นับตั้งแต่กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2564 ให้สิทธิและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดมากขึ้น โดยเน้นกระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษทางอาญา ในกรณีความผิดที่ไม่ร้ายแรง และเน้นการลงโทษผู้ค้าหรือขบวนการ เพื่อตัดวงจรทางการเงิน แต่กลับพบว่าจำนวนคนทำผิดไม่ได้ลดน้อยลง อาจเป็นเพราะการลงโทษเบาลง ทำให้คนกลับมาทำความผิดได้ง่ายมากขึ้นก็ได้
จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 มีจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติด 206,361 ราย หรือ 78.67% ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นนักโทษเด็ดขาด 170,860 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเดือนส.ค. 2551 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด จำนวน 100,015 ราย หรือ 54.94% ของผู้ต้องขังทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีนักโทษเด็ดขาด 72,963 ราย
ล่าสุดอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศทำสงครามกับยาเสพติด ด้วยบทลงโทษที่รุนแรงจากการแก้กฎกระทรวง กำหนดให้ผู้ครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ และครอบครองยาบ้า 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้า หากการหารือของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีปัญหา คาดจะเสนอเข้าครม.ในวันอังคารที่ 7 ก.พ. นี้
...
“วีระพันธ์ งามมี” ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซน ในฐานะคนทำงานเพื่อลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบและอันตรายจากการใช้สารเสพติด และเห็นว่าผู้เสพยาเป็นผู้ป่วย เป็นเพียงพฤติกรรมที่อาจจะเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ต่างจากคนที่กินอาหารเค็มเกิน หวานเกินไป หรือคนดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แต่เมื่ออนุทิน ชาญวีรกูล มีถ้อยคำออกมาจะเปลี่ยนเกณฑ์ให้ผู้ครอบครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ และครอบครองยาบ้า 2 เม็ดขึ้นไปเป็นผู้ค้า ทำให้มองว่าจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีคุณค่าศักดิ์ศรีเพียงยาบ้า 2 เม็ด และโอกาสในการต่อสู้ทางคดีอาญามีน้อยมาก จนต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว
“แม้หลายคนเชื่อว่าการเอาโทษทางอาญามาข่มขู่ จะทำให้คนไม่กระทำความผิด เป็นการป้องปราม แต่ส่วนตัวมองว่าไม่จริง ควรเอาข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์มาพิจารณา เพื่อเป็นหลักประกันให้คนมีความเป็นคนเท่ากัน เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน หากผู้นำในการเลือกตั้งครั้งหน้า เดินหน้านโยบายอย่างนี้ก็ไม่สง่างาม ต้องมีสติทำให้ถูกต้อง หรือมาคุยกับผมเพราะตลอด 20 ปีที่ทำงาน มีข้อมูลหลายอย่างยินดีจะแชร์มุมมอง หากคิดว่าจะนำพาประเทศไทย จะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และแก้อย่างตรงจุดไม่สร้างปัญหาเพิ่ม”
หากมองอย่างเข้าใจ เนื่องจากมีสถานการณ์เชื่อมโยงมีที่มาที่ไป นำไปสู่การเรียกร้องของประชาชนให้แก้ปัญหายาเสพติด และแน่นอนบทเรียนหนองบัวลำภู มียาเสพติดเป็นต้นเหตุ ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้จัดการปัญหา แต่การจะพยายามโยนความผิดให้ผู้เสพยาทั้งที่คนเสพยาก็เจ็บปวดมากพอแล้ว และประเมินค่าด้วยยาเสพติดเพียง 2 เม็ด ให้เป็นผู้ค้า ยิ่งเจ็บปวดมากไปอีก ทำให้ทุกข์ทรมานเหมือนตายทั้งเป็น
เพราะฉะนั้นการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จะอ้างประชาชนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะภายในกระทรวงมีแต่หมอ ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่าใช้ความรู้สึก แต่หากคำพูดที่ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง ก็เป็นโอกาสในการสร้างเครดิตในการแสดงจุดยืนที่มีประสิทธิภาพให้กับคนไทย ด้วยการคิดให้ดีอย่างรอบคอบ หากจะสร้างตำแหน่งให้เป็นตำนาน
การจะกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งพยายามแบ่งผู้เสพยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ค้า กลุ่มแรงงานที่รับใช้ขบวนการค้ายา และกลุ่มผู้เสพเล็กน้อย หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อการเสพ ซึ่งเป็นเหยื่อของยาเสพติดโดยตรง แต่ถูกนำมาเป็นประเด็นไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เพียงการครอบครองยาบ้า 2 เม็ดให้เป็นผู้ค้า กลายเป็นอาชญากร เป็นผู้กระทำผิดคดีอาญา และอาจสูญเสียอิสรภาพ หากไม่ต่อสู้ ทั้งๆ ที่กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ให้เข้าสู่การบำบัดโดยระบบการสมัครใจ และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการหาแนวทางในการบำบัด
“ถ้ากฎกระทรวงสาธารณสุขออกมาเช่นนี้ ถือว่าผิดพลาด เป็นการกระทำต่อหลักคิดสำคัญของระบบนิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นขบวนการอำนวยการโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดช่องทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดเสียเอง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน แค่คำพูดเดียวก็กำลังทำลายคุณค่าของคน และหากนำเข้าไปสู่เรือนจำ ถามว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร จากเดิมกำหนดไม่เกิน 15 เม็ด ยังมีคนล้นคุก หาก 2 เม็ด คงจะมีมากขึ้น เพราะการให้ค่าคนเท่ากับยาบ้า 2 เม็ด”
...