จีนใช้เวลา 4 ปี พัฒนาทุเรียนสายพันธุ์ “มูซานคิง” และ “หนามดำ” จากมาเลเซีย ให้ปลูกได้ในมณฑลกวางตุ้ง เดือนตุลาคมนี้ผลผลิตลอตแรก 41 ไร่ เริ่มนำออกมาจำหน่าย จึงมีแนวโน้มสูงที่ทุเรียนไทยจะได้รับผลกระทบ แม้จีนอนุญาตให้ไทยส่งออกทุเรียนสดไปขายได้เพียงประเทศเดียว แต่การปลูกทุเรียนได้ของจีน อาจทำให้ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดของไทยลดลง

ที่ผ่านมาไทยครองส่วนแบ่งตลาด 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ส่งออกทุเรียนมายังจีน แต่ความสำเร็จในการปลูกทุเรียนได้ของจีน มาพร้อมกับการขยายพื้นที่ปลูกอีก 2 แสนต้น เป็นเหมือน “ระเบิดเวลา” ของเกษตรกรไทย ที่ขณะนี้หันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น “สัญชัย ปุรณะชัยคีรี” นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เจ้าของล้ง “ดราก้อน เฟรช ฟรุท” จังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า จีนพยายามพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนมากว่า 10 ปี แต่ความสำเร็จครั้งนี้ต้องจับตาดูว่า ผลผลิตลอตแรกจะมีรสชาติถูกใจผู้บริโภคหรือไม่ ถ้ารสชาติเป็นที่ยอมรับ ผู้ประกอบการจีนจะทำตลาดเพื่อแย่งส่วนแบ่งจากทุเรียนสดของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว

จีนพยายามพัฒนาเกาะไหหลำให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกผลไม้หลายชนิด ล่าสุดปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิง ได้ในพื้นที่ แม้สภาพอากาศบนเกาะฤดูหนาวติดลบ 10 องศา หน้าฝนมีมรสุมมาก แต่การปลูกทุเรียนเชิงเศรษฐกิจ สภาพอากาศแปรปรวนอาจทำให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ลดลง จึงต้องคอยดูว่าจีนจะใช้เทคโนโลยีเพาะปลูกล้ำสมัยแบบไหนเข้ามาช่วย

...

ส่วนอีกปัจจัยสำคัญส่งผลกระทบต่อทุเรียนไทย มาจากเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคจีน หันมาทานทุเรียนเนื้อเหลืองพันธุ์มูซานคิงเพิ่มขึ้น แต่มาเลเซียส่งออกได้จำนวนจำกัด เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกเพียงแสนไร่ ถ้าเทียบกับไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทองประมาณหนึ่งล้านไร่ ด้วยความนิยมนี้ทำให้ทุเรียนพันธุ์มูซานคิง มีราคาสูงขึ้นกว่าหมอนทองถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดจีน

“ทุเรียนมูซานคิง มีผิวเหลือง เม็ดเล็กเนื้อเยอะทานง่าย รสขมเล็กน้อย ต่างจากความนิยมของคนไทยที่ชอบทานทุเรียนกรอบนอกนุ่มใน โดยทุเรียนสายพันธุ์ไทยมีลักษณะคล้ายกับมูซานคิง เช่น พวงมณี กระดุม และชะนี ซึ่งยังทำตลาดในจีนน้อย แต่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น จากเดิมขายกิโลกรัมละ 70 บาท ตอนนี้พุ่งขึ้นมากิโลกรัมละ 200 บาท”


ทุเรียนไทยต้องวางแผนไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด

“สัญชัย” วิเคราะห์ต่อว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมาก รองลงมาคือ ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย ทั้งนี้การแก้ปัญหาให้ทุเรียนไทยสามารถขายได้ในจีน จะต้องวางแผนการออกผลผลิตที่จะส่งขายไปจีน ไม่ให้ตรงกับผลผลิตจากประเทศอื่น เช่น เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ทุเรียนเวียดนามจะออกผลผลิตจำนวนมาก ดังนั้นเกษตรกรไทยควรหลีกเลี่ยงการเก็บผลผลิตในช่วงเดียวกัน

ส่วนปัจจัยภายในที่น่าห่วงคือ ทุเรียนของเกษตรกรไทยแต่ละพื้นที่ออกผลผลิตชนกันเอง เนื่องจากตอนนี้มีเกษตรกรปลูกทุเรียนจำนวนมาก แต่ไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาให้ความรู้ เพื่อวางแผนการออกผลผลิตไม่ให้ล้นตลาด

ด้านผู้ประกอบการล้งไทย ด้วยภาวะการแข่งขันที่สูง ทำให้หลายคนต้องเลิกทำอาชีพนี้ เพราะมีพ่อค้าชาวจีนมาตั้งล้งรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรโดยตรง โดยจะให้ราคาสูง ขณะเดียวกันล้งชาวจีนก็แข่งขันกันเอง เพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพไปขายในมณฑลที่ตนเองดูแล

หน่วยงานภาครัฐควรจะเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการประเมินพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในภาพรวมทั้งประเทศ ว่ามีจำนวนเท่าใด และแผนรอบการออกผลผลิตทุเรียนในแต่ละพื้นที่ไม่ให้ชนกัน รวมถึงควบคุมเกษตรกรรายใหม่ที่ต้องการปลูกทุเรียน เพื่อไม่ให้ผลผลิตในประเทศล้นตลาด เพราะถ้าอนาคตจีนปลูกทุเรียนได้เอง จะยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรไทยเพิ่มขึ้น

“อนาคตตลาดส่งออกทุเรียนไทยยังน่าห่วง เพราะตอนนี้ทุเรียนปลูก 4 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต เมื่อเกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าผลผลิตในอนาคตจะล้นตลาด ขณะที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการล้งไทยจะเหลือน้อยลง คนที่อยู่ได้เป็นเจ้าใหญ่ มีคู่ค้าชัดเจนในต่างประเทศ โดยล้งในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างน่าห่วง เพราะปกติช่วงที่ให้ผลผลิตจะตรงกับฤดูกาลผลไม้จีน เลยทำให้ทุเรียนขายไม่ได้ราคา”

นอกจากนี้ปัจจัยต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องแบกต้นทุน จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถส่งออกผลไม้ไทยไปจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุน ให้มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาที่เหมาะสม