ข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ จากการจุดพลุของ ส.ว.จเด็จ อินสว่าง อ้างว่าจะผ่าทางตันพาประเทศไปสู่ทางออก หรือเป็นอีกหนึ่งเกมการเมืองมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทำไมออกมาพูดในช่วงพรรคเสียงข้างมากฝ่ายประชาธิปไตยกำลังจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างรอ กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสอาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังการรับรองผลการเลือกตั้งก็ได้

หรือแค่โยนหินถามทางก็เท่านั้น เมื่อไม่มีเสียงตอบรับก็คงจะเงียบไปเอง แต่ได้มาพร้อมกับเสียงวิจารณ์กันให้แซด แล้วมีเลือกตั้งไปทำไมให้เสียงบประมาณแผ่นดิน เกือบ 6 พันล้านบาท และขณะนี้การเมืองไทยยังไม่ถึงทางตัน จนยากที่จะแก้ไขหาทางออก

การเมืองไทยในหลายยุคที่ผ่านมา มีการพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติ เปิดทางให้เลือกนายกฯ คนนอก, นายกฯ คนกลาง หรือนายกฯ พระราชทาน ด้วยข้ออ้างว่าบ้านเมืองเกิดปัญหาความขัดแย้ง แต่สุดท้ายเป็นเพียงข้อเสนอของบางฝ่าย เป็นเพียงคำพูดวาทะ และแค่เกมการเมือง จนในที่สุดก็เงียบหายไป ไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แล้วสิ่งที่ ส.ว.ออกมาพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ มีนัยแฝงหรือต่อการส่งสัญญาณอะไร “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า รัฐบาลแห่งชาติถูกเสนอในช่วงนี้ ไม่ใช่บรรยากาศจะพูดถึง เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมากว่า 3 สัปดาห์ ไม่ได้มีความขัดแย้ง และไม่ได้มีเรื่องของการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงไม่มีเหตุผลในการพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติ

...

“คิดว่าเป็นเกมการเมืองของฝ่ายอำนาจเก่า และกรณีจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง อาจเป็นโอกาสออกมาพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ อีกทั้งคนเสนอมองว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะโดนเรื่องหุ้นสื่อ แต่ยังไม่ถึงขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรีเลย ไม่ควรออกมาตัดสิน ควรฟังเสียงสะท้อนเจตจำนง ของประชาชน หลังการเลือกตั้ง และที่ผ่านมา 2 ลุง ก็เงียบ จะมี ส.ว.ออกมาพูดบ้างในเรื่องโหวต ไม่โหวตให้พิธา จนตอนนี้เงียบไป อาจเพราะกระแสของก้าวไกล ไม่แรงเหมือนช่วงเลือกตั้งก็ได้”

หยุดรัฐบาลแห่งชาติ ทำลายระบบรัฐสภาให้บิดเบี้ยว

ที่ผ่านมาเคยพูดมาตลอดว่าพรรคก้าวไกล อย่าตกหลุมมาตรา 112 เพราะหากมีหรือไม่มีเรื่องมาตรา 112 ทาง ส.ว.ก็ไม่โหวตให้อยู่แล้ว และอาจมีประเด็นอื่นเข้ามา ซึ่งการพยายามลดความเข้มข้น ทั้งในเอ็มโอยู และนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจเกิดคำถามตามมาว่า จะปฏิรูปกองทัพ จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ และจะสลายทุนผูกขาด ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ จนมีคนเสนอแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ จากปมหุ้นสื่อของพิธา ซึ่งผลลัพธ์ก่อน และหลัง การรับรองผลเลือกตั้ง ก็จะต่างกัน

เมื่อสังคมไม่เอาด้วยกับแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ก็จะเงียบไป และคิดว่าคงพูดขึ้นมาเหมือนการเมืองในอดีตที่ผ่านมา กลายเป็นคำพูด วาทะลอยๆ พูดถึงรัฐบาลแห่งชาติ ตามแบบฉบับของตัวเอง แต่ไม่เคยมีรัฐบาลแห่งชาติ หรือแม้แต่ครั้งนี้ หมายถึงการไม่มีฝ่ายค้าน หรือจะเอานายกฯ คนนอก หรือไม่

