ในห้วงใกล้เลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองทยอยเปิดนโยบายหาเสียง หวังชิงความได้เปรียบ เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยประกาศจะทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 หากได้เป็นรัฐบาล ด้วยการสร้างเศรษฐกิจใหม่ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มองว่าเป็นการโยนภาระ เพิ่มต้นทุนให้ภาคเอกชน ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน อาจเป็นเพียงนโยบายขายฝัน ไม่สามารถทำได้จริง

แต่ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ “ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข” คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งคิดแบบนักวิชาการ ไม่ใช่แบบนักการเมือง มองว่านโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ของพรรคเพื่อไทย เหมือนการแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะเน้นทิศทางอย่างไร และคิดว่าการนำเสนอโดยคีย์หลักไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ซึ่งมีนัยเป็นผลลัพธ์
“การเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทำไมจะตั้งเป้าอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้ หรือบริษัทอันดับสอง อันดับสาม ก็สามารถตั้งนโยบายได้ ทุกอย่างอยู่ที่วิธีการ ไม่ได้บอกว่าถ้าเป็นรัฐบาลจะขึ้น 600 บาทในทันที อยู่ที่การตีความว่าคิดอย่างไรในเรื่องวิสัยทัศน์ ถ้าปีหน้าเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาล อาจช่วงเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. อยู่ในวาระ 4 ปี รวมเบ็ดเสร็จก็ 5 ปี ในการปรับขึ้น 600 บาท ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่คีย์สำคัญว่าทำอย่างไร เพราะปัจจุบันค่าแรงในภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ก็สูงสุดวันละ 354 บาท หากทำไม่ได้ประเทศเราก็จะมีคนจนมากขึ้น”
...
หรือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 มีเป้าหมายจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผ่านมา 8 ปี เหลืออีก 12 ปี ยังทำไม่ได้ รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ก็ควรถามตัวเองเช่นกันว่าทำไมทำไม่ได้ โดยส่วนตัวมองว่า การจะทำได้หรือไม่ในการปรับขึ้นค่าแรง 600 บาท ก็ไม่รู้ แต่ต้องผลักดันให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะพัฒนาไม่ได้

อีกทั้งปี 2565 เฉพาะเงินเฟ้อขยายตัวมากถึง 6% ส่วนเศรษฐกิจอาจโตไม่ถึง 3% และถามว่าค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ หรือสมมติถ้าปรับขึ้น 10% ประมาณ 35 บาท ในระยะเวลา 7 ปี รวมปรับขึ้น 200 กว่าบาท เมื่อบวกกับค่าแรงในปัจจุบัน ก็ใกล้เคียง 600 บาท ให้ยึดตามตรรกะ และค่าครองชีพ โดยตัวเลขค่าแรงต้องทำให้ได้ ซึ่งใครจะพาเราไปตรงนั้น ยังดีกว่าไม่มีเป้าใดๆ อย่าคิดว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เป็นเงินอุดหนุนของรัฐบาล
แม้พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท และบอกเป้าที่ตั้งไว้เป็นเรี่องวิสัยทัศน์ แต่จะต้องดูรายละเอียดว่ามีวิธีการอย่างไร ก็ไม่ได้บอกว่าสนับสนุน หรือเชียร์ใคร แต่ค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้น ไม่ให้ประเทศไทยตามหลังประเทศอื่น เพราะขณะนี้ค่าครองชีพดันขึ้นตลอดเวลา จะมีคนจนเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันมีการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 19.6 ล้านคน ถามว่าเท่ากับกี่เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร เป็นสิ่งที่คนทำงาน จะต้องได้เงินเพิ่มและได้ค่าแรงขั้นต่ำมากกว่านี้

“ไม่ควรใช้วิธีการว่าจะอยู่ได้หรือไม่ ให้พอกับค่าครองชีพ แต่ควรคิดว่าถ้าจ่ายเท่านี้ จะทำหรือไม่ทำ จะต้องทำให้คนลุกจากเตียงไปทำงาน ถามว่าค่าแรง 300 กว่าบาท คนอยากจะลุกขึ้นไปทำงานหรือไม่ เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติฯ มีคนไม่มีงานทำ เพราะไม่หางานทำเป็นจำนวนมาก แปลว่ามันแปลกแล้ว จนกลายเป็นปัญหา ทั้งๆ ที่ค่าแรงขั้นต่ำควรสูงกว่านั้น แต่ต้องทำงานให้คุ้มกับที่นายจ้างให้ไป และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างสหรัฐฯ ปรับขึ้นค่าแรงชั่วโมงละ 15 เหรียญ เพราะเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งตรงข้ามกับนักการตลาด”

...
สิ่งสำคัญในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อยู่ที่ว่าจะใช้วิธีอย่างไรในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ จะต้องทำงานแล้วสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือลูกจ้าง 1 คน สามารถทำงานได้ 2 อย่าง จากที่เคยทำ 2 คน เพราะฉะนั้นคนทำงานต้องมีทักษะ มีเงินอุดหนุนมาพัฒนาเพิ่มพูนทักษะ โดยรัฐอาจให้งบอุดหนุนบางส่วนในลักษณะให้เงินช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ หรือลดภาษี ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่จะนำมาใช้ให้สอดคล้องกัน หรืออัปเกรดเครื่องจักรจากการให้ทุนของรัฐบาล
หากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มองว่าค่าแรงต่ำกว่าวันละ 600 บาทนั้นน้อยไป และหากค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นน้อย ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ จะต้องอยู่ที่คีย์สำคัญจะทำอย่างไร และจำเป็นหรือไม่สำหรับประเทศไทย ซึ่งมองว่าจำเป็นอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลาง ในการยกระดับคนและช่วยเหลือแรงงานระดับล่าง จะต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย ลดเวลาทำงาน และลูกจ้าง 1 คน อาจสามารถจ้างได้มากขึ้น เปรียบเหมือนการส่งคน 10 คนไปกวาดถนน แต่หากให้ขับรถกวาดถนนเพียง 1 คน จะมีผลงานและคุณค่ามากขึ้น.