เรียกว่าเป็นที่จับตามองจากหลายภาคส่วนตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว กับโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เมกะโปรเจกต์ทิ้งทวนของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งใหม่ในปี 2022 โดยใช้งบประมาณถึง 980 ล้านบาท เพื่อปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีเดิมที่มีปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น ให้กลับมามีทัศนียภาพที่สวยงามพร้อมแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสีย และน้ำท่วมของกรุงเทพฯ อีกด้วย
แม้ว่าวัตถุประสงค์ของโครงการนี้มีไว้เพื่อพัฒนาย่านสาทร ซึ่งเป็นศูนย์รวมธุรกิจของกรุงเทพฯ ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้แวะเวียนมาสัมผัสความสวยงามของสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี โดยมีคลองชองเกชอนของประเทศเกาหลีใต้เป็นต้นแบบให้เกิดโครงการนี้ขึ้น แต่เสียงตอบรับทั้งจากฝั่งนักวิชาการรวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ กลับมีข้อโต้แย้งและถกเถียงมากมาย ซึ่งทีมข่าวไทยรัฐได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ ได้ความเห็นมาดังนี้
...
- ไม่เคยสำรวจความเห็นคนในพื้นที่ก่อนทำการก่อสร้างโครงการนี้
- งบประมาณที่ใช้สูงเกินไปหรือไม่
- ปกติการจราจรบนถนนสาทรค่อนข้างหนาแน่น ยิ่งมีการการสร้างโครงการที่อยู่กลางถนนก็ทำให้รถติดมากกว่าเดิม เพราะมีเลนที่ให้รถวิ่งได้น้อยลง
- ทำไมไม่ซ่อมถนนให้ดีก่อน เพราะถนนชำรุดทำให้ขับขี่อันตราย
- มลภาวะจากฝุ่นควันรถ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้งานสวนสาธารณะหรือไม่
- น้ำเสียในคลองช่องนนทรีจะมีวิธีการบำบัดอย่างไร
และวันนี้ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้มาอัปเดตรายงานการชี้แจงข้อโต้แย้งต่างๆ ของโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี โดยมี ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร, อาจารย์กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ที่ปรึกษาโครงการ พร้อมทั้งผู้อำนวยการสำนักการโยธา, ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง, ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง, ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ เข้าร่วมทำการชี้แจงในครั้งนี้
1. ที่มาของโครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 14 ปีก่อน ในปี 2007 สมัยที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มีแนวคิดอยากพัฒนาพื้นที่คลองสาทรและคลองช่องนนทรีให้เป็นพื้นที่สีเขียวในเขตสาทร โดยนำแนวคิดจากคลองชองเกชอนของเกาหลีใต้มาเป็นต้นแบบ แต่เนื่องจากติดเรื่องงบประมาณจึงไม่ได้สานต่อ จากนั้นก็ได้มีการศึกษาและทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่ในปี 2011, 2015, 2016 และ 2019 โดยเป็นการสุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่กว่า 700 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่พักอาศัย คนทำงาน ผู้ประกอบการ ในย่านสาทร โดยผลการตอบรับกว่า 90% เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการคลองช่องนนทรี ด้วยเหตุนี้ โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีจึงได้เริ่มก่อสร้างและเปิดตัวเฟสแรกในยุคของ พล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน
2. สำหรับคำถามเรื่องงบประมาณ 980 ล้านบาท ว่าสูงเกินไปหรือไม่นั้น ทาง กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ที่ปรึกษาโครงการนี้ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อเทียบงบประมาณกับพื้นที่ 70 ไร่ แล้วหารเฉลี่ยเป็น ตร.ม./คน ถือว่าเป็นงบประมาณที่ไม่สูงเลย และมีความคุ้มค่าเพราะเป็นทั้งพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมต่อกับการเดินทางของ BTS, BRT และยังบำบัดน้ำเสียและช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย
...
3. คำถามต่อมาที่คนใช้พื้นที่สาทรกังวลก็คือการสร้างสวนสาธารณะกลางถนนจะยิ่งกระทบกับการจราจรบนถนนสาทรที่รถติดอยู่แล้วให้หนักขึ้นกว่าเดิมไปอีกหรือไม่นั้น ทาง ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เผยว่า
“โครงการนี้ได้ถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อไม่ให้กระทบกับเลนจราจร และยังขยายเลนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้นประชาชนจึงมั่นใจได้ว่าไม่กระทบกับการเดินทางอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องถนนที่ชำรุดและไม่เรียบร้อย ทางสำนักการโยธาจะเป็นผู้ดูแลและจัดการเรื่องนี้ต่อไป”
4. จากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนหลายคนได้ให้ข้อสงสัยว่า การสร้างสวนสาธารณะกลางถนนซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นควันและมลภาวะจากควันรถจะกระทบกับสุขภาพของประชาชนผู้ใช้สวนสาธารณะหรือไม่ ทางอาจารย์กชกร ได้ให้ความเห็นว่า
...
