเลี่ยงการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในที่เกิดเหตุ เพราะจะส่งผลเสียมากกว่า โดยเฉพาะบุคคลมีชื่อเสียง ตำรวจที่ไปในสถานที่เกิดเหตุต้องตรวจสอบ และทำการซักถาม ขณะหน่วยกู้ชีพจะมีการประเมินเบื้องต้น หากไม่สามารถเป่าวัดได้ ต้องแจ้งให้ทำการเจาะเลือด บางกรณีมีอาการหมดสติ ต้องมีการส่งไปรักษา และทำการเจาะเลือดตรวจวัดทันที
ส่วนมีการอ้างว่ามีอาการวูบหลับขณะขับรถ เนื่องจากทำงานหนัก สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะที่อีกกรณีเกิดจากพักผ่อนน้อย ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง

...
กรณีนักร้องดังต้องรอผลวัดแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งที่ไขข้อสงสัยทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าผลตรวจดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วกว่าสิบชั่วโมง ผลที่ตรวจออกมาจะมีสูตรทางการแพทย์ในการคำนวณย้อนหลังได้ ขณะเดียวกันต้องไปดูภาพวิดีโอของพนักงานสอบสวนในนาทีที่เกิดเหตุ เพื่อมาประเมินเพิ่มเติมว่ามีอาการเมาสุราขณะขับขี่หรือไม่
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ผู้ที่มีชื่อเสียงควรมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในที่เกิดเหตุทันที เพราะถ้าเกิดเป็นประเด็นคำถามจากสังคม จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานตามมาได้.