อดีตพ่อค้าไก่หมุนปลอมตัวเป็นทนาย สร้างความสั่นสะเทือนให้กับกระบวนการยุติธรรม โดยทนายปลอมถูกจับได้ที่ จ.กำแพงเพชร หลังมีพฤติกรรมหลอกลวงเงินจากเหยื่อ ก่อนส่งคำพิพากษาปลอมให้ ขณะเดียวกันยังมีการโพสต์ภาพลงโซเชียลในชุดครุยทนายความ ซึ่งตามกฎหมายการปลอมเป็นทนายมีโทษจำคุก 3 เดือน ในทุกครั้งที่ขึ้นว่าความต่อศาล และอาจมีโทษจำคุกถึงพันปี
หลังเรื่องราวของอดีตพ่อค้าไก่หมุนถูกแฉ ทำให้มีการรื้อค้นประวัติทนายปลอมออกมาจำนวนมาก โดย “นายพรเทพ คะเชนทร์ภักดิ์” ผู้ต้องหามีการอ้างว่าเคยขึ้นว่าความมาแล้วกว่า 10 คดี มีการอัดคลิปลงในโซเชียล ด้วยการสวมชุดครุยทนาย และถ่ายรูปโปรไฟล์กับสำนักงานทนายของตัวเอง มีการโพสต์ข้อความว่ารับว่าความทั่วราชอาณาจักร
ทนายปลอมถูกจับได้เมื่อเหยื่อรายหนึ่งหลงเชื่อว่าจ้าง ทนายปลอมได้หลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินจำนวน 4 หมื่นบาท เมื่อผู้เสียหายทวงถามความคืบหน้าคดี จะถูกบ่ายเบี่ยง สุดท้ายได้ส่งคำพิพากษาปลอมมาให้ เมื่อผู้เสียหายนำเลขคำพิพิากษาไปตรวจสอบ กลับพบว่าเป็นของปลอม จึงนำมาสู่การเข้าจับกุมทนายปลอมในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร
ล่าสุด สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกประกาศเตรียมแจ้งความเอาผิดกับพ่อค้าไก่หมุนรายดังกล่าว ขณะที่ ศาลยุติธรรม มีการตรวจสอบคดีความที่อยู่ในความรับผิดชอบ ไม่พบชื่อทนายปลอมเคยว่าความในคดีที่เกี่ยวข้อง และเตรียมจะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยตรวจสอบข้อมูลของทนายความก่อนขึ้นว่าความ

...
อดีตพ่อค้าไก่หมุนที่ปลอมเป็นทนาย เคยมีประวัติว่าความในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยเรื่องนี้ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” สอบถามไปยัง “พรเทพ เจริญพงศ์อนันต์” ประธานสภาทนายความ จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีผู้เสียหายจากทนายปลอมมาแจ้งให้ทบทวนการพิจารณาคดีในพื้นที่ ซึ่งการปลอมบัตรทนายมีโทษละเมิดอำนาจศาล มีฐานความผิดจำคุก 3 เดือน ถ้าพิสูจน์ทราบว่าทนายปลอมขึ้นไปว่าความต่อศาล จะนับการกระทำผิดในการขึ้นไปว่าความครั้งละ 3 เดือน ดังนั้นจึงทำให้บางคนที่ปลอมแปลงอาจติดคุกถึงพันปี หากตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดบ่อยครั้ง
ส่วนคดีที่ทนายปลอมได้เคยว่าความให้ ต้องพิจาณาว่า ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุด ต้องมีการรื้อคดีมาพิจารณาใหม่ และต้องร้องขอเปลี่ยนทนาย แต่คดีความที่จบไปแล้ว ต้องมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีนั้นมาร้องเรียน เพราะปกติไม่สามารถตรวจสอบคดีความได้ด้วยชื่อของทนาย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเข้ามาร้องเรียน ถึงจะรื้อคดีมาพิจารณาใหม่ได้
“หากผู้เสียหายรู้ว่าทนายปลอมคนนี้เคยว่าความ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ต้องมาร้องเรียนต่อศาล เพื่อให้รื้อฟื้นคดีใหม่ เพราะเมื่อไม่ใช่ทนาย ทุกอย่างถือว่าเป็นของปลอมทั้งตั้งแต่เริ่มคดี โดยเฉพาะคดีที่มีการประนีประนอม หากทนายปลอมเซ็นชื่อแทนลูกความ ย่อมทำให้คดีนั้นขาดความสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นทนายปลอม”
การปลอมเป็นทนายความ กรณีนี้ถือเป็นรายแรกในรอบหลายปี แต่ที่ผ่านมาจะมี “ทะแนะ” ที่ไม่ใช่ทนายความ แต่จะคอยช่วยเหลือลูกความในการหาทนายมาช่วยว่าความ แล้วเก็บค่าหัวคิวจากผู้ว่าจ้าง ซึ่งประชาชนควรใช้ความระมัดระวัง เพราะบางรายจะมีกลวิธีในการเรียกเก็บเงินจากผู้ที่มาปรึกษากฎหมายจำนวนมากกว่าความเป็นจริง
ดังนั้น การตรวจสอบทนายความ ประชาชนต้องตรวจสอบใบอนุญาตว่าความก่อนทุกครั้ง ไม่ควรหลงเชื่อผ่านการแนะนำของบุคคลอื่น หรือผ่านการดูบนโลกออนไลน์อย่างเดียว เพราะจะสูญเสียเงินไปกับการถูกหลอก และการดำเนินคดีนั้นไม่มีความคืบหน้าของรูปคดี.