ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้หลายพื้นที่กรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขัง ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาเพิ่มสูงขึ้น จนเกิดความวิตกกังวลหากมวลน้ำทางภาคเหนือไหลมาสมทบในเดือนกันยายน จะทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 2554 หรือไม่ เพราะถ้าวิเคราะห์ปัจจัยการเกิดฝนปีนี้กับเหตุการณ์ในอดีต มีความคล้ายคลึงกันด้วยหลายปัจจัย

เพราะปริมาณฝนตกหนักในเดือนกันยายนนี้ อาจส่งผลกระทบให้บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบ โดย “ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย” รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ ประเมินสถานการณ์ว่า ปริมาณฝนปีนี้มีมากกว่าปกติ ด้วยปัจจัยปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีฝนตกหนักในระดับปานกลาง คล้ายกับการเกิดน้ำท่วมในปี 2554 แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น

จากการพยากรณ์อากาศคาดว่า ปีนี้ปรากฏการณ์ลานีญาจะทำให้ฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม–กันยายน และอาจมีฝนตกไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ทำให้เกิดน้ำสะสมในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงต้องมีการเฝ้าระวังระดับน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ริมคลอง

อีกปัจจัยที่มีลักษณะคล้ายกับช่วงมหาอุทกภัยคือ อิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรงจากมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะนี้ทำให้ฝนตกหนักในฮ่องกง คาดว่าเดือนกันยายนนี้จะพัดเข้ามาทำให้ฝนตกระดับปานกลาง ลักษณะของมรสุมประเภทนี้จะพัดเข้ามามากช่วงฤดูฝน จากการพยากรณ์อากาศของปีนี้คาดว่า มรสุมจะไม่สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับพื้นที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ การพัดเข้ามาของร่องมรสุมอย่างต่อเนื่อง และตกย้ำในพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

ปัจจัยของการเกิดฝนปีนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจหรือสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ต้องวิตกกังวลกับสถานการณ์น้ำ แม้มีการคาดการณ์ว่าเดือนกันยายนนี้จะมีพายุเข้ามา 3–4 ลูก แต่ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะเมื่อถึงช่วงเวลานั้นสภาพอากาศอาจมีการเปลี่ยนแปลง จึงอยากให้ประชาชนคอยฟังการแจ้งเตือนสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด

...

“ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และน้ำท่วมเฉียบพลันในหลายพื้นที่ จึงอยากเตือนผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา อาจเกิดเหตุดินสไลด์สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนบริเวณพื้นที่ดังกล่าว จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเครื่องมือที่จะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุให้มีความพร้อมใช้งาน หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในพื้นที่”


น้ำท่วมหนักกรุงเทพฯ เกิดจากปัจจัยภายใน

“ผศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์” ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ปริมาณฝนตกหนักปีนี้ มีระดับใกล้เคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ขณะนี้มีความกังวลต่อปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ

ถ้าเทียบปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ ยังสามารถรองรับน้ำฝนที่จะตกหนักในเดือนกันยายนนี้ได้ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ สามารถกักเก็บน้ำจากทางเหนือของประเทศได้ จึงค่อนข้างวางใจได้ว่าปีนี้จะไม่มีปริมาณน้ำทางภาคเหนือเข้ามาสมทบกับเจ้าพระยา จนทำให้กรุงเทพฯ น้ำท่วมหนักเหมือนในอดีต และสิ่งที่น่ากังวลหากเกิดพายุฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนสิงหาคม อาจทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เต็มความจุจนต้องระบายน้ำอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางส่วน

“สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ขณะนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายใน โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำ และปริมาณขยะอุดตันทำให้ระบายน้ำไม่ได้ ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ จึงเป็นสิ่งที่กรุงเทพฯ จะต้องแก้ปัญหาภายในพื้นที่ ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น น้ำเหนือเหมือนอย่างปี 2554 ปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา”.