เหตุไฟไหม้ผับชลบุรี “เมาท์เท่น บี” ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 15 ศพ บาดเจ็บ 37 ราย สะท้อนถึงข้อบกพร่องหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัย และปล่อยให้มีการดัดแปลงเปิดเป็นผับ จากที่ยื่นขอใบอนุญาตเปิดเป็นร้านอาหาร กลายเป็นอีกหนึ่งอุทาหรณ์ ทำให้หลายพื้นที่ รวมถึงกทม.ต้องเข้มงวดตรวจสอบสถานบริการ

เป็นที่มาคำสั่งของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้ตรวจเชิงรุกอย่างเข้มข้นขึ้นในการลงพื้นที่ภายใน 1 เดือน โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ไม่ถูกกฎหมายจะสั่งหยุดให้บริการ เพราะหากเกิดเพลิงไหม้จะยิ่งอันตรายหนัก และพบว่ามีจุดที่มีปัญหา 83 แห่ง จากจำนวน 400 จุดที่ได้รับรายงาน

ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 เคยเกิดเหตุไฟไหม้สถานบันเทิงในซอยสีลม 2 โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทำให้ผู้ว่าฯ กทม. กำชับทุกเขตตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยของสถานประกอบการเป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายกำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันเหตุในการตรวจสอบสายไฟ แผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดเพลิงไหม้ การซักซ้อมหนีไฟ ทางหนีไฟต้องมีอย่างน้อย 2 ทาง มีป้ายหนีไฟที่ชัดเจน และระบบระบายควัน หากสถานประกอบการอยู่ใกล้ชุมชน ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

...

ในแง่ของโซนนิ่ง “รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา” หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมนักผังเมืองไทย มองว่า สถานบันเทิงต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ในที่มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับอยู่แล้ว แต่ต้องบริหารจัดการให้ดีไม่ให้ส่งเสียงดังรบกวนชุมชน และพื้นที่ตั้งของสถานบันเทิงต้องสามารถรองรับการเข้าถึงของรถดับเพลิงในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ หากเกิดเหตุอัคคีภัย

ขณะที่ "รศ.เอนก ศิริพานิชกร" ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แสดงความกังวลจะเกิดเหตุซ้ำอีก มองว่าไม่ใช่การถอดบทเรียนแล้ว แต่มีบทเรียนตั้งแต่ไฟไหม้ซานติก้าผับ เป็นที่มาของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 จนมาถึงเหตุไฟไหม้ผับชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนจะต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดในการป้องกัน เพราะสถานบริการในพื้นที่กทม.มีความเสี่ยงไม่ต่างกับพื้นที่อื่น จะต้องทำตามกฎกระทรวง โดยแต่ละแห่งต้องมีประตูทางออก ให้สอดคล้องกับจำนวนคนที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการ คิดว่าผู้ว่าฯ กทม.ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบให้สถานบริการทุกแห่งปฏิบัติตามกฎกระทรวง โดยเฉพาะวัสดุตกแต่งภายในอาคารต้องไม่ลุกลามไฟได้ง่าย และก่อให้เกิดควันจำนวนมาก สามารถใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบไม่ให้ลามไฟได้

ไฟไหม้ซานติก้าผับ ปี 2552
ไฟไหม้ซานติก้าผับ ปี 2552

“ไม้เทียม แผ่นซับเสียง พรม หญ้าเทียม แผ่นโลหะคอมโพสิต และวัสดุตกแต่งประเภทผ้า สิ่งทอ หนังเทียม อาจไม่เหมาะสมนํามาใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายในอาคาร หากเป็นผ้าธรรมดาๆ เมื่อมีเชื้อไฟปุ๊บจะลามไฟทันที จะไหม้จากล่างขึ้นบน และจากคลิปภายในร้านเมาท์เท่น บี มีการตกแต่งค่อนข้างหรูหรา มีบางส่วนบุด้วยโฟม เมื่อเจอไฟทำให้เกิดควันดำ เป็นต้นเหตุทำให้คนเสียชีวิตได้เมื่อสูดเข้าไป หากวัสดุมีการเคลือบไม่ให้ลามไฟ ก็จะหยุดลาม ซึ่งสถาบันฯ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้คิดค้นและทดสอบกับผ้าม่านหลายยี่ห้อ พบว่าไม่ลามไฟ”

นอกจากนี้ควรตรวจสอบโรงภาพยนตร์ต้องมีทางออกไม่น้อยกว่า 4 แห่งสำหรับคน 500 คน โดยเฉพาะทางหนีไฟต้องไม่มีสิ่งของวางเกะกะ และควรติดตั้งอุปกรณ์ในการป้องกันให้เหมาะสมกับพื้นที่และจำนวนคน อย่างการใช้วัสดุไม้ ไม่สามารถทนไฟได้ แต่หากออกแบบโครงสร้างไม้ตามหลักวิศวกรรม และใช้ไม้เนื้อแข็ง จะสามารถทนความร้อนได้มากขึ้น ทำให้ไฟไม่ก่อตัวเร็ว จนกลายเป็นขี้เถ้า

...

หรือการใช้คานเหล็ก หรือผนังยิปซั่มจะทนไฟได้ หากต้องการใช้เก็บเสียงอาจทำให้ผนังหนาขึ้น โดยมีผนังยิปซั่มประกบหน้าหลังโฟมที่อยู่ข้าง ทำให้อัตราทนไฟนานขึ้น ไม่ใช่การรักษาโครงสร้างอาคารไม่ให้พัง แต่เพื่อให้คนมีเวลาหนีได้มากขึ้น และทางหนีไฟต้องมีทิศทางที่แน่นอน มีลูกศรชี้บริเวณพื้น เพราะคนต้องหมอบกับพื้นไม่ให้สำลักควัน จะต้องมีการฝึกซ้อมในการหนีไฟให้เกิดความเคยชิน

“สถานประกอบการที่ขออนุญาตอย่างถูกต้องใน กทม. ไม่ค่อยน่ากังวลเท่ากับพื้นที่ชานเมือง เพราะอาจดัดแปลงจากร้านอาหารเป็นผับ ทำเป็นอาคารปิดให้บริการคนจำนวนมาก ซึ่งอันตรายมาก ต้องดูว่าพื้นที่ต่อ 1 ตารางเมตร จะต้องมีคนเท่าไร ไม่ใช่ปล่อยให้คนอัดเข้าไป หรือสนามกีฬาหลายแห่ง อาจต้องปรับปรุงประตูทางออก หากเกิดไฟไหม้ อัฒจันทร์ยุบ เพื่อให้สามารถอพยพคนได้อย่างรวดเร็ว”

ข้อเสนอส่วนตัวอยากให้ภาคเอกชนและกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มาหารือในเรื่องการขออนุญาตเปิดสถานประกอบการ หากจำเป็นต้องทำสถานบริการอาจมีการยืดหยุ่นเป็นกรณีๆ ในการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม และต้องทำให้ได้ตามกฎกระทรวง เพื่อป้องกันการลักลอบเปิดสถานประกอบการแบบมั่วๆ จนไม่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะอาคารสร้างใหม่ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตคนภายใน 4 นาที หรืออยู่ห่างประมาณ 150-200 เมตร ใกล้กับบันไดหนีไฟ รวมถึงการบังคับให้มีที่จอดรถฉุกเฉิน และมีลิฟต์ขนาดใหญ่ในการช่วยเหลือคน แม้จะตกเป็นภาระของผู้ประกอบการทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คุ้มค่าเพราะหากเกิดเหตุขึ้น อาจไม่สามารถรับผิดชอบในการเยียวยาได้อย่างทั่วถึง.

...