อีกหนึ่งโจทย์ที่คนกรุงฝากไปถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะทำอย่างไร? ให้ทางเดินเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จริงๆ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง และเปิดทางให้หาบเร่แผงลอยยังคงมีอยู่ ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีได้หรือไม่
กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย เคยถูกยกให้เป็นเมืองที่มีอาหารริมทาง หรือสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก 4 ปีซ้อนมาก่อน และนักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ กลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ และยังเป็นแหล่งอาหารราคาถูกของคนหลายๆ อาชีพ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ ยิ่งในยุคโควิด เศรษฐกิจย่ำแย่ น้ำมันแพง สินค้าพาเหรดกันขึ้นราคา
กลายเป็นว่าการแก้ปัญหาความไม่เป็นระเบียบบนทางเท้า อาจไม่สามารถหักด้ามพร้าด้วยเข่า จนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้เกี่ยวข้องกับหาบเร่แผงลอยทั้งคนขายและคนซื้อ แต่ก็ไม่ควรละเมิดสิทธิ์คนเดินเท้า ที่ท้ายสุดจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างกัน และแก้ปัญหาให้ตรงจุดในการอยู่ร่วมกันให้ได้ เป็นการวัดฝีมือผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะจริงจังกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

ข้อมูล “Rocket Media Lab” ได้อ้างอิงจำนวนสถานประกอบการอาหารที่ได้รับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพฯ ของสำนักอนามัย กทม. ในปี 2563 เทียบกับข้อมูลในปี 2557 พบว่า ร้านอาหารมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 14.39% จาก 12,512 ร้าน ในปี 2557 เป็น 14,313 ร้าน ในปี 2563 เช่นเดียวกันกับซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ตที่เพิ่มขึ้น และตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่แผงลอยจากที่มีสูงถึง 7,085 แผง ในปี 2557 ลดลงเหลือเพียง 472 แผง ในปี 2563 หรือคิดเป็น 93.34%
...
ในปี 2561 “อัศวิน ขวัญเมือง” เคยระบุกรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผัน 1,400 แห่ง ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันประมาณ 50,000-60,000 ราย แต่หากนับรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ไม่อยู่ในจุดผ่อนผัน ซึ่งมีประมาณ 120,000 ราย รวมแล้วในกรุงเทพฯ น่าจะมีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณ 170,000 ราย
การหายไปของหาบเร่แผงลอย เกิดขึ้นจากนโยบาย “คืนทางเท้าให้ประชาชน” ของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตั้งแต่ปี 2557 ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ในปี 2559 ในยุคของอัศวิน ขวัญเมือง

ในแง่การเข้าถึงแหล่งอาหารของผู้มีรายได้น้อย จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กร WEIGO พบว่า พนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของหาบเร่แผงลอย และผู้ซื้อ 50% มีมูลค่าการซื้อแต่ละครั้งมากกว่า 100 บาท ซึ่งสัดส่วนการซื้อหาบเร่แผงลอยนั้น 50.33% คือผู้ที่สัญจรไปมา และ 47.87% เป็นประชาชนในพื้นที่ที่ตั้งหาบเร่แผงลอย หากร้านค้าหาบเร่แผงลอยหายไป มีการคำนวณว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้น และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 357 บาท
จากสถานการณ์โควิดทำให้กรุงเทพฯ ผ่อนปรนนโยบายหาบเร่แผงลอยอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ค้า ให้ทำได้คราวละ 2 ปี โดยให้สำนักงานเขตทบทวนความเหมาะสม เสนอผ่านคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ระดับเขต เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพฯ พิจารณา รวมไปถึงการพิจารณาพื้นที่ทำการค้าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเยาวราชและถนนข้าวสารเป็นข้อยกเว้นให้ค้าขายบนทางเท้าและริมถนนได้ และเพิ่มพื้นที่อีกบริเวณถนนไกรสีห์ ถนนตานี และถนนรามบุตรี ซึ่งทั้งหมดอยู่บริเวณใกล้เคียงกับถนนข้าวสาร