“ถ้าเราคิดว่ามีควันรถแล้วเราจะไม่ทำอะไรก็เป็นความคิดที่ทำให้เราไม่ได้พัฒนาเมืองค่ะ ซึ่งปัญหาควันรถและ PM 2.5 เป็นปัญหาเมือง จึงคิดว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เพื่อช่วยลดปัญหานี้ และยังช่วยในการเชื่อมต่อกับ BRT ด้วย เราต้องมองในหลายมิติ ไม่ใช่ว่าคลองเน่าก็อย่าไปใช้ การถามคำถามแบบนี้มันไม่ได้ช่วยให้เราพัฒนา เพราะเมื่อคลองเน่าเราก็แก้สิ ส่วนเรื่องควันรถเราได้มีการเพิ่มต้นไม้จากต้นพิกุลที่มีอยู่เดิมและเพิ่มต้นไม้ที่ช่วยลดเรื่อง PM 2.5 เข้าไปด้วย เราจึงต้องมองในด้านสุขภาพเมืองรวม อย่างสวนลุมฯ ก็อยู่ท่ามกลางควันแล้วเราจะไม่ทำสวนลุมฯเหรอคะ คำถามนี้จึงค่อนข้างย้อนแย้งในตัวเองค่ะ”
5. ส่วนคำถามเรื่องการบริหารจัดการน้ำเสีย และการเป็นพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำท่วมของคลองช่องนนทรีที่ปรับปรุงใหม่ได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้โดย
- ปรับระบบระบายน้ำเสียให้แยกขาดจากคลอง ไม่ปะปนกันเหมือนที่ผ่านมา แยกระบบท่อรวบรวมน้ำเสียออกจากคลอง โดยการจัดการปรับปรุงท่อรวบรวมน้ำเสียระบบเดิมที่รั่วซึม ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาเป็นโครงข่าย โดยพัฒนาท่อระบายน้ำและบ่อดักน้ำเสียกว่า 60 บ่อ ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับคลองอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาทั้งระบบบนพื้นที่ 28.5 ตารางกิโลเมตร ในความดูแลของโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี
- ที่ผ่านมา น้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี จะถูกปล่อยทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาทุกวัน แต่โครงการนี้ได้เปลี่ยนแนวท่อให้น้ำสะอาดเหล่านั้น มาไหลเติมลงคลองช่องนนทรีตามแรงโน้มถ่วง (Gravity Flow) ไปถึงคลองสาทร เชื่อมต่อระบบเข้าไปยังสวนลุมพินี ซึ่งถือโอกาสการปรับปรุงในวาระครบรอบ 100 ปี ฟื้นฟูระบบไหลเวียนน้ำ ช่วยบำบัดน้ำแบบ Tertiary Treatment ส่งต่อไปให้คลองปลายตัน 2 คลองที่รอเชื่อมต่อกับสวนลุมฯ คือ คลองไผ่สิงโต ที่เชื่อมต่อไปยังสวนขนาดใหญ่อย่างสวนเบญจกิติ และคลองต้นสนที่ต่อกับคลองแสนแสบ
- มีการพัฒนาและฟื้นฟูคลองช่องนนทรีให้เป็นพื้นที่แก้มลิงที่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้มากกว่าเดิม โดยปรับปรุงระดับท้องคลองจากเดิมที่ลึก 1.20 เมตร เป็น 2.30 เมตร ซึ่งจะช่วยรองรับปริมาตรน้ำในวันที่ฝนตกรุนแรงได้มากถึง 144,450 ลบ.ม. ขณะที่ก่อนปรับปรุงรับได้เพียง 71,055 ลบ.ม.
...
จากการที่ทีมผู้ว่าฯ ได้ออกมาทำการชี้แจงในครั้งนี้ก็ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าที่มาที่ไปของโครงการนี้คืออะไร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชนในพื้นที่ด้วยการสุ่มตัวอย่างบางส่วนจึงอาจจะไม่ได้ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ทั้งหมดของเขตสาทร ที่ศูนย์ข้อมูลสถิติฯ ได้ทำการสำรวจจำนวนประชากรล่าสุดในปี 2561 ไว้ที่ 78,860 คน
นอกจากนี้ การตอบคำถามเพื่อชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนก็ช่วยให้หลายคนคลายข้อสงสัยได้มากขึ้น และหวังว่าการพัฒนาโครงการนี้จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตชาวกรุงในปี 2022 ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้