ประเทศไทยปลดล็อกกัญชา ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 แม้กระทรวงสาธารณสุข ออกกฎหมายห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปี ใช้กัญชาในทุกกรณี แต่ด้วยความอยากรู้ อยากลอง และความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเด็ก ได้ปรากฏภาพเด็กสูบกัญชาแชร์ว่อนในโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง กระทั่งเหตุล่าสุดเด็กเร่ร่อนวัย 9 ขวบ และ 10 ขวบ นั่งดูดบ้องกัญชาริมชายหาดพัทยาใต้
เกิดคำถามซ้ำๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วใครจะเข้ามาแก้ปัญหาให้จบสิ้น หรือโยนให้ตำรวจเข้าไปจัดการกับผู้ขายกัญชาให้เด็ก ระหว่างรอพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระสอง คาดว่าสัปดาห์หน้า แต่กว่าจะผ่านสภาอาจต้องใช้เวลานาน และต้องลุ้นว่าจะผ่านหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นร้อนต้องติดตามจากการเปิดศึกอย่างรุนแรงในพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคภูมิใจไทย ซึ่งผลักดันนโยบายปลดล็อกกัญชา กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาคัดค้าน
กลายเป็นสภาวะสุญญากาศ สร้างภัยมหันต์ต่อเด็กไทยที่เข้าถึงกัญชาได้อย่างง่ายๆ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจากการชักชวนของเพื่อนๆ และจากการศึกษาพบว่าเซลล์สมองของเด็กจะไวต่อสิ่งเร้า อาจมีความสุ่มเสี่ยงจะเข้าสู่วงจรการเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆ ในอนาคต จนกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา จากผลพวงปลดล็อกกัญชา ไม่ถือเป็นยาเสพติด และยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่ายมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา รวมถึงการสูบ ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด
...
เป็นสิ่งที่น่าห่วงมาก จากการระบุของ ”ศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะยิ่งจะทำให้เด็กสูบกัญชาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขที่พบมีผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สูบกัญชามากขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายกัญชาในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งมีเด็กสูบกัญชาน้อยกว่า 2% และระหว่างรอผลสำรวจปี 2565 แม้ยังไม่มีตัวเลขแต่จำนวนเด็กที่สูบกัญชาจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากการควบคุมที่ย่อหย่อนลง ระหว่างรอพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับใหม่
อีกทั้งทัศนคติของเด็กอาจมองว่ากัญชาไม่มีพิษมีภัย และคิดว่ามีประโยชน์ หากสูบกัญชาตั้งแต่เด็กจะกระทบต่อสมอง มีอาการทางจิตเมื่อเติบโตขึ้นมา จะต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้เด็กเข้าถึงกัญชาได้ง่าย เพราะขณะนี้ค่อนข้างเห็นแนวโน้มการใช้กัญชามากขึ้น หลังการปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก แม้ให้ใช้ในทางการแพทย์ และเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มก็ตาม
“หากพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ออกมาได้ทัน ก็ต้องรัดกุมในการควบคุม ไม่ควรให้พกพาในพื้นที่สาธารณะ จะต้องมีโทษ หรือยกเลิกประกาศให้กัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ทางการแพทย์ยังใช้ได้ อาจมีผลเสียต่อนักลงทุน เพราะแม้กัญชาจะสร้างรายได้มหาศาล แต่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม จากสารเสพติดทำให้สมองมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเสพสารเหล่านี้ ด้วยความเป็นฤทธิ์ยาเสพติด มีผลต่ออาการทางจิต โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่สมองยังต้องการทะนุถนอม มีโอกาสเกิดได้ทั้งหูแว่ว เห็นภาพหลอน”
หรือบางคนแม้หยุดใช้กัญชาไปแล้ว แต่ยังมีอาการทางจิตเรื้อรัง รักษาไม่หายในสัดส่วนที่สูง เกิดผลกระทบต่อครอบครัวในการดูแลลูกหลานที่มีอาการทางจิต จนเสียผลผลิตต่อประเทศชาติ และจากผลการศึกษาเด็กที่เสพกัญชามีแนวโน้มไปเสพยาเสพติดชนิดอื่น แม้อาจไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เพิ่มความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเมื่อมีการปลดล็อกกัญชา พบว่าเด็กที่เสพเริ่มมีความก้าวร้าวมากขึ้น ไม่ยอมไปพบแพทย์ จะต้องพยายามทำความเข้าใจกับคนครอบครัวให้นำมารักษา หรือบางคนเคยมีอาชีพ เมื่อกลับไปใช้กัญชา เพราะการเปิดกัญชาเสรี ทำให้สูญเสียอาชีพไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ยังมีอาการซึมเศร้า และก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะต้องมีมาตรการต่างๆ ที่รัดกุมระดับหนึ่ง เหมือนช่วงก่อนปลดล็อกกัญชาในการจับกุมคน และเน้นกระบวนการบำบัดให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพราะบางคนอยากหยุด แต่เหมือนเชื้อโรค ทำให้หยุดไม่ได้ จะต้องเข้ารับการบำบัด แต่การบำบัดใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และทางที่ดีที่สุดต้องยกเลิกประกาศให้กัญชาออกจากยาเสพติด
“ประเด็นสารเสพติดในบ้านเรา ไม่ใช่เฉพาะกัญชา ยังมีสารเสพติดอื่นๆ มาสร้างปัญหา ในช่วงเปลี่ยนกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ เน้นระบบการบำบัดไม่มองคนเสพเป็นนักโทษ แต่เป็นคนป่วย เมื่อจำนวนผู้ป่วยมาก ทำให้ศูนย์บำบัดที่มีอยู่ อาจรองรับลำบาก ควรใช้กฎหมายเข้ามาแก้ไข ยิ่งถ้าอยู่ในชุมชนที่หาสารเสพติดได้ง่าย ทำให้เด็กมีโอกาสใช้สารเหล่านั้นได้สูง และเรื่องของพันธุกรรม ก็มีส่วนอยู่บ้าง ทำให้คนในครอบครัววนเวียนอยู่กับสารเสพติด เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไม่ได้”.
...