ผลการศึกษาในหลายประเทศ ยืนยันประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด แบบฉีดเข้าชั้นผิวหนัง โดยลดปริมาณวัคซีนให้น้อยลงกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่สร้างภูมิเท่ากัน เพื่อป้องกันโควิด น่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีโรคประจำตัว หรือมีอาการแพ้ยา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
รวมถึงแก้ปัญหาวัคซีนที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก ต้องหาวิธีให้ทุกคนได้เข้าถึงวัคซีน และคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของไทย ได้พิจารณาจากผลการศึกษาในไทยและต่างประเทศ เห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งแบบเต็มโดส ครึ่งโดส และเข้าชั้นผิวหนัง
การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังมีมานาน ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยขาดแคลนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ต้องลดปริมาณการใช้วัคซีนเหลือ 0.1 ซีซี เพื่อฉีดเข้าชั้นผิวหนังเป็นประเทศแรก จากปริมาณ 0.5 ซีซี หรือ 1.0 ซีซี ที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก จนถึงปัจจุบัน
กระทั่งวันที่ 1 ก.พ. 2565 ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ประกาศเปิดให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไฟเซอร์ ซึ่งเป็น mRNA เข็ม 3 และ 4 โดยสามารถเลือกได้ 3 รูปแบบตามความสมัครใจภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ในการจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มโดส ขนาด 30 ไมโครกรัม หรือแบบครึ่งโดส ขนาด 15 ไมโครกรัม หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ขนาด 10 ไมโครกรัม
...
หนึ่งในนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้พยายามผลักดันให้ไทยฉีดวัคซีนโควิดเข้าผิวหนัง เพื่อเลี่ยงผลกระทบและอาการไม่พึงประสงค์ จนประสบความสำเร็จ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ต้องดีใจกับคนไทยที่ได้ฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งการฉีดมีความสำคัญอยู่ที่การใช้วัคซีนในปริมาณน้อยและการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง จะทำให้มีประสิทธิภาพโดยระดับภูมิได้เท่ากันกับการฉีดเต็มปริมาณเข้ากล้ามเนื้อ และมีความปลอดภัยมากกว่า ลดทอนอาการหนักทำให้เสียชีวิต
“ผู้ป่วยหลายราย เมื่อฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ บางรายมีอาการหนัก บางรายมีอาการอักเสบในอวัยวะหลายแห่ง ไม่ว่าจะสมอง เส้นประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ และบางรายเสียชีวิต หรือผู้มีโรคเข้ารับการรักษาจนควบคุมโรคได้ แต่เมื่อรับวัคซีน ส่งผลให้โรคนั้นๆ กำเริบรุนแรงขึ้นมาใหม่ เช่น พาร์กินสัน จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้”
การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังใช้ปริมาณน้อยมาก ได้ภูมิเท่ากัน และปลอดภัยกว่า จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย เพราะใช้งบประมาณน้อยลง และขณะที่มีโอมิครอน คงต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำซากให้ได้ภูมิเร็วขึ้น และอาจต้องฉีดเด็กตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อในกลุ่มเด็ก
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ระบุ ในแง่ของประสิทธิภาพพอๆ กัน ระหว่างการฉีดเข้ากล้ามเนื้อและเข้าชั้นผิวหนัง แต่การฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะฉีดลึกลงกว่า 1 เซนติเมตรให้ถึงกล้ามเนื้อ มีผลข้างเคียง เช่น มีไข้ ส่วนการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง จะฉีดถึงชั้นผิวหนังแท้ มีผลข้างเคียงเกิดอาการคัน มีตุ่มแดง หนองเล็กน้อยไม่มีเชื้อ และจะหายเองประมาณ 2-3 วัน.
...