ทุเรียนไทยมีการส่งออกไปขายในตลาดจีนมากที่สุดตอนนี้ แต่ไม่แน่ว่าอนาคตจะถูกโค่นแชมป์ หากเวียดนาม สามารถเจรจากับจีนส่งออกทุเรียนสดมาขายได้ เพราะด้วยชายแดนของประเทศติดกัน ทำให้ต้นทุนการขนส่งประหยัดกว่าไทย แถมยังมีการพัฒนาพันธุ์หมอนทอง เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด หากไทยไม่มีการปรับตัวและพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนต่อจากนี้ให้ดีขึ้น คงจะกระทบหนักอย่างแน่นอน
“ดร.ทรงพล สมศรี” ที่ปรึกษา กรมวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญการเพาะพันธุ์ทุเรียน กล่าวว่า ภาพรวมตลาดส่งออกทุเรียนไทย 90 เปอร์เซ็นต์ ส่งไปขายในจีน เพราะมีการอนุญาตให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ส่งออกทุเรียนสดมาขายได้ แต่ล่าสุดเวียดนามพยายามเจรจาเพื่อขอนำเข้าทุเรียนสดมาขาย ขณะที่มาเลเซีย เป็นคู่แข่งสำคัญ พยายามเจรจาทางการเมืองกับจีน เพื่อนำเข้าทุเรียนสด หลังประสบความสำเร็จในการนำทุเรียนแช่แข็งมาขาย
อนาคตหากจีนมีการอนุญาตให้ประเทศอื่น สามารถส่งทุเรียนสดเข้ามาขายได้ จะส่งผลกระทบต่อทุเรียนไทย เพราะขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนจำนวนมาก ทำให้อีก 4–5 ปีข้างหน้าทุเรียนที่ปลูกใหม่จะให้ผลผลิต หากมีการแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีน จะส่งผลกระทบหนักต่อเกษตรกรไทย
“จากประสบการณ์ตอนเดินทางไปจีน ได้ลองชิมทุเรียนมูซังคิง นำเข้าจากมาเลเซียด้วยการแช่แข็ง มีรสชาติขมน้อยกว่ากินสด สำหรับไทยมีการนำมูซังคิงมาปลูกในจังหวัดจันทบุรี กว่าพันต้น ซึ่งปีนี้เริ่มให้ผลผลิต แต่ผลผลิตที่ได้ยังมีปัญหาความเหลืองของเนื้อทุเรียนไม่สม่ำเสมอ รูปทรงไม่สวย ทำให้คุณภาพทุเรียนไม่สามารถส่งออกได้”
ถ้ามองการแข่งขันในตลาดจีน ผู้ส่งออกทุเรียนไทยทำตลาดทุเรียนแช่แข็งน้อย ถ้าเทียบกับมาเลเซีย มีการส่งออกทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีไนโตรเจนเหลว ทำให้ผลทุเรียนแข็งตัวเร็ว เนื้อภายในคงความสดเหมือนเพิ่งหล่นมาจากต้น ดังนั้นถ้าไทยจะเพิ่มช่องทางการแข่งขัน ต้องพัฒนาเทคโนโลยีการทำทุเรียนแช่แข็งให้มีประสิทธิภาพ
...
ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์การเพาะปลูก เป็นอีกทางรอดที่เกษตรกรไทยควรหันมาพัฒนาทุเรียนลูกผสม ที่ขณะนี้เริ่มมีการส่งออกไปยังตลาดจีน เช่น พันธุ์นวลทองจันท์ ลูกผสมระหว่างพันธุ์พวงมณีกับหมอนทอง
ขณะนี้มีพันธุ์ทุเรียนลูกผสมสามารถส่งออกจีน และเริ่มขายทางออนไลน์เช่น พันธุ์ลูกผสมจันทบุรี 1 – 10ให้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งเริ่มทำการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปลูก เพื่อสร้างตลาดใหม่ในการแข่งขันทุเรียนส่งออก
“จากกระแสข่าวที่จีนประกาศว่าสามารถปลูกทุเรียนเองได้ ไม่น่าจะให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ แต่ที่น่าห่วงคือ นายทุนจีนมาเช่าที่ดินปลูกทุเรียนแถบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มากขึ้นเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการแย่งส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทย โดยเฉพาะเวียดนาม ถ้าสามารถปลูกทุเรียนได้มากขึ้น จะทำให้ต้นทุนการส่งทุเรียนมาขายจีนถูกกว่าไทย”
เวียดนาม เป็นประเทศที่นายทุนจีนมาเช่าพื้นที่ปลูกทุเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองของไทย มีการนำกิ่งพันธุ์ไปปลูกจำนวนมาก เพราะเวียดนามมีการส่งเสริมให้ปลูกทุเรียนในพื้นที่ และรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรกิ่งพันธุ์คุณภาพให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูก

ทุเรียนไทยต้องรักษาคุณภาพ ให้อยู่ได้ในตลาดจีน
“ดร.ทรงพล สมศรี” มองว่า ทางรอดของเกษตรกรไทยต้องคำนึงถึงคุณภาพให้มากขึ้น เพราะขณะนี้มีการลักลอบส่งออกทุเรียนอ่อนไปขายที่จีนจำนวนมาก แม้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ยังสามารถหลุดรอดออกสู่นอกประเทศ
อีกปัจจัยสำคัญการจะควบคุมไม่ให้มีแมลงศัตรูพืชติดไปกับทุเรียน แต่ที่ผ่านมาจีนมักเจอหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนปนไปกับสินค้าส่งออกจำนวนมาก โดยเฉพาะทุเรียนจากเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้นการควบคุมคุณภาพการส่งออกจะต้องทำเป็นอันดับแรกในเวลานี้
ขณะนี้ต้นทุนของเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลงเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ขายกระสอบละ 1,000 บาท ตอนนี้ขึ้นมา 1,800 บาท จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลให้ความรู้กับเกษตรกรในการทำปุ๋ยเพื่อผลิตใช้เอง หรือสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่ใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็นเหมือนที่ผ่านมา
จีนเป็นตลาดใหญ่นำเข้าทุเรียนจากไทย ยังมีโอกาสเติบโตสูง เพราะจากการสำรวจประชากรจีนที่กินทุเรียนไทยต่อปีขณะนี้อยู่ที่ 0.5 กิโลกรัมต่อคน ถ้าคนจีนมีการกินเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้ยอดขายทุเรียนเติบโต และควรหาตลาดส่งออกใหม่ โดยเฉพาะอินเดีย เป็นอีกตลาดส่งออกที่น่าสนใจ หากภาครัฐมีการส่งเสริมทำการตลาดให้มากขึ้น
“การส่งออกทุเรียนไปจีนขณะนี้ค่อนข้างมีปัญหาด้านการขนส่ง โดยเฉพาะทางบก เพราะช่วงที่ผ่านมาจีนมีความเข้มงวดตามมาตรการป้องกันโควิด ทำให้เกิดความติดขัดในหลายขั้นตอน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดูแลหามาตรการลดต้นทุน ทั้งการขนส่งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปของเกษตรกรในการส่งออกให้มากขึ้นด้วย”.
...