คดี "แอม ไซยาไนด์" ผู้ต้องหาใช้สารพิษไซยาไนด์ในหลายรูปแบบฆ่าผู้อื่น มีผู้เสียชีวิต 14 ศพ รอดชีวิต 1 ราย นำไปสู่การออกหมายจับ 14 คดี ยังมีอีก 2-3 คดีน่าสงสัย และต่อมามีการออกหมายจับ "รองผู้กำกับอ๊อฟ" อดีตสามีแอม แม้มีการหย่าร้างทางนิตินัย แต่ทั้งสองยังคงใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ในข้อหาร่วมกันรับของโจร ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารราชการปลอม และมีคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน
ที่มาของไซยาไนด์นำไปใช้ก่อเหตุอาจเข้าข่ายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง พบว่าแอมมีการสั่งซื้อทางออนไลน์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ย่านลาดกระบัง และยังมีบุคคลอื่นกว่า 100 ราย สั่งซื้อเช่นกัน หนึ่งในนั้นมีดาราสาวรายหนึ่ง ทำให้ตำรวจต้องเรียกสอบปากคำบุคคลทั้งหมดว่านำไปใช้ในเรื่องใด
เพราะส่วนใหญ่มีการนำสารไซยาไนด์ ไปใช้ในร้านทองและในภาคอุตสาหกรรม หากการสั่งซื้อไม่เกิน 1 พันกิโลกรัม หรือ 1 ตัน ไม่ต้องมีใบอนุญาต อาจเป็นช่องโหว่ให้ใครก็ได้ สามารถสั่งซื้อได้อย่างง่ายดาย และกรณีของแอม ไซยาไนด์ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการฆ่าผู้อื่น เพื่อล้างหนี้สิน ถือเป็นบทเรียนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาแนวทางป้องกัน
...
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานกำกับดูแลสารเคมีและวัตถุอันตรายในกิจการอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิต การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และมีไว้ในครอบครอง ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยสารโซเดียมไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ในการสกัดแร่ ชุบทอง ใช้เป็นยาฆ่าแมลงในภาคการเกษตร และใช้ผลิตยาในทางการแพทย์
"จุลพงษ์ ทวีศรี" อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยอมรับว่า โรงงานขนาดเล็ก ร้านชุบเงินชุบทอง และประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้ อาจเป็นช่องโหว่ในการนำสารไซยาไนด์ไปใช้ในทางที่ผิด เบื้องต้นได้หารืออย่างเร่งด่วนในเรื่องมาตรการควบคุมในการจำหน่าย จะต้องให้ผู้ซื้อลงทะเบียน
นอกจากนี้อาจเสนอที่ประชุมครม.เพื่อออกเป็นมติครม.ในการควบคุมเป็นพิเศษ อย่างการควบคุมสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนซิลไซยาไนด์ และสารเบนซิลคลอไรด์ เมื่อต้นปี 2566 เพราะสามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสารตั้งต้นยาเสพติดได้ แต่จะต้องดำเนินการโดยรอบคอบ ไม่ให้กระทบต่อผู้ที่นำสารไซยาไนด์ ไปใช้ประโยชน์
ไทยแลนด์โอนลี่ ใครๆ ก็สามารถซื้อไซยาไนด์ได้
จากช่องโหว่สามารถซื้อขายสารไซยาไนด์ได้ง่าย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ จนแอม นำไปใช้ก่อเหตุฆ่าผู้อื่น และไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย “สนธิ คชวัฒน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ออกมาย้ำว่า ถึงเวลาแล้วต้องมีควบคุมวัตถุอันตราย และต้องแจ้งหน่วยงานเมื่อมีการซื้อขาย ไม่ว่าจะปริมาณเท่าใด ซึ่งโรงงานที่สามารถนำเข้าสารไซยาไนด์ ต้องมีใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย หรือใบวอ.8 อยู่แล้ว จากการกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
“แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อมีการกระจายออกไปแล้ว ทำไมใครก็ได้สามารถซื้อได้ ทั้งก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบเอาไปผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำยาขัดทอง ขัดทองแดง น้ำยาขัดเบาะ ขัดรถยนต์ แต่กลับควบคุมไม่ได้ ยกเว้นการควบคุมปริมาณกากสารเคมีว่ามีจำนวนเท่าไร แล้วจะนำไปกำจัดที่ไหนเท่านั้น”
ไซยาไนด์ ขายเกลื่อน เอามาฆ่าคน ทำยาบ้า
อีกทั้งไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างจริงจัง ในการป้องกันไม่ให้โรงงานขายวัตถุดิบที่เป็นสารเคมีและวัตถุอันตราย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีพ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ PRTR หลังมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องมานาน 4-5 ปี แต่ถูกตีตก เพื่อบังคับให้โรงงานจะต้องแจ้งข้อมูลการใช้สารเคมีอันตราย และเปิดเผยการปล่อยมลพิษว่ามีปริมาณกี่ตันต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และทำให้สุขภาพปลอดภัยมากขึ้น ไม่ให้ซ้ำรอยกรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้
...
หากมีกฎหมายดังกล่าวออกมา ก็จะสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของสารพิษอันตราย และมีข้อมูลว่าโรงงานแต่ละแห่งมีการนำสารไซยาไนด์ไปใช้ผลิตสินค้าประเภทใดบ้าง มีปริมาณกากเท่าใด และนำไปทำลายที่ใด ซึ่งในกรณีของแอม ไซยาไนด์ เป็นอีกบทเรียนที่คนขายต้องมีความผิดตั้งแต่ต้น เพราะเป็นสารอันตรายเป็นวัตถุดิบ ไม่ได้ผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า
“จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เฉพาะไซยาไนด์ ยังมีสารพิษอื่นๆ อีกมากมาย จะต้องมีกฎหมายควบคุม ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องรู้ว่ามีโรงงานซื้อสารพิษอันตรายไปเท่าไร มีกากเท่าไร และเอาไปทำลายที่ไหน แต่จะไม่รู้เมื่อผลิตเป็นสินค้าไปแล้ว ดังนั้นหลายหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันในการตรวจสอบว่าสารเหล่านี้ เอาไปทำสินค้าอะไร ผลิตไปเท่าไร ป้องกันการเอาวัตถุดิบไม่ผ่านการแปรรูปไปขายให้ใครก็ได้ จนขายกันเกลื่อนในออนไลน์ นอกจากนั้นแล้วมีการนำไซยาไนด์ไปทำยาบ้า ถามว่าทุกวันนี้ไม่มีใครรู้เลยหรือ”.