“ในทางกลับกันถ้ามี นายกฯ คนนอก แล้วมีการเลือกตั้งไปทำไม เป็นแนวคิดที่ไปกันใหญ่ จะเลือกหัวกะทิไปทำหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ ยิ่งทำให้รัฐสภาบิดเบี้ยว ทั้งๆ ที่ประชาชนมอบฉันทามติให้กับรัฐสภา ในการเลือกนายกฯ นำไปสู่การตั้ง ครม. ไม่ใช่ไปทำลายระบบรัฐสภาจนบิดเบี้ยว”

รัฐบาลแห่งชาติ โยนหินถามทาง ให้ลุงๆ ไปต่อ

เช่นเดียวกับ “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เห็นว่า สังคมไม่ควรให้ราคากับ ส.ว.จเด็จ อินสว่าง ในการเสนอแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเป็นการโยนหินถามทางว่าสังคมมีปฏิกิริยาอย่างไร หากมีคนสนับสนุน ก็จะมีการส่งให้ วิษณุ เครืองาม ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ลุงๆ ได้ไปต่อ และถ้าแนวคิดนี้ไม่มีคนสนับสนุน ก็จะหาแนวทางอื่น

...

“เหมือน ส.ว.จเด็จ ทำหน้าที่หาประเด็น ให้เกิดกระแส ทำให้รัฐบาลขั้วอำนาจเก่า ได้อยู่ต่อ และการเสนอรัฐบาลแห่งชาติ ให้มีทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีฝ่ายค้าน ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตย ต้องมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือถ้าให้มีรัฐบาลแห่งชาติ ก็จะเป็นรัฐบาลเผด็จการ และการเมืองขณะนี้ได้มีการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่าจะหาข้อยุติ หาทางออกแก้ความขัดแย้งไม่ได้ หรือเป็นไฟนอล สเตท ไม่มีใครยอมรับอำนาจรัฐบาล จนต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ มาแก้ปัญหา”

ผลเลือกตั้งแพ้ยับ อย่าดันทุรัง เมินมติมวลมหาประชาชน

ย้อนไปดูผลการเลือกตั้งพบว่าพรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก ได้เสียงรวมกัน 26 ล้านเสียง ส่วนขั้วรัฐบาลเดิม ได้เพียง 7 ล้านเสียง ซึ่งห่างกัน 3 เท่าตัว เป็นเสียงโหวตข้ามฝั่งมาจากผู้เคยสนับสนุนรัฐบาลชุดเดิม ถ้าเทียบกับผลเลือกตั้งปี 2562 พบว่ารัฐบาลชุดเดิม มีเสียงรวมกัน 16.7 ล้านเสียง ก็เท่ากับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เสียงหายไปเกินครึ่ง นั่นแปลว่าคนจำนวน 10 ล้านเสียง ย้ายฝั่งมาและบอกว่าไม่เอารัฐบาลชุดเดิม แสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนต้องการปิดสวิตช์ 3 ป. จนผลการเลือกตั้งออกมาอย่างที่เห็น

...

เพราะฉะนั้นแล้ว เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย หลังการเลือกตั้งที่คะแนนชัดเจนว่าคนต้องการรัฐบาลขั้วใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลที่เคยทำงานมา 8 ปี และหากมีแนวคิดนี้อีก จะเป็นการสบประมาทดูหมิ่นเสียงประชาชน เพิ่งผ่านการเลือกตั้งไม่ถึง 3 สัปดาห์ หรือเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย ในการเสนอหัวหน้ารัฐบาลเดิม ขึ้นมาอีก จะทำให้คนไปเลือกตั้งจะไม่ทนอีกต่อไป จนเกิดเรื่องคาดไม่ถึงก็ได้

“เมื่อไม่มีการตอบรับรัฐบาลแห่งชาติ ก็ควรเงียบไปเลย ไม่ต้องหาแนวคิด แนวทางอย่างอื่น หรือทำอะไรอีกต่อไป อย่าดันทุรัง อย่าตะแบง ควรต้องเป็นไปตามมติมวลมหาประชาชน”.