- "กราดยิงอุบล" แก๊งโจ๋ดวลปืนหน้าผับกลางเมืองอุดรธานี อาจเกี่ยวข้องกับแหล่งปืนเถื่อนขายเกลื่อนในตลาดมืด อาวุธสงครามเปลี่ยนมาหลายมือตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ราคาตั้งแต่สี่หมื่นบาท คนซื้อเป็นวัยรุ่นเสี่ยงก่อเหตุอาชญากรรม
- ช่างไทยหัวใสดัดแปลง “ปืนแบลงค์กัน” เปลี่ยนลำกล้องราคาแค่หลักพัน ตบตาเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้ตามไม่ทัน พบทำเป็นขบวนการรับทำตามออเดอร์ พร้อมซ่อมให้หากมีปัญหา
- ไทยคุมเข้มปืนมีใบอนุญาต หวังปิดช่องก่อเหตุร้าย แต่ยังมีหลายคนนำไปใช้ผิดทาง เสนอทางแก้ไขให้เพิ่มบทลงโทษปราบปรามเป็นระบบถึงต้นตอผู้ผลิตและจำหน่ายกระสุน
เหตุกราดยิงสนั่นเมืองของกลุ่มวัยรุ่นบริเวณลานจอดรถสถานบันเทิงชื่อดังในเมืองอุบลราชธานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ศพ บาดเจ็บ 6 คน เมื่อตรวจสอบจุดเกิดเหตุพบปลอกกระสุนกว่าร้อยนัด โดยเฉพาะอาวุธสงครามที่ผู้ก่อเหตุระดมยิงใส่กัน สร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ จนเกิดคำถามในโลกโซเชียลถึงการซื้อขายอาวุธปืนในตลาดมืด ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุนำมาใช้ในเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้
หลังเกิดเหตุตำรวจลงพื้นที่เก็บหลักฐานพบปลอกกระสุนทั้งปืนขนาด 11 มม. ปืนขนาด 9 มม. ปืนลูกซอง และอาวุธสงครามประเภทอาก้า โดยดึกวันเกิดเหตุแก๊งวัยรุ่น 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นการ์ดในร้านอาหารกึ่งผับสองร้านละแวกใกล้กัน นัดมาเคลียร์ความขัดแย้ง ก่อนตกลงกันไม่ได้ เลยดวลปืนสนั่นเมือง ทำให้มีรถในที่เกิดเหตุเสียหายจำนวนมาก
ในการแถลงข่าวของตำรวจในท้องที่อุบลราชธานี ย้ำว่าเหตุการณ์นี้อุกอาจท้าทายอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการนำอาวุธสงครามยิงถล่มใส่กัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่หวั่นวิตก เพราะหลังจากได้รับแจ้งเหตุมีเจ้าหน้าที่เข้าไปภายใน 5 นาที แต่ด้วยอาวุธหนักทำให้ตำรวจไม่สามารถระงับเหตุได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ตามล่าผู้ร่วมแก๊งซึ่งกำลังหลบหนีมาดำเนินคดีอย่างเร่งด่วน
...

“มนตรี ตันใจซื่อ” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ขณะนี้อาวุธปืนเถื่อนในตลาดมืดมีขายมากในโลกออนไลน์ ตั้งแต่ 3–4 ปีก่อน โดยกลุ่มคนซื้อเป็นวัยรุ่นและพ่อค้าที่นำปืนไปขายต่อ ปืนส่วนใหญ่วนเปลี่ยนมืออยู่ในตลาดมืดมานาน โดยเฉพาะอาวุธสงครามที่เจ้าของเก่าเสียชีวิต หรือนำมาขายต่อโดยลบเลขทะเบียนบนปืนออก ซึ่งราคาที่นำมาขายมีตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป
ตอนนี้ปืนในตลาดมืดมีการดัดแปลงนำปืนแบลงค์กัน ที่ใช้ในการถ่ายหนังและให้สัญญาณแข่งกีฬามาดัดแปลงด้วยฝีมือช่างไทย ปรับเปลี่ยนลำกล้องจากเดิมที่ยิงแล้วมีแต่เสียงไม่มีลูกกระสุน ให้เป็นลำกล้องใช้ได้กับกระสุนขนาด .38 ซึ่งได้รับความนิยมเพราะมีราคาถูก กระบอกละหมื่นกว่าบาท ช่างบางรายรับทำตามความต้องการของลูกค้า
ส่วนปืนกล็อกและลูกโม่ ยังได้รับความนิยมในตลาดมืด มีการซื้อขายแพร่หลาย เนื่องจากพกพาสะดวกหาซื้อลูกกระสุนได้ง่ายตามอินเทอร์เน็ต แต่ปืนประเภทนี้จะเป็นปืนเก่ามีการเปลี่ยนมือมาหลายครั้ง บางกระบอกชำรุดแต่ด้วยความสามารถของช่างไทยสามารถซ่อมนำมาใช้งานได้ในราคาไม่แพง ส่วนใหญ่ราคากระบอกละ 8,000–9,000 บาท
“ด้วยวัสดุของปืนที่นำมาดัดแปลงมีความคงทน เมื่อช่างนำมาเปลี่ยนใช้กับกระสุนจริงทำให้ใช้ได้นานกว่าเดิม โดยเฉพาะปืนแบลงค์กันที่ถ้าใช้งานบ่อยๆ จะยิงได้มากกว่า 10 ครั้ง กว่าลำกล้องจะชำรุด และหาซื้อกระบอกใหม่ได้ในตลาดมืด”
สำหรับอาวุธสงครามที่นำมาก่อเหตุกราดยิงที่อุบลราชธานี คาดว่าเป็นอาวุธสงครามเก่าที่มีการซื้อขายกันตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพราะยุคนั้นอาวุธสงครามมีการลักลอบนำมาขายในไทยจำนวนมาก แต่ปัจจุบันอาวุธสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของชนกลุ่มน้อยที่มีความขัดแย้ง จึงทำให้ไทยกลายเป็นทางผ่านลักลอบส่งอาวุธสงครามไปประเทศเพื่อนบ้าน

ปืนมีใบอนุญาตใช้ในทางผิด ต้องเข้มงวดควบคุม
ส่วนปืนมีใบอนุญาตที่นำไปก่อเหตุอาชญากรรม ในมุมมองของ “มนตรี” วิเคราะห์ว่า การนำปืนไปใช้ในทางผิดค่อนข้างมีน้อย แต่ความรุนแรงมักเกิดจากเหตุผลส่วนตัว แต่ปัจจุบันการขอใบอนุญาตมีมาตรฐานควบคุมอย่างละเอียดมากขึ้น ทั้งอายุและวุฒิภาวะผู้ครอบครอง เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปก่อเหตุ และเพิ่มมาตรการตรวจสอบในการเรียกตรวจเช็กปืนจากผู้ลงทะเบียนว่าปืนยังอยู่กับตนหรือไม่ เมื่อผ่านไปแล้วหลายเดือน
...
แต่ถึงจะมีการควบคุมเข้มงวด ก็ยังมีช่องโหว่ในการนำปืนสวัสดิการไปขายต่อเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ด้านธุรกิจ กรณีนี้จะมีการทุจริตร่วมกันของนายทะเบียน ซึ่งตอนนี้หน่วยงานเกี่ยวข้องได้พยายามอุดช่องโหว่นี้ในการทำงานให้เข้มงวดกว่าเดิม เพื่อไม่ให้ผู้ทุจริตนำไปแสวงหาผลประโยชน์
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาอาวุธปืนที่นำมาก่อเหตุอาชญากรรม ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดและรุนแรงกว่าเดิม เพราะตอนนี้โทษของผู้กระทำผิดพกปืนเถื่อนมีโทษจำคุก 10 ปี ถ้าเป็นอาวุธสงครามมีโทษจำคุก 20 ปี ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายยังไม่จริงจัง ทำให้ยังมีปืนขายในตลาดมืดจำนวนมาก ขณะเดียวกันต้องมีแนวทางควบคุมลูกกระสุนและช่างที่ดัดแปลงปืน ไม่ให้คนร้ายนำมาก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรงอย่างหลายกรณีที่ผ่านมา
การควบคุมอาวุธปืนเพื่อไม่ให้นำไปก่อเหตุร้าย ต้องมีการกวาดล้างตลาดมืดทั้งผู้ผลิตและนำมาขาย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดอาชญากรรมร้ายแรงของไทยได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น
ผู้เขียน : ปักหมุด