“เรวัตร ชอบธรรม” ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้ต่อสู้ในเรื่องนี้มายาวนานเกือบ 8 ปี ด้วยความหวังให้มีหาบเร่แผงลอยอย่างในอดีต แต่ไม่เคยเป็นจริง ทั้งที่ กทม.เคยประกาศจะให้พื้นที่ในย่านจตุจักร ซอยอารีย์ สุขุมวิทซอย 18 และบางคอแหลม กลับมีการอ้างว่าขึ้นอยู่กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และเมื่อไปตามเรื่องพบว่าไม่มีปัญหา และขอให้ กทม.ส่งเรื่องมา แต่แล้วก็เงียบหายไป
...
ต่อมาในปี 2563 ได้ยื่นหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ขอพื้นที่หาบเร่แผงลอยเพียง 28 จุด ได้เพียงพื้นที่ตลาดอ่อนนุช ปากซอยอ่อนนุช 70 เท่านั้น ในปี 2564 และได้บริหารจัดการกันเอง มีการกางเต็นท์ให้สวยงาม มีบ่อดักไขมันและที่เก็บขยะ โดยพื้นที่อื่นๆ ยังรอคอยด้วยความหวัง จากเดิมมีหาบเร่แผงลอยทั้งสิ้น 683 จุด ถูกยกเลิกไปเมื่อปลายปี 2562 เหลือเพียง 171 จุด เพราะเคยขอให้ชะลอการยกเลิกไปก่อน จนมีการไล่รื้ออีกแถวบางคอแหลม ในช่วงก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งย่านนั้นมีร้านอาหารที่อร่อยมาก

“เคยดีใจที่พี่น้องหาบเร่แผงลอย พอลืมตาอ้าปากกันได้ในช่วงโควิด แต่เมื่อถูกยกเลิกโดยนโยบายของผู้บริหาร กทม. ไม่คำนึงถึงประชาชนว่าจะไปอยู่ไหน ไม่จัดพื้นที่สำรองให้ ทำให้ผู้คนเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หลังสูญสิ้นพื้นที่ทำกิน บางคนสูญเสียบ้านจนล้มละลาย และหลายผลพวงตามมา โดยเฉพาะสินค้าผลผลิตการเกษตรที่มาสู่ตลาด ไม่สามารถขายได้ เพราะไม่มีที่ขาย จากคนที่เคยขายของได้ในจุดต่างๆ สมัยจำลอง ศรีเมือง ถูกยกเลิกไปหมด ทุกคนโดนกันหมดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทำให้เศรษฐกิจเสียหายมาก”
...
ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของบรรดาหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด ได้เคยพูดทั้งในที่ประชุม ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ดูเหมือนจะเข้าใจ แต่ไม่แก้ไขปัญหาให้ ทั้งๆ ที่แก้ได้ง่าย ควรจับหาบเร่แผงลอยมาอาบน้ำแต่งตัว อาจไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากในการปรับปรุงให้ดูสวยงามดูดี และออกกฎระเบียบเพื่อให้คนมีพื้นที่หากิน ซึ่งทาง กทม.บอกว่ามีคนเดือดร้อน 2 หมื่นกว่าคน และได้จัดพื้นที่ผ่อนผัน รวมถึงจุดพิเศษให้ขาย
แต่ความจริงแล้วมากกว่า 2 แสนคนที่เดือดร้อน อยากให้มีการฟื้นฟูอาชีพของหาบเร่แผงลอย ก่อนจัดระเบียบ และขอใช้พื้นที่จุดผ่อนผันให้ผู้ค้าเดิมเข้ามาขาย มีการใช้ระเบียบเหมือนปี 2548 เพื่อให้ชีวิตทุกคนเดินหน้า แต่กลายเป็นว่าทุกคนรอความตาย เพราะไม่มีรายได้ ยิ่งอยู่ในเมืองกรุง มีค่าใช้จ่ายทุกอย่าง อยากฝากความหวังไปยังผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ที่ผ่านมาไปพูดคุยกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนจะให้หาบเร่แผงลอยกลับมาขายใหม่ โดยออกกฎระเบียบ และขึ้นทะเบียนผู้ค้า ส่วนอีกคนจะให้ขายทุกวัน พร้อมการบริหารจัดการ และต้องมีน้ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งได้เสนอให้ดูแลจัดการกันเอง หากไม่ออกกฎระเบียบ
...
นอกจากหาบเร่แผงลอยบนฟุตปาท ยังมีหาบเร่แผงลอยในตลาดชุมชน ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนกรุงเทพฯ ในราคาประหยัด หรือตลาดใกล้ออฟฟิศ เป็นที่พึ่งของพนักงานบริษัท และสตรีทฟู้ด ในการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ไม่ควรปล่อยให้เลอะเทอะ อยากให้สะอาดทั้งหมดในสังคมเมือง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะดีมาก
“เมื่อ กทม.ให้การสนับสนุนหาบเร่แผงลอย จะสามารถเก็บภาษีรายได้ท้องถิ่นได้ ขึ้นอยู่ว่าพร้อมหรือไม่ หรือปล่อยให้เละๆ ไป แล้วไปเก็บเงินส่วนต่างอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องแทน แลกกับพื้นที่ขายของอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

แม้ทางเดินเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นในการใช้ประโยชน์ แต่ต้องมีความเท่าเทียมกัน และไม่ก่อความเหลื่อมล้ำ เพราะมีคนตัวเล็กๆ จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแรงงานระดับสูงได้ ควรส่งเสริมให้มีอาชีพ หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมมาขายของริมถนน เพราะแต่ละคนต้นทุนไม่เท่ากัน
หากคนทำมาหากินได้มีอาชีพให้สามารถดูแลตนเองได้ ก็ควรส่งเสริมภายใต้กฎระเบียบ หากตั้งตัวได้คงไม่มีใครอยากอยู่ริมถนน แต่ด้วยเหตุจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่ใช่รอขอให้หน่วยงานรัฐมาแจกของ ต้องมีการพัฒนาคุณชีวิตให้มีอาชีพ มีรายได้ จากการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์

ปัญหาการแก้ไขหาบเร่แผงลอย ที่มีการอ้างว่าพื้นที่ของฟุตปาทไม่ได้กว้างเท่ากันทุกจุด แต่ทำไมย่านเยาวราชมีพื้นที่แคบ ได้รับการยกเว้น หากกรณีอยู่ในชุมชนก็มีความต้องการจะซื้อจะขายเช่นเดียวกัน เพราะคนในชุมชนไม่อยากเดินทางไกล เคยเสนอให้ใช้พื้นที่ตลาดในชุมชนจัดตั้งทีมบริหารจัดการ มีการจัดระเบียบ กำหนดเวลาขายของหาบเร่แผงลอยก็น่าจะดำเนินการได้
ท้ายสุดสิ่งที่เสนอและทำมากว่า 8 ปี ก็รู้สึกกังวล เมื่อผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วจะไม่ดำเนินการอย่างที่เคยรับปากจะจัดให้หาบเร่แผงลอยอยู่ในพื้นที่ไข่แดง แต่ในที่สุดไม่ทำตามที่พูด โดยหวังว่าอย่างน้อยน่าจะทำให้คนในประเทศชาติมีรอยยิ้ม จากค่าครองชีพที่แพงขึ้น ผู้ค้าก็ขึ้นราคาไม่ได้ คนซื้อก็ลำบาก จนทุกคนจุกกันทั่วหน้าในขณะนี้ฝากถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ดำเนินการเรื่องหาบเร่แผงลอยด้วย เพื่อให้คนมีที่ทำกิน.