หากคุณเป็นติ่งซีรีส์เกาหลี น่าจะคุ้นเคยกับฉาก “คลองชองเกชอน” ที่มักถูกเลือกให้เป็นฉากสำคัญของซีนโรแมนติกระหว่างพระเอกนางเอกในหลายๆ เรื่องจนนับไม่ถ้วน และด้วยความสวยงามของภูมิทัศน์นี้จึงถูกนำมาเป็นต้นแบบของโครงการ “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” ที่กำลังจะเปิดตัวในปลายเดือนธันวาคมนี้

ทำความรู้จักคลองชองเกชอน

แลนด์มาร์กสำคัญด้านการท่องเที่ยวของกรุงโซล เกาหลีใต้
แลนด์มาร์กสำคัญด้านการท่องเที่ยวของกรุงโซล เกาหลีใต้


คลองชองเกชอน เป็นคลองที่มีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โชชอน จึงมีอายุมากกว่า 600 ปี ความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร ทอดยาวผ่านสะพาน 22 แห่ง ไหลผ่านกลางกรุงโซลก่อนที่จะลงสู่แม่น้ำฮันกัง ก่อนที่จะถูกปรับปรุงใหม่ คลองชองเกชอน เคยเต็มไปด้วยน้ำเสียไม่ต่างจากคลองแสนแสบบ้านเรา แถมเต็มไปด้วยขยะที่ถูกทิ้งลงคลองจากบ้านเรือนและชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง

...

พื้นที่สีเขียวและคลองสวยน้ำใส ของคลองชองเกชอน
พื้นที่สีเขียวและคลองสวยน้ำใส ของคลองชองเกชอน

ในปี 2003 คลองชองเกชอน ได้ถูกพัฒนาด้วยการปรับภูมิทัศน์ใหม่จนไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งเป็นผลงานของ อี มย็อง-บัก ผู้ว่าราชการกรุงโซล ที่เปลี่ยนคลองน้ำเสื่อมโทรมให้กลายเป็นคลองสวยน้ำใส และเป็นพื้นที่แบ่งปันสำหรับคนเมืองหลวง ด้วยผลงานสุดปังนี้จึงทำให้เขาชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา และเมื่อหมดวาระก็ได้ส่งต่อแผนการพัฒนาเมืองและคลองชองเกชอนให้ผู้ว่าฯ คนต่อมา คือ พัค วอนซุน ซึ่งหลังจากรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ สมัยที่สอง พัค วอนซุน ก็พัฒนาจากคลองสู่โครงการ “โซล เมืองแห่งการแบ่งปัน” โดยไม่ทิ้งวิสัยทัศน์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าใหม่ๆ สร้างพื้นที่สาธารณะให้เพิ่มขึ้น และสร้างความรู้สึกผูกพันกันเป็นชุมชนในหมู่คนเมืองใหญ่

การพัฒนาคลองชองเกชอน เกิดขึ้นจากแนวคิดการออกแบบพื้นที่สาธารณะในชุมชนเมือง ชูความเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ตลอดสองฝั่งคลอง ที่สำคัญคือมีการบำบัดน้ำเสียที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนานให้เป็นน้ำใสได้จริงและใสสะอาดมายาวนานถึงปัจจุบัน รวมทั้งยังได้สร้างทางเดินขนาดใหญ่รองรับประชากรทุกวัย มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อผู้พิการและผู้สูงอายุ อีกทั้งยังเอื้อต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะและวัฒนธรรม มีกิจกรรมสอดรับกับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมตลอดเส้นทาง จนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงโซลและเกาหลีใต้ ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้จักผ่านซอฟต์พาวเวอร์

แรงบันดาลใจสู่คลองช่องนนทรี

คลองช่องนนทรีที่ถูกปรับภูมิทัศน์ใหม่เพื่อเตรียมตัวเปิดในปลายเดือนธันวาคมนี้
คลองช่องนนทรีที่ถูกปรับภูมิทัศน์ใหม่เพื่อเตรียมตัวเปิดในปลายเดือนธันวาคมนี้


ด้วยแผนการพลิกฟื้น คลองชองเกชอน ที่เคยเสื่อมโทรมเต็มไปด้วยน้ำเสียให้กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของเกาหลีใต้ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้อยากมาแวะเวียน ได้จุดประกายไอเดียให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน นำแรงบันดาลใจนี้มาปั้นเป็นโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

นับว่าเป็นโครงการแรกที่พลิกฟื้นระบบนิเวศคลองในประเทศไทย ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีและพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมือง มีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัย เพื่อสร้างสุขภาพให้คนเมือง ตามนโยบาย Green Bangkok 2030 รวมทั้งยังมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 10 ตารางเมตร/คน ภายในปี 2573

...

ความคืบหน้าของโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี
ความคืบหน้าของโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี

คลองช่องนนทรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 เขตตั้งแต่ถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร เมื่อรวม 2 ฝั่ง จะมีระยะทางทั้งสิ้น 9 กิโลเมตร จึงถือเป็นสวนสาธารณะคลองที่ยาวที่สุดในประเทศ ซึ่งมีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดินแยกจากน้ำในคลอง โดยเปิดตัวโครงการในเดือนพฤศจิกายนปี 2563 และเริ่มงานก่อสร้างแล้ว จากช่วงแยกตัดถนนสุรวงศ์จนถึงแยกตัดถนนสาทรระยะทาง 800 เมตรก่อน คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการ 25 ธันวาคมนี้

และด้วยอานิสงส์ของการเปิดประเทศครั้งแรกหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 คาดว่าสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี จะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับคลองชองเกชอน ของเกาหลีใต้

เทียบเคียงความเหมือน...ที่ไม่เหมือน

...

แม้ว่าจะมีแรงบันดาลใจจากคลองชองเกชอน แต่คลองช่องนนทรี กลับไม่เหมือนอย่างที่ตั้งใจไว้ และได้รับเสียงคัดค้านมากมายทั้งจากนักวิชาการ ประชาชน ที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ก่อนที่จะเริ่มสร้างโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ไม่เคยมีการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่อาศัยและใช้พื้นที่บริเวณนั้นมาก่อน มีเพียงแค่การแถลงข่าวว่าจะสร้างโครงการนี้โดยไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ พร้อมด้วยภาพจำลองเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการเท่านั้น

นอกจากนี้ ทางฝั่งนักวิชาการอย่างผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ UddC ได้วิเคราะห์ถึงความเหมือนและแตกต่างของโครงการช่องนนทรีกับคลองชองเกชอนผ่านทางเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Daeng Niramon ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และในมุมของนักวิชาการไว้อย่างเจาะลึก

“เท่าที่ได้ศึกษา หากโครงการช่องนนทรีจะเคลมว่าเป็นชองเกชอนแห่งกรุงเทพ ก็จะเห็นว่ามีสิ่งเหมือนกันแค่ 2 ประการเท่านั้นคือ ทั้งคู่เป็นโครงการ LARGE-SCALE URBAN PROJECT ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ (CBD) ย่านกลางเมืองแบบนี้ ไม่ว่าทำโครงการใดๆ จะส่งผลกระทบสูงเนื่องจากมีความหนาแน่นประชากรสูงทั้งกลางวันกลางคืน เป็นที่กระจุกตัวของธุรกิจการค้า มีกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย สลับซับซ้อน รวมทั้งมีปริมาณการสัญจรที่หนาแน่น ฉะนั้น จะทำโครงการใดๆ ต้องระมัดระวัง วางแผนอย่างรอบคอบ และต้องร่วมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ”

คำถามมากมายที่เกิดขึ้นกับคลองช่องนนทรี ที่ช่างแตกต่างจากคลองชองเกชอนของเกาหลีใต้
คำถามมากมายที่เกิดขึ้นกับคลองช่องนนทรี ที่ช่างแตกต่างจากคลองชองเกชอนของเกาหลีใต้

...

ข้อแตกต่างที่สำคัญจน ผศ.ดร.นิรมล ตั้งคำถามคือ คลองช่องนนทรี ถูกออกแบบให้เป็นคลองระบายน้ำของโซนกรุงเทพใต้ เพื่อให้ในหน้าแล้ง น้ำในคลองช่องนนทรีจะถูกพร่องออกให้แห้งเพื่อเตรียมเป็น “แก้มลิง” รอรับน้ำในฤดูฝน แต่จากการนำเสนอแบบของโครงการเห็นว่าจะรักษาระดับน้ำให้ปริ่มตลิ่งเสมอเพื่อให้เกิดความสวยงาม รวมถึงมีการออกแบบทางเดินบางช่วงให้พาดกลางคลอง หรือยื่นไปริมคลอง ซึ่งจะต้องมีเสาเป็นตัวรับน้ำหนัก ดังนั้นตัวคลองช่องนนทรีจะยังใช้รับน้ำและระบายน้ำได้อยู่หรือไม่ หรือจะใช้ระบบใดทดแทนเพื่อไม่ทำให้น้ำท่วม และจะจัดการขยะที่มาติดตามเสารับน้ำหนักอย่างไร

ขณะที่ คลองชองเกชอน ได้มีการขุดลอกท้องคลองให้ลึกถึง 7 เมตร (สูงเท่ากับตึก 2 ชั้น) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับมือกับน้ำท่วมโดยยึดตัวเลขการคาดการณ์น้ำท่วม 200 ปี พร้อมกับออกแบบ PROMENADE SPACE ทางเดินริมคลองที่บูรณะใหม่ เพื่อแยกระดับรถยนต์ที่วิ่งบนถนนกับคนเดินริมคลอง ซึ่งช่วยป้องกันน้ำท่วมแล้วยังทำให้การเดินเล่นริมคลองทำได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกรบกวนด้วยเสียงรถยนต์หรือฝุ่นควันอีกด้วย

ยังมีข้อแตกต่างและคำถามอีกมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ที่เหมือนคลองชองเกชอนแค่เพียงบางส่วน แต่ในเชิงลึกทั้งด้านการออกแบบโครงสร้าง การใช้งานในระยะยาว ยังคงเป็นที่สงสัยว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

อ้างอิง