13 เมษายน ของทุกๆ ปี เป็นวันผู้สูงอายุ ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ อีกวันสำคัญเพื่อให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักเห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุที่เป็นคนใกล้ตัว ไม่ใช่เฉพาะในวันผู้สูงอายุเท่านั้นที่ลูกหลานแสดงความรักความกตัญญูเดินทางไปรดน้ำดำหัวขอพร แต่ต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้มีชีวิตยืนยาวได้เห็นความสำเร็จของลูกหลาน
ปี 2566 สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น เป็นผลมาจากอัตราการเกิดลดลงมากๆ แตะที่หลัก 5 แสนคน ทำให้นักประชากรศาสตร์พยายามจับตาดูสถานการณ์ เพราะช่วงระหว่างปี 2506-2526 หรือยุคประชากรรุ่นเกิดล้าน มีเด็กเกิดปีละเกินกว่า 1 ล้านคน และต่อไปคนกลุ่มนี้จะทยอยเป็นผู้สูงอายุ กลายเป็นคลื่นสึนามิประชากร
นั่นเป็นสถานการณ์ที่สังคมไทยจะต้องเตรียมรับมือ ยิ่งปัจจุบันคนครองความเป็นโสดอยู่เพียงลำพังคนเดียวมากขึ้น แล้วการเป็นอยู่ในอนาคตหลายคนคงนึกไม่ออก หรือหากเป็นตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจะเป็นอย่างไรต่อไป เป็นคำถามที่ชวนขบคิดก่อนใกล้ถึงวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน

...
ในประเด็นนี้ “รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน” จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ให้เห็นถ้าเมื่อใดก็ตามกลุ่มประชากรรุ่นเกิดล้านเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ก็จะเป็นคลื่นลูกใหญ่ ไม่ว่าภาครัฐและตัวผู้สูงอายุเอง ต้องเตรียมตัวรับมือ และปี 2566 คนที่เกิดในปี 2506 จะมีอายุครบ 60 ปี เป็นปัจจัยแรกทำให้ผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยเพราะความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคนอายุยืนยาวขึ้นแล้วมีสุขภาพดีหรือไม่ “ไม่ใช่นอนติดเตียง ไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี จนถึงบั้นปลายชีวิต” โดยอายุค่าเฉลี่ยประชากรจากแรกเกิด คนเราจะมีชีวิตอยู่กี่ปีนั้น ทางสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณการอายุค่าเฉลี่ยของผู้ชายอยู่ที่ 72 ปี ขณะที่ผู้หญิง 80 ปี
เหตุผลที่ผู้หญิงอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย แน่นอนมาจากความไม่สมดุลทางเพศมาตั้งแต่เริ่มต้น ดูตามจำนวนสัดส่วนของเพศโดยปกติแล้ว ไม่ว่าทุกประเทศในโลกผู้ชายจะเกิดมากกว่าผู้หญิง ในอัตราส่วน 105-106 คน ต่อผู้หญิง 100 คน แต่เมื่อมีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ ผู้ชายจะเสียชีวิตมากกว่าจนมีจำนวนน้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะวัยรุ่นเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เพราะความหุนหันพลันแล่น ซึ่งเป็นเหตุผลในเชิงบุคคลด้วย
ถ้าเปรียบเทียบผู้ชายกับผู้หญิง จากยีนก็มีผลในเรื่องของกรรมพันธุ์ก็เกี่ยวข้องเช่นกัน และเรื่องความไม่สมดุลทางเพศก็เกี่ยวข้องกับการจับคู่ เพราะเมื่อผู้หญิงมีมากกว่า ทำให้เป็นโสดมากขึ้น และสังคมปัจจุบันยังมีเรื่องเพศทางเลือกมากขึ้น ผู้ชายอาจไม่ชอบผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงอาจมีบ้างที่ไม่ชอบผู้ชาย ทำให้เกิดความไม่สมดุลทางเพศ อีกทั้งปัจจุบันสถานภาพของผู้หญิงมีการศึกษาสูง มีอิสระมากขึ้น ทำให้เลือกจะเป็นโสด

ผู้หญิงโสดอายุยืน อยู่ลำพังคนเดียว เสี่ยงไม่มีใครดูแล
เมื่อมาสู่บริบทที่ว่าผู้หญิงเป็นโสดมากขึ้น มีอายุยืนมากขึ้น และมีแนวโน้มอยู่ตามลำพังคนเดียว เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อาจจะเป็นกลุ่มเปราะบางได้ในอนาคตหากป่วยติดเตียง ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการวัดโดยดัชนีความมีชีวิตชีวาว่า ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่ทางสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังติดตามและเฝ้าระวังในกลุ่มคนไม่เปราะบาง จะกลายเป็นกลุ่มเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอยู่คนเดียว
“ในระยะต้นอาจไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อาจตายคนเดียวโดยไร้ญาติได้ ซึ่งภาครัฐและภาคสังคมจะต้องดูแลคนเหล่านี้ โดยเฉพาะคนป่วยติดเตียง แม้มีลูกหลานดูแล แต่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ตรงนี้น่าเศร้าใจ”
...
แนวทางแก้ไขจะต้องให้ชุมชนเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดมากที่สุด เป็นการดูแลอย่างรอบด้าน โดยชุมชนมีการผลัดกันดูแล เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งความจริงก็คงยากมาก โดยผู้นำชุมชนสำคัญมากที่สุด ถ้าผู้นำดี หัวดี หางก็ตามแน่นอน ยิ่งมีคนในชุมชนร่วมด้วยก็จะยิ่งดี มีระบบดูแลเพื่อนบ้าน แต่ประเด็นปัญหาสำคัญในการหาคนมาทำนั้นยากมากว่าใครจะมาดูแล อาจต้องมีระบบอาสาสมัครทำงานแบบบูรณาการร่วมด้วยช่วยกัน
ในส่วนตัวเลขผู้สูงอายุที่ระบุในทะเบียนบ้านจากข้อมูลทะเบียนราษฎร ทั้งคนมีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย มีรายงานทุกปีในช่วงสิ้นปี อย่างล่าสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 แต่ถ้าให้แม่นยำต้องใช้ตัวเลขประชากรในช่วงกลางปี ควรเอาปี 2564 และปี 2565 นำมาเฉลี่ยกันจะแม่นยำที่สุด เนื่องจากระหว่างปีจะมีการเกิดการตายเกิดขึ้นตลอดเวลา
ถ้าดูจำนวนตัวเลขจากกลางปี 2565 จะมีสัดส่วนคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 19% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือ 12.5 ล้านคน และปี 2566 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบรูณ์ จะมีสัดส่วนคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 20% หรือ 13 ล้านคน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดไปแล้ว แตะ 30%

...
ผู้สูงอายุในภาคเหนือมีมากที่สุด ลำปางครองแชมป์
จากข้อมูลปี 2565 พบว่า ภาคเหนือ มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย โดย จ.ลำปาง อันดับ 1 อยู่ที่ 26% ของจำนวนประชากรในพื้นที่ หรือประมาณ 1 ใน 4 ส่วน จ.แพร่ อันดับ 2 อยู่ที่ 25.7% ตามมาด้วย จ.ลำพูน สิงห์บุรี และชัยนาท ขณะที่เมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว มีสถิติการเสียชีวิตมากสุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์
เมื่อจำนวนผู้สูงอายุในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสำนักสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียวเพิ่มมากขึ้นมาเป็น 12% หรือ 1.6 ล้านคน จากเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังเพียง 4% ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังคนเดียวเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือผู้สูงอายุที่คู่สมรสได้เสียชีวิตไป ส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพตัวเอง และขาดคนดูแล ซึ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ และกลุ่มพอจะมีเงินในการจ้างคนดูแล
ประเด็นอยู่ที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวไม่มีลูกหลานดูแล ไม่มีคนพาไปหาหมอ หรือพาไปธนาคาร ทำให้เป็นปัญหา ควรมีระบบสวัสดิการทางสังคมในการพาผู้สูงอายุไปรวมกลุ่มทำกิจกรรม และอยากให้ผู้สูงอายุอยู่ในถิ่นที่อยู่ โดยมีระบบมารองรับ เพื่อให้สามารถอยู่ในชุมชนได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ และประเด็นสำคัญอยู่ที่ความปลอดภัยในชีวิต เพราะผู้สูงอายุจะกังวลกลัวคนมาทำร้าย จะต้องมีระบบเข้ามาดูแล ส่วนการอยู่ศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือ Senior Complex ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายควรมีสวัสดิการสังคมเข้ามาดูแลโดยเฉพาะคนชั้นกลางลงไป

...
สูงวัยอย่างมีพลัง อย่าลืมให้คุณค่า ศักดิ์ศรีผู้สูงอายุ
ในโอกาสวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน ควรให้คุณค่ากับผู้สูงอายุ และเราอาจหลงลืมไปว่าผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคล สะสมประสบการณ์มาทั้งชีวิต ควรเป็นผู้สูงวัยอย่างมีพลัง ควรมีศักดิ์ศรี อย่ามองเป็นคนแก่ อาจมีความสามารถ แม้สุขภาพอาจเสื่อมถอย แต่ยังมีคุณค่าในสังคม และอยากให้ลูกหลานมองเป็นเรื่องที่ดีในวันสงกรานต์ เป็นวันครอบครัวที่จะกลับมาหาพ่อแม่
แต่คนไม่มีลูก ก็ไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะต่อไปประชากรของไทย 1 ใน 3 จะเป็นผู้สูงอายุในไม่กี่ปีข้างหน้า ทางภาครัฐและประชาสังคมต้องหาระบบมารองรับ ไม่ควรตระหนก แต่ควรตระหนัก เพราะฉะนั้นคนวัยทำงานจะต้องเริ่มต้นในการเป็นผู้สูงอายุในเรื่องการเตรียมเงินหลักล้านบาท เพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายชีวิต และดูแลสุขภาพ โดยไม่พึ่งพาใคร และเตรียมเรื่องที่อยู่อาศัยว่าจะอยู่อย่างไร หากต้องอยู่คนเดียว และมีเพื่อนบ้าน คนในชุมชนดีหรือไม่
“ทุกฝ่ายต้องควรช่วยกันดูแล และจริงๆ แล้วการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุต้องเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ทั้งเรื่องอาหารการกิน การศึกษา และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยอย่างมีพลัง และสุดท้ายต้องเตรียมตัวตายในวัยอันสมควร ตายอย่างไรไม่ให้ทรมาน ก่อนจากไปอย่างสงบ